วิโรจน์โวยุบก้าวไกลแค่นามธรรม

“วิโรจน์” ลั่นไม่กลัวถูกยุบพรรค บอกเป็นแค่นามธรรมเป็นภาระมีแค่งานธุรการเท่านั้น ฟาดชิ่ง 44 สส.หากโดนหางเลขก็ไม่ดิ้นรนไปชั้น 14 แน่ อ้างสังคมสงสัยอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญแทรกฝ่ายนิติบัญญัติเลยชงตั้ง กมธ.ศึกษาด่วน “ราเมศ” บอกเห็นต่าง เตือนระวังก้าวล่วงเสียเอง

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2567 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการยุบพรรคว่า ไม่ได้กลัวอะไรเลย เนื่องจากพรรคเป็นนามธรรม มีภาระแค่งานธุรการเท่านั้น หากโดนยุบก็เหนื่อยกับงานธุรการ  แต่พรรคก็ไปต่อ ประชาชนก็ไปต่อ ดังนั้นคำตอบคือไม่กลัว

นายวิโรจน์กล่าวว่า ส่วนเรื่องเพื่อน สส. 44 คนที่ร่วมกันลงชื่อแก้กฎหมายประมวลอาญามาตรา 112 นั้น เราก็ยืนยันว่าเราทำงานตามอำนาจหน้าที่ของนิติบัญญัติ เราคิดว่าเสียงของประชาชนมีความหมาย ประชาชนมีสิทธิ์เข้าชื่อเพื่อแก้ไข ผลิต และยกเลิกกฎหมาย ซึ่งเป็นการร่วมกิจกรรมกับประชาชน ที่ใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยตามอำนาจรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

 “การสู้กับคนหน้าด้าน ก็ลำบากใจ เพราะคนหน้าด้านจะทำอะไรก็ได้ หรือสู้กับคนบ้า คนบ้าก็พร้อมที่จะทำอะไรไม่สนใจเหตุไม่สนใจผล ผมคิดว่าเขาโง่มากที่คิดว่าการเดินทางของก้าวไกลขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เพราะคุณธนาธรที่ถูกตัดสิทธิ์ก็ใช้ชีวิตอยู่ชั้น 1 ชั้น 2 ในบ้านมาตลอด ไม่เคยต้องดิ้นรนขึ้นไปอยู่บนชั้น 14 เหมือนใครบางคน วิโรจน์ก็มีบ้านสองชั้น ก็คงไม่ต้องดิ้นรนไปอยู่ที่ชั้น 14” นายวิโรจน์กล่าว

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวในเรื่องนี้ว่า การยุบพรรคไม่ทำให้พรรคก้าวไกลหนักใจ เพราะพรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ผ่านการยุบพรรคมาแล้ว เชื่อว่าผู้สนับสนุนเข้าใจและพร้อมจะเดินทางต่อ การยุบพรรคจะทำให้คนเห็นอกเห็นใจถึงความไม่เป็นธรรม ความไม่ถูกต้องที่ดำรงอยู่ในประเทศ

เมื่อถามว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ นายธนาธรหัวเราะพร้อมกล่าวว่า แล้วแต่ประชาชน แต่คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลมุ่งมั่นทำงานทุกวันให้ดีที่สุด เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพวกเราตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนประเทศให้ประเทศไทยดีกว่านี้ ให้ประชาชนเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี

นายวิโรจน์ยังกล่าวถึงกรณีพรรค ก.ก.เสนอญัตติด่วนขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ  ว่านี่คือหน้าที่ของนิติบัญญัติในการศึกษาขอบเขตอำนาจขององค์กรต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่ 3 อำนาจหลัก ที่ปัจจุบันก้าวก่ายขอบเขตของนิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งสังคมสงสัยว่าอำนาจขององค์กรอิสระและตุลาการจะเกี่ยวโยงกันหรือไม่

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลต้องการเอาคืนศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ตามกรอบรัฐธรรมนูญ สส. จะนำคำถามในใจของประชาชน ใช้ตามหน้าที่ตั้ง กมธ. ส่วนจะเป็นตัวเร่งให้พรรคถูกยุบหรือไม่นั้น ไม่เคยคิดว่าประเด็นนี้เป็นตัวเร่งให้พรรคโดนยุบ ถ้าคิดว่าประชาชนจะยอมรับก็ทำเลย ไม่ส่งสัญญาณถึงใคร ถ้าหากมีจะส่งขอส่งถึงผู้มีอำนาจนอกระบบ พรรคทำงานจากความในใจของประชาชน ทำให้ประเทศสงบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยื่นยุบพรรคก้าวไกล ให้เป็นหน้าที่ของ กกต. เราพร้อมทุกวันตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่

ขณะที่ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวประเด็นนี้ว่า หลักสำคัญในระบบประชาธิปไตยได้แบ่งแยกอำนาจกันอย่างชัดเจน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ แต่ละฝ่ายมีหน้าที่ตามครรลอง ศาลรัฐธรรมนูญถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในทางตุลาการย่อมถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามอำนาจอำนาจหลัก นายวิโรจน์อย่าเข้าใจหลักการผิดไป เพราะจะทำให้การตั้งต้นวิพากษ์วิจารณ์ผิดไปจากหลักความถูกต้อง อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดและมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดี กรอบอำนาจหน้าที่มีกำหนดไว้ค่อนข้างชัดว่ามีคดีประเภทไหนบ้างที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับไว้พิจารณาวินิจฉัย และที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถหยิบยกข้อเท็จจริงใดขึ้นมาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเองได้โดยลำพัง หากไม่มีผู้ยื่นคำร้องเพื่อให้มีการตีความวินิจฉัย ซึ่งทุกคดีที่ผ่านมาถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ก็มีหลายคดีที่ศาลไม่รับไว้พิจารณา แน่นอนที่สุดว่าเมื่อมีการพิจารณาวินิจฉัยแล้วย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้คดี แต่ทั้งหมดคือกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ หลายคดีที่พรรคก้าวไกลชนะ และที่แพ้คดีก็มี ซึ่งการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญพอพรรคก้าวไกลชนะก็พึงพอใจ แต่เมื่อมีคดีที่แพ้ ก็จะมีกระบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ

นายราเมศกล่าวต่อว่า ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าได้ศึกษาคำวินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วจะเห็นว่าเหตุอันเป็นที่มาที่นำไปสู่คำวินิจฉัยเกิดขึ้นมาจากการกระทำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเองทั้งสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปก้าวก่ายแทรกแซง โดยสั่งให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ กระทำการสิ่งใดซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ และที่สำคัญเมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์กติกาไว้ หากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่นำพาต่อกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นความชอบธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญ เป็นองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่ให้หลักประกันความเชื่อมั่นแก่องค์กรทุกฝ่าย รวมถึงประชาชน ว่าเมื่อใดก็ตามที่บทกฎหมายและการทำหน้าที่ รวมถึงการใช้อำนาจขององค์กรใดๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ย่อมถูกหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งและหาข้อยุติในกระบวนการทางตุลาการได้ เพื่อความเป็นธรรม โดยการยื่นคำร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

 “เรื่องนี้ผมเห็นต่างจากพรรคก้าวไกล  และคิดได้อย่างเท่าทันว่า ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล ก็เริ่มต้นทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญก่อน และหากผลคดีไม่เป็นคุณต่อพรรคก็จะใช้การกระบวนการทั้งหมดเป็นเงื่อนไขว่าพรรคก้าวไกลเป็นผู้ถูกกระทำ นี่คือความเลวร้ายในหลักคิดทางการเมืองที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายในอนาคต และการเสนอญัตติด่วนขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ เชื่อว่ามีการตั้งธงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และที่กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ ระวังฝ่ายนิติบัญญัติจะไปก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง” นายราเมศระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง