‘ศิริกัญญา’เย้ย วิสัยทัศน์8ด้าน ลอยไร้รูปธรรม

“ก้าวไกล” ยันใช้กลไกสภา ตรวจสอบรัฐสภา รอเก็บข้อมูลอีก 1 เดือนจะรู้หัวก้อยจัดกฐินแบบไหน “ศิริกัญญา”  เย้ยวิสัยทัศน์ 8 ด้านของ “เศรษฐา” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ จี้เร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน “ดิจิทัลวอลเล็ต” คลอด “สมศักดิ์” เร่งชงโละ 71 คำสั่ง คสช.

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. น.ส.ศิริกัญญา  ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ทีมที่ทำเรื่องนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ เพื่อตัดสินใจว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปกันแน่ คงใช้เวลาที่เหลือกว่า 1 เดือนตกผลึกว่าต้องไปในทางไหน แต่จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 หรือมาตรา 152 แน่นอน 

เมื่อถามว่า ข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่พรรคก้าวไกลมีเพียงพอที่จะอภิปรายหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตอนนี้เราเก็บข้อมูลไปค่อนข้างมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น  เราคาดหวังว่ารัฐบาลควรต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นขึ้นแล้ว ณ วันนี้ ไม่ใช่รอแต่ดิจิทัลวอลเล็ตจะมา ซึ่งนอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจแล้ว เรื่องการพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่เราต้องพิจารณาว่าจะนำไปอภิปรายในครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ามีความเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานในการปฏิบัติโดยที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นผู้ต้องขังแบบใด รวมถึงยังมีนโยบายอื่นที่เราคิดว่าน่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน ส.ป.ก.

น.ส.ศิริกัญญายังกล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ผลักดันประเทศไทยเป็น 8 ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ว่าเราคาดหวังกันมาก แต่จากที่ได้ฟังแถลงก็ไม่มีอะไรใหม่ หลายคนอาจผิดหวังว่าจะได้ยินอะไรใหม่ หรือมีรายละเอียดของโครงการครบถ้วน ถ้าดูทั้ง 8 เรื่อง ก็ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่เคยฟังมาก่อนจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่สำคัญคือไม่เห็นเป็นรูปธรรมทั้ง 8 ด้านว่าจะทำอย่างไร มีแต่จะทำอะไร ฉะนั้นถือว่าเป็นแผนที่ค่อนข้างลอย เป็นสิ่งที่อยากทำมากกว่าแผนงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งหลายคนอาจไม่ตื่นเต้นเท่าที่ควรจากการฟังแถลง

เมื่อถามว่า มองท่าทีนายกฯ ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างไร น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นายกฯ ทราบดีว่าเศรษฐกิจมีปัญหา แต่ยังคิดวิธีการแก้ปัญหาไม่ออก ตอนนี้มีการโบ้ยให้ไปเป็นความผิดของผู้กำหนดนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่คิดว่าตอนนี้มาตรการทางการคลัง กระสุนยังไม่หมดซะทีเดียว ยังมีทางออกอยู่ หรืออีก 1-2 เดือน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ก็จะออกแล้ว เราคงต้องเตรียมการเพื่อให้งบประมาณผ่านไปได้เร็วขึ้น ดังนั้นจึงอยากเห็นท่าทีของนายกฯ และ รมว.การคลัง ว่าจะมีท่าทีอย่างไรที่จะมีโครงการแก้ขัดระหว่างรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งยังเป็นปมปัญหาที่ยังแก้ไม่ออกอยู่ เราไม่อยากรอให้ถึงวันที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมา เพราะตอนนั้นสำหรับเศรษฐกิจไทยก็คงสายเกินไปแล้ว ถึงอยากเห็นท่าทีที่กระตือรือร้น ที่จะใช้มาตรการทางการคลังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มากกว่านี้

วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (ครน.) กล่าวว่า สถานะร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี ขณะนี้แบ่งออกเป็น 1.อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 6 ฉบับ 2.อยู่ในการพิจารณาของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) 36 ฉบับ และ 3.อยู่ในการพิจารณาของหน่วยงาน 18 ฉบับ โดยที่ประชุม ครน.ยังได้ติดตามความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ที่ขณะนี้ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่

 “ที่ประชุมยังได้มีการพิจาณาแนวทางการยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขณะนี้ยังไม่ยกเลิก 167 ฉบับ โดยมีแนวทางยกเลิกได้ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกโดยการตรามาตรา พ.ร.บ.กลางยกเลิก 71 ฉบับ 2.ยกเลิกโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบัน 37 ฉบับ 3.ยกเลิกโดยการตรา พ.ร.ฎ. 2 ฉบับ 4.ยกเลิกโดยการออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ และ 5.ยกเลิกโดยทำเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 55 ฉบับ ซึ่งในส่วนของ 71 ฉบับ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ให้เดินหน้าทำกฎหมายยกเลิกทั้ง 71 ฉบับ เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. หลังรอให้หน่วยงานต่างๆ ส่งความเห็นมาว่า คำสั่ง คสช.ใดที่เห็นควรให้มีต่อ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดส่งความเห็นกลับมา ก็แสดงว่าต้องการยกเลิกทั้งหมด โดยจากนี้ก็จะสรุปส่งเรื่องเข้าครม.ต่อไป เพื่อให้ทันปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้” นายสมศักดิ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง