จี้ปราบจีนเทา ปมแคดเมียม ชง‘วาระชาติ’

“กมธ.อุตฯ” ถกขนย้ายกากแคดเมียม “อัครเดช” เสนอดับเบิลซีลใส่ตู้คอนเทนเนอร์ก่อนขนย้ายกันฟุ้งกระจาย จี้เร่งเคลื่อนย้ายฝังกลบก่อน 7  พ.ค. ยัน จนท.รัฐเอี่ยวแน่ เผย 4 ตัวละครเกี่ยวข้องเป็นทุนจีนเทา โอนคดีให้ดีเอสไอ

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 เมษายน เวลา 09.50 น. นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์  สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวก่อนการประชุมของคณะ กมธ. เรื่อง การขนกากแร่อุตสาหกรรมแคดเมียม ว่าการขนย้ายแคดเมียมควรจะมีตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุ เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายระหว่างขนย้ายของแคดเมียมได้อย่างไร เพื่อจะได้ป้องกันปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบ ได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วบ้าง โดยจะมีการเสนอให้ซีลสองรอบ และใส่ไปในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย แล้วค่อยขนย้ายไป จ.ตาก โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐก็ต้องนำงบประมาณไปดำเนินการก่อน ส่วนขั้นตอนการฟ้องร้องค่าใช้จ่ายต้องให้รัฐไปฟ้องร้องกับผู้ประกอบการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะหากจะรอให้ผู้ประกอบการพร้อม ตนคิดว่าไม่ทันและจะเป็นอันตรายต่อประชาชน

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ที่ทาง กมธ.ระบุว่ามีข้อมูลเชิงลึกในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ว่าได้ข้อมูลมาทางใด นายอัครเดชกล่าวว่า เราทราบเหตุการณ์นี้ เพราะมีคนมาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องของการย้ายกากแร่แคดเมียม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในที่ร้องมา ทาง กมธ.จึงได้มีการตรวจสอบประมาณเดือน ม.ค. เรายังไม่รู้ว่าเป็นกากแร่อะไร จนรับทราบเบื้องต้นว่าต้นทางอยู่ที่ จ.ตาก จนมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดย กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบ ซึ่งครั้งแรกเราพุ่งเป้าไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่เหมืองแร่สังกะสีเก่า แต่ได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จนการประชุมนัดที่ 4 เราถึงทราบและแถลงข่าวให้รัฐบาลไปดำเนินการ และให้ประชาชนเฝ้าระวัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลทุนจีนเทาเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า ในการข่าวทราบว่าผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นคนจีนเตรียมส่งออก และมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว มีความเชื่อมโยงกันหมดในตัวละคร ตั้งแต่ต้นทางที่ จ.สมุทรสาคร ก็เป็นคนจีน จะมีการขนย้ายไปที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเตรียมส่งออกก็เป็นคนจีน เจ้าของโรงงานที่ไปตรวจพบกากแร่แคดเมียมที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเป็นผู้ประกอบการก็เป็นคนจีน

 “พบว่าโรงงานทำผิดกฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ไปจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวละครที่เป็นคนจีนมีทั้งหมด 3 ตัวละคร ตัวละครต้นทางที่ จ.สมุทรสาครที่เป็นโรงหลอม ก็มีผู้ประกอบการคนจีนที่สวมสิทธิ์หลบเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.กำลังจะสอบว่าจริงๆ แล้วมีการกระทำความผิดตามที่ผู้ประกอบการโรงหลอมคนไทยร้องเรียนมาหรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 4 ตัวละครที่เป็นคนจีน ซึ่งเชื่อมโยงกันหมดเป็นเครือข่าย ผมจึงเรียกร้องให้นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติ ในการดำเนินการกับนักลงทุนจีนสีเทาทางด้านอุตสาหกรรมที่ละเมิดกฎหมาย”  ประธาน กมธ.การอุตสาหกรรมระบุ

เมื่อถามถึงผลตรวจปัสสาวะประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จะต้องสอบหรือไม่ว่าแคดเมียมได้มีการรั่วไหลออกไปแล้วหรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า ที่ จ.สมุทรสาคร ได้รับทราบจากจังหวัดว่ามีการตรวจพบคนในโรงงานมีค่าแคดเมียมเกิน ส่วนนอกโรงงานก็มีค่าแคดเมียมเกินเหมือนกัน ในที่ประชุมกมธ.วันนี้จะได้รับทราบจากจังหวัดสมุทรสาครอย่างเป็นทางการว่าค่าแคดเมียมเกินไปเท่าไหร่ และจะดำเนินอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องไปดูแล และผู้ประกอบการที่กระทำความผิดจะต้องรับผิดชอบด้วย และอีกส่วนที่สำคัญคือสารที่ตกค้าง ไม่ว่าในดิน อากาศ น้ำ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างไรให้ประชาชนมีความอุ่นใจ เพราะ จ.สมุทรสาคร เป็นแหล่งอุตสาหกรรม จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย

จากนั้น เวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) อุตสาหกรรม  สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอัครเดชเป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาเรื่องการขนกากแร่อุตสาหกรรมแคดเมียม โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่, นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก, นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

นายณัฐพลชี้แจงตอนหนึ่งว่า แผนการเคลื่อนย้ายกากตะกอนกลับที่เดิม โดยแนวทางการจัดเก็บ ณ สถานที่ที่ตรวจพบ ได้เก็บกากตะกอนทั้งหมดไว้ในอาคาร และมีการทำความสะอาดดูดฝุ่นจากในโรงงาน ส่วนที่อยู่ตามชายคาต้องใช้พลาสติกคลุมทับอีกครั้งให้มีความมิดชิดและไม่ถูกชะล้าง โดยเตรียมการขนย้ายใส่ในรถเปิดแต่ใส่ในถุงซ้อนปิดมิดชิด คลุมด้วยพลาสติกอีกครั้ง จะขนได้ประมาณ 30 ตันต่อคันรถ และใช้รถ 30 คัน คาดว่าจะเพียงพอ สำหรับวันที่ 18 เม.ย.นี้ จะสรุปความเห็นต่อคณะกรรมการ 6 กระทรวง หากมีจุดสุ่มเสี่ยงจะดำเนินการให้เหมาะสม และดำเนินการตรวจสอบอย่างเรียบร้อย ขณะที่การสืบหาสาเหตุที่กากตะกอนมาปรากฏที่กรุงเทพฯ ได้นั้น คาดว่าในกรุงเทพฯ เป็นจุดพักของ พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการอย่างเต็มที่ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกรรมาธิการฯ เสนอให้นำกากตะกอนที่อายัดไว้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไว้ก่อน เพราะประชาชนในพื้นที่กังวลเรื่องความปลอดภัย และไม่ควรรอการดำเนินการของภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่ทางกระทรวงควรของบประมาณดำเนินการจากนายกฯ มาก่อนได้ แล้วไปฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการแทน ซึ่งปลัดกระทรวงชี้แจงว่าเหตุที่ไม่ใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ เพราะจะมีความยุ่งยากเรื่องการขนย้ายเข้า-ออก ขอย้ำกากตะกอนไม่มีกัมมันตภาพรังสี หากไม่มีการฟุ้งกระจายก็สามารถควบคุมได้ แต่ให้เร่งทำถุงซ้อนสองชั้นเพื่อปกคลุมไม่ให้มีการฟุ้งกระจายไปก่อน ซึ่งมาตรการนี้เป็นไปตามมาตรฐานของสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม นายอัครเดชตั้งคำถามว่า ทำไมต้องขนย้ายในวันที่ 7 พ.ค. โดยไม่ใช่วันที่ 17 เม.ย. ตามที่ รมว.อุตสาหกรรมเคยแถลงไว้ โดยนายอดิทัต ชี้แจงว่า กระบวนการในการขนย้ายกากตะกอนกลับ ต้องมีการอนุญาตและเตรียมดำเนินการ ซึ่งต้องเผื่อระยะเวลาในการตรวจสอบและซ่อมแซมบ่อสำหรับฝังกลบใน จ.ตากให้เรียบร้อยก่อน และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ จะใช้เวลา 1 สัปดาห์ เผื่อขนย้ายกากตะกอนที่อยู่ใน จ.ตากแล้วลงบ่อ จากนั้นเป็นการขนย้ายกากตะกอนจากพื้นที่ต่างๆ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญและความพร้อมในการขนส่ง กระบวนการนี้เป็นร่างที่กระทรวง เห็นว่ามีความเหมาะสม โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง

ต่อมาเวลา 14.20 น. นายอัครเดช แถลงภายหลังการประชุม กมธ.ว่า กมธ. มีความเป็นห่วงกรณีกากแคดเมียม โดยยืนยันว่าขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมขนกากแร่ 12,400 ตัน จากทั้งหมด 13,800 ตัน กลับไปฝังกลบโดยบรรทุกในตู้คอนเทนเนอร์ป้องกันการฟุ้งกระจาย แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะยืนยันว่าจะมีการซีล 2 ชั้น ในระหว่างการขนย้ายได้มีแผนเผชิญเหตุระหว่างการขนย้ายไว้รองรับแล้ว แต่การบรรจุตู้คอนเทนเนอร์เราไม่ต้องกังวลในเรื่องการฟุ้งกระจายและส่งผลกระทบต่อประชาชนระหว่างทาง

นายอัครเดชกล่าวว่า ส่วนกรณีการลักลอบขุดกากแคดเมียมออกจากบ่อฝังกลบที่โรงงานใน จ.ตากออกมานั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มาดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ามีอนุญาตให้ขุดกากแคดเมียมขึ้นมาโดยเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม จ.ตาก ซึ่งกระทรวงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวน มีหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานคณะกรรมการฯ รวมทั้งได้โอนคดีจาก บก.ปทส. ไปให้กรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการในส่วนของการเอาผิดทั้งจากบริษัทต้นทางและปลายทาง ยืนยันว่า กมธ.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปจนจบสิ้นกระบวนการ

เมื่อถามถึงการดำเนินคดีกับบริษัทต้นทาง เหตุใดยังไม่มีความคืบหน้า นายอัครเดชกล่าวว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ป.ป.ท.เข้าไปดำเนินการแล้ว ส่วนผู้ประกอบการปลายทางทาง รมว.อุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดและไปร้องเรียนที่ บก.ปทส.แล้ว โดยดำเนินการทั้งที่ ชลบุรี กทม. และสมุทรสาคร ขณะที่การเอาผิดที่บริษัทต้นทางได้พูดคุยในที่ประชุม กมธ.กันอย่างมาก ว่าการขุดแคดเมียมขึ้นมาจากแหล่งฝังกลบเป็นการละเมิดกฎหมายอีไอเอ ซึ่งตัวแทนของ สผ. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (ก.พ.ร.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เห็นพ้องกันว่าเป็นการละเมิด พ.ร.บ.เหมืองแร่, พ.ร.บ.โรงงาน,  พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ถึงแม้ว่าใบอนุญาตโลหกรรมจะหมดอายุไปแล้ว (ใบอนุญาตถลุงแร่) แต่มาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอีไอเอยังคงอยู่และต้องปฏิบัติตาม รวมถึงใบอนุญาตให้ทำโรงงาน (รง.4) ยังคงอยู่ จึงต้องทำตามกฎหมายอีไอเออย่างเคร่งครัด และกากแร่ดังกล่าวถือเป็นวัตถุอันตราย และเป็นการละเมิด พ.ร.บ.วัตถุอันตรายด้วย กมธ.จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูว่าจะสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทต้นทางในข้อหาอะไรได้บ้าง เพราะละเมิดกฎหมายหลายฉบับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง