หวังพึ่งกฤษฎีกา‘บิ๊กตู่’อยู่8ปี

ปม "บิ๊กตู่" อยู่ 8 ปี "วิษณุ" เปิดไพ่สู้ใบแรก หวังพึ่งกฤษฎีกาที่มี "มีชัย-อดีตประธาน กรธ." เป็นตัวหลักตีความมาชัดๆ ให้นับจากตอนไหนก่อนส่งศาล รธน. แต่ฝ่ายค้านไม่รอไล่บี้ "ประยุทธ์" ต้องลาออก-ยุบสภาก่อน ส.ค.ปีหน้า รัฐบาลผวาโอมิครอนประชุม ครม.นัดแรกปี 65 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในช่วงก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของปี 2564 ของหน่วยราชการ พลเอกประยุทธ์เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 08.45 น. โดยนายกรัฐมนตรีไม่มีกำหนดการและวาระงานอย่างเป็นทางการใดๆ​

โดยตั้งแต่ในช่วงเช้า หัวหน้าส่วนราชการ​ ข้าราชการ​ ข้าราชการ​การเมือง​ อาทิ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นต้น ทยอยกันเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบกระเช้าของขวัญและอวยพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่อย่างคึกคัก

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเข้าอวยพรดังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับคำอำนวยพร ซึ่งเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป พร้อมย้ำถึงหลักการสำคัญในการทำงานว่า ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราต้องฝ่าฟัน จะพ่ายแพ้ต่อปัญหาไม่ได้ ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการที่จะเดินหน้าแก้ไข และต้องทำงานในเชิงรุกด้วยความรวดเร็วให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของทำเนียบรัฐบาล นอกจากการขอความร่วมมือให้ส่วนราชการเวิร์กฟรอมโฮมต่อเนื่อง แม้จะเป็นหลังเทศกาลปีใหม่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังไม่ได้จำกัดการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในทำเนียบรัฐบาลหลังช่วงเทศกาลปีใหม่

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า​ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีหนังสือด่วนแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้ติดตาม ครม. ผู้เข้าร่วมประชุม ครม. และผู้ประสานงานประจำกระทรวง ระบุว่าในการประชุม ครม.ครั้งต่อไป วันที่ 4 ม.ค.65 จะเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เต็มรูปแบบ จึงขอให้ ครม.และผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนประชุม ณ​ ที่ตั้งส่วนราชการ หรือที่พัก และหากรัฐมนตรีหรือผู้เข้าร่วมประชุมคนใดประสงค์จะเปลี่ยนสถานที่ประชุม ครม.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์สามารถประสานฝ่ายเทคนิคได้ รวมถึงหากหน่วยงานใดมีความประสงค์จะเสนอเรื่องต่อที่ประชุม ครม.เป็นวาระจร (ใบชมพู) ให้ดำเนินการโดยประสาน สลค.ล่วงหน้า ประสานขอไฟล์เอกสาร แจ้งความประสงค์เสนอ และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับจัดส่งใบชมพูต่อที่ประชุมเป็นวาระจร ซึ่งหากเรื่องที่เสนอมาไม่ได้รับการพิจารณาเข้าเป็นวาระจร ขอให้ดำเนินการตามแนวทางในการส่งเรื่องไปเพื่อเสนอ ครม.ตามปกติ ส่วนกรณีหนังสือตอบความเห็นสามารถส่งได้ที่เจ้าหน้าที่รับเรื่องของ สลค. อาคารหลังใหม่ ทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ หนังสือดังกล่าวออกมาภายหลัง ศบค.ได้ออกมาตรการให้ข้าราชการเวิร์กฟรอมโฮม หลังจากการหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อลดการแพร่กระจายของโควิดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายจังหวัด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นระบุการเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 9 มิถุนายน 2562 และทำให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนถึงปี 2570 เพราะใช้กฎหมายย้อนหลังในทางเป็นโทษไม่ได้ว่า ไม่มีอะไรจะพูด เรื่องนี้มาจากสภา ต้องไปถามสภา เพราะเราไม่ได้ส่งไปให้สภาพิจารณา ถ้าจะส่งต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า เหตุผลที่สภาออกความเห็นเช่นนี้เป็นแนวคิดเดียวกับนายวิษณุใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ไม่ตอบ เป็นเรื่องของสภา ซึ่งสภาในที่นี้ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา แต่มาจากฝ่ายกฎหมาย อย่าไปโทษสภา เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ ส.ส. 500 คน หรือ ส.ว. เขามีสิทธิ์ที่จะทำการบ้านเสนอผู้บังคับบัญชา เขาเห็นแบบนั้นจะถูกหรือจะผิดก็ช่าง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ”

เมื่อถามว่า หากมีประเด็นออกมาเช่นนี้แล้วจะต้องหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรต้องทำ เรื่องนี้มีการตั้งข้อสงสัยมานานแล้ว หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาและหาคำตอบเพื่อแจ้งหน่วยงานตัวเอง ดังนั้นสภาซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกนายกฯ จึงมีสิทธิ์ออกความเห็น ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะทำในส่วนของตัวเอง รัฐบาลก็ทำในส่วนของรัฐบาล พรรคการเมืองก็ทำในส่วนของตัวเองเตรียมไว้ แต่หากจะให้เกิดการยอมรับหรือเชื่อถือในสาธารณชน จะต้องมาจากการวินิจฉัยของผู้มีอำนาจองค์กรเดียว คือศาลรัฐธรรมนูญ

"ในส่วนของรัฐบาล ต้องพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีน้ำหนักระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะส่งไปในจังหวะที่เหมาะสม แต่หากจะให้คนยอมรับและยุติก็ต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นคำตอบสุดท้าย และจะต้องมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากถามไปตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตอบ"

ถามย้ำว่า จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องให้เวลาที่จะวินิจฉัยออกมาแล้วสามารถใช้การได้ หากส่งไปในช่วงใกล้เดือนสิงหาคม 2565 ก็จะสงสัยกันอีก ทั้งนี้มันมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมอยู่ ส่วนการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นใครก็ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิ์ไม่รับเพราะเรื่องยังไม่เกิด ปัญหาคือศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำถามที่สมมติ เพราะมันยังไม่เกิด แต่ถ้าเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็จะสายเกินแก้ ฉะนั้นต้องมีจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่า นายกฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. เหตุใดฝ่ายกฎหมายสภาจะต้องมาออกความเห็น นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯ มาจาก ส.ส.เลือกเข้ามา และจะต้องเลือกในครั้งต่อไป จึงต้องเตรียมคิดเอาไว้ในส่วนนี้ ถึงบอกว่าโจทย์เรื่องนี้ถ้าคุยกันในสังคม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับใครคนนั้นก็อยากรู้ สื่อเองก็อยากรู้ อาจจะหานักวิชาการมาแนะนำก็ได้ แต่ทุกอย่างไม่ใช่ทางการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่รู้กันทางการเมืองว่า คนที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับปี 2560 ที่เป็นผู้ยกร่าง รธน.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งบัญญัติเรื่องการไม่ให้นายกฯ อยู่ในตำแหน่งเกินแปดปีดังกล่าว

ประเด็นเดียวกันนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า ขณะนี้นักกฎหมายตีความต่างกัน แต่ผู้ที่จะตีความได้คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ใครพูดก็ไม่เกิดประโยชน์ และต้องดูว่ามีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ ต้องอ้างเหตุไปยังศาลก่อนด้วย อย่างไรก็ตามจากการประมวลความเห็นของหลายฝ่าย พบว่าสามารถเริ่มนับได้ 3 แนวทาง คือ 1.นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเหมือนกัน 2.นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และ 3.นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเริ่มประกาศบังคับใช้

ขณะที่ฝ่ายค้าน นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่าเรื่องนี้หนีไม่พ้นต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเรียกร้องว่าถ้านายกฯ ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้เกิดการสืบทอดอำนาจจนเกินไป พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจทางการเมืองก่อนถึงเวลานั้น อาจจะยุบสภา ลาออก หรือวิธีใดๆ ก็สุดแท้แต่ ไม่ควรจะนำพาประเทศไปจนถึงวันที่จะมีใครยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะกลายเป็นประเด็นปัญหา กลายเป็นตราบาป ซึ่งขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ซึ่งนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล พยายามจะบอกมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ออกแบบมาเพื่อตน"

ปัญหาคือข้อเท็จจริงยังไม่เกิด แต่เราคาดคะเนล่วงหน้า เราเห็นแล้วจะเกิดแน่ แต่เราไม่สามารถจะยื่นตีความได้จนกว่าข้อเท็จจริงจะครบถ้วนสมบูรณ์ในทางกฎหมายในเดือน ส.ค.65 ในทางกฎหมายเป็นแบบนี้ก็จริง แต่ในทางการเมืองตัวนายกฯ ซึ่งตัวเองน่าจะทราบเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ดีกว่าใคร จะยกหูถามนายมีชัยก็ได้ เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ซึ่งถ้ารู้ว่าเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้สืบทอดอำนาจเกินกว่า 8 ปี ควรตัดสินใจเสียก่อนจะถึงวันนั้นเลย และจะเป็นทางลงให้นายกฯ ด้วย" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง