กก.เฉพาะกิจ ยึด3หลักการ เมียนมาสู้รบ

นายกฯ เผยสถานการณ์เมียนมารุนแรง หวั่นส่งผลกระทบไทย  “ปานปรีย์”​ นั่งหัวโต๊ะประชุมนัดแรก  วางกรอบรับผู้อพยพ-ตั้งรับรุกล้ำชายแดน​  โฆษก​ กต.​​ย้ำ​หลัก​ 3​ ข้อ ยึดมั่นในอธิปไตย​ ไม่ใช้ไทยทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล​ ยันช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม​  พร้อมเป็นตัว​เชื่อมหากเมียนมาประสานเจรจาชนกลุ่มน้อย สธ.ยังไม่ประกาศ "แผนภาวะฉุกเฉินระดับ 5"

เมื่อวันที่ 23 เมษายน เวลา 11.50 น.   ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า   จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายมิติ ทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนในบริเวณชายแดน ดังนั้นตนในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงออกคำสั่ง สมช. แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน ซึ่งเป็นกลไกในการติดตามประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวม รวมถึงให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ สมช. นายกฯ และ ครม. เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกที่จำเป็น

ที่ตึกสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายปานปรีย์เป็นประธานการประชุม​คณะกรรมการ​เฉพาะกิจ​บริหารสถานการณ์​อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาครั้งแรก หลังจากนายเศรษฐา  ลงนามแต่งตั้ง ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือประเมินภาพรวมสถานการณ์​ความไม่สงบในเมียนมา​ ทั้งการเตรียมแนวทางรองรับการรับผู้อพยพจากความไม่สงบในประเทศเมียน​มา ​ ความสงบเรียบร้อยในพื้นที่​ รวมไปถึงการรุกล้ำเขตแดน​ แต่สถานการณ์​ปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นเป็นเฉพาะจุด​ ยังไม่มีการขยายวงกว้างมากนัก​ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดทางกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้แถลงข่าว​

ขณะที่ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ​เฉพาะกิจ​บริหารสถานการณ์​อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา​ว่า ที่ประชุมมีการประเมินสถานการณ์ เพราะสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งต้องมีการประเมินเป็นรายชั่วโมง

การประชุมวันนี้ได้ข้อสรุป 3 หลักการ​ คือ 1.การยึดมั่นรักษาอธิปไตยของไทย ซึ่งเป็นเรื่องหลักในการดูแลคนไทยที่ได้รับผลกระทบ 2.ไม่ให้ใช้ดินแดนเขตไทยในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล​ต่างประเทศ​ ซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติโดยปกติอยู่แล้ว​ 3.การยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจในการดำเนินงาน และให้การช่วยเหลือกับทุกฝ่าย ซึ่งวันนี้นายปานปรีย์​ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์ โดยทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ หรือ​ สมช. จะเป็นหน่วยงาน กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลฝ่ายต่างประเทศ  รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ในการให้ความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการประสานอาเซียน​

นายนิกรเดชยืนยันว่า​ ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มจะมาตั้งกองกำลังต่อต้านในฝั่งไทย​ ซึ่งเป็นจุดยืนที่เราย้ำ เราไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนไทย การเคลื่อนไหว ซึ่งฝั่งเมียนมาก็ทราบดีถึงแนวปฏิบัติ ไม่มีการใช้ไทยอย่างแน่นอน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยืนยันด้วยว่า ทุกหน่วยงานของไทยขณะนี้มีความพร้อมหากมีการอพยพของผู้หนีภัยสงครามเพิ่มมากขึ้น​ ในส่วนของผู้หนีภัยสงครามแต่ละวันเมื่อเดินทางเข้ามายังฝั่งไทยและเดินทางมีจำนวนไม่แน่นอน​ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์​แต่ละวัน​ ถ้าเราบอกว่าให้ความช่วยเหลือบนฐานของหลักมนุษยธรรม คนที่หนีภัยคือคนที่ได้รับอันตราย รู้สึกไม่ปลอดภัย เรารับและให้การช่วยเหลือทั้งหมด​ตามหลักการขั้นตอนการดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม​ของเรา​ โดยการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยมีอยู่ 2 หลักการ คือหากจะกลับโดยสมัครใจสามารถขอกลับได้ และจะต้องให้ความมั่นใจว่าหากเดินทางกลับแล้วผู้อพยพเหล่านั้นปลอดภัย พร้อมกับระบุว่าบางคนอาจไม่เดินทางกลับ ซึ่งตัวเลขของผู้เดินทางเข้า-ออกไม่นิ่ง มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

ส่วนการพูดคุยกับกองกำลังแต่ละกลุ่ม ไทยไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต้องได้รับการร้องขอจากเมียนมา เพื่อให้ใครเข้าไปมีบทบาทในการให้การช่วยเป็นตัวกลางในการพูดคุย​ ซึ่งไทยพร้อมอยู่แล้ว จะเข้าไปเจรจาจะต้องได้รับการประสาน และขณะนี้ยังไม่มีขั้นตอน จะให้ไทยเข้าไปช่วยในการเจรจาหรือไม่ ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะเป็นการเจรจากันภายใน

นายนิกรเดชกล่าวว่า​ ประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันกว่า 2,000 กิโลเมตร​ เราก็มีความกังวล ไม่อยากให้มีการสู้รบในประเทศของเขา เราพูดมาตลอดอยากให้มีเสถียรภาพ ความมั่นคงในเมียนมา ซึ่งมองไปถึงอนาคตหากทุกฝ่ายเห็นว่าไทยพร้อมต้องการให้ใครเข้าไปมีบทบาท

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่าวันนี้ (23 เม.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้มอบหมายให้ตนร่วมเดินทางไปกับคณะของนายปานปรีย์ เพื่อลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดูสถานการณ์ชายแดนไทยเมียนมาด้วย ทั้งนี้ อย่างน้อยเราก็ต้องให้การดูแลในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นการดูแลตามหลักมนุษยธรรม เมื่อเขามีความเดือดร้อนมีอันตราย ถึงขั้นเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตแล้วหลบหนีเข้ามา ก็เป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็น

เราก็ต้องกำกับดูแลควบคุมให้เขาอยู่ในที่ที่เราได้เตรียมไว้ ซึ่งในจังหวัดที่มีสถานการณ์แบบนี้เป็นประจำ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเตรียมที่พัก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนเผชิญเหตุที่อาจจะเกิดการปะทะหรือสู้รบกันได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกินความคาดหมาย เพียงแต่คนที่เข้ามาก็ต้องอยู่ในความควบคุมของเรา เมื่อสถานการณ์คลี่คลายคนเหล่านี้ก็จะเดินทางกลับ จึงไม่น่ากังวลอะไร

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ติดตามสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา วานนี้ (22 เม.ย.) ว่าเราไม่ได้ประกาศเป็นแผนภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน สื่อบางสำนักเขียนว่าประกาศเป็นแผนภาวะฉุกเฉินระดับ 5 ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่เป็นประกาศแผนภายในของสถานพยาบาลเวลามีอุบัติเหตุ ซึ่งโรงพยาบาลแม่สอดสูงสุดมี 3 แผน หลังจากประกาศแผนแล้วใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ก็ประกาศยุติการประกาศแผนได้ และเข้าสู่การรักษาดูแลตามปกติ

    ต่อมาเมื่อเวลา 14.20 น. นายปานปรีย์พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ออกเดินทางด้วยเครื่องบินของกองทัพบก รุ่น บ.ท.135 จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กรุงเทพฯ ถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ในเวลา 15.20 น.

จากนั้น เวลา 16.00 น. รองนายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดตรวจเยี่ยมและพบปะราษฎรชาวไทย ตลอดจนศึกษาสภาพภูมิสังคมและการค้าชายแดนบริเวณ บ.ริมเมย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ก่อนเดินทางกลับในเวลา 17.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง