20ปีเหตุ‘ตากใบ’ ยื่นศาลฟัน9จนท. ก่อนคดีขาดอายุ

ครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ตากใบ ผู้เสียหายรวม 48 คน ยื่นฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ข้อหาฆ่า หน่วงเหนี่ยวกักขัง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อนจะขาดอายุความ ทนายความชี้คดีนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ขณะที่คนร้ายดักยิงเจ้าหน้าที่ อส.บันนังสตาเสียชีวิต ระหว่างเข้าไปรับศพกดระเบิดซ้ำ อส.บาดเจ็บ 3 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา  10.45 น. ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 พร้อมกับทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความฯ เดินทางมายังศาลจังหวัดนราธิวาส เพื่อยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

โดยมีจำนวนโจทก์รวม 48 คน ลำดับที่ 1-34 เป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอาวุธปืนทันทีที่หน้าโรงพักตากใบ 2 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน รวม 3 คน และที่เสียชีวิตจากการขนย้ายรวม 31 คน ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ 289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดฯ ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าของคดีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยคณะกรรมาธิการฯ   ได้เรียกเจ้าพนักงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้ว โดยการชี้แจงได้มีการอ้างว่าในสำนวนคดีไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนว่าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวนคดีอาญาที่ต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำความผิด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ  

ในขณะที่เหตุการณ์ได้ผ่านมาแล้ว 20 ปี ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่กว่า 1,300 คน ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ความรุนแรงสะเทือนขวัญและการสูญเสียที่เกิดขึ้น และแม้ครอบครัวผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งจะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐไปแล้ว แต่ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตยังคงรอที่จะได้ทราบถึงความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง แต่เรื่องกลับเงียบหาย จนใกล้จะสิ้นอายุความแล้ว ผู้เสียหายซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์และครอบครัวผู้เสียชีวิตจึงจำเป็นต้องดำเนินคดีเอง โดยยื่นฟ้องต่อศาลตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป

 นอกจากนี้ ในระหว่างการเตรียมยื่นฟ้องคดีดังกล่าว ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บบางรายให้ข้อมูลแก่ทีมทนายความว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลากลางวัน ถูกคุกคามจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่แจ้งสังกัด ไม่มีการแสดงบัตรประจำตัวและไม่ได้แต่งเครื่องแบบ จากการเข้าพบชาวบ้านที่เป็นญาติผู้ตาย มีพฤติกรรมทำนองบังคับให้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจเพื่อพูดคุยเรื่องการเยียวยาคดีตากใบ จะมีเงินค่าพาหนะให้ด้วย โดยตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหาย เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวจากการเตรียมฟ้องคดีอาญาดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม 2567 ตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจึงได้ยื่นหนังสือกับนายจาตุรงค์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) ร้องเรียนให้เร่งตรวจสอบกรณีพฤติกรรมกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจคุกคาม และให้ยุติการกระทำหากเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชนที่ดำเนินการใช้สิทธิทางกฎหมายโดยสุจริต

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการและทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ความเห็นถึงคดีนี้ว่า คดีตากใบถือเป็นคดีสำคัญที่เป็นประวัติศาสตร์ความรุนแรงของไทย คดีนี้จะเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของตุลาการไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยความเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพ ในการค้นหาความจริงให้ปรากฏในชั้นพิจารณาของศาลไทย อีกทั้งการรับฟ้องคดีนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน และยืนยันในหลักนิติธรรมของไทย

  วันเดียวกัน เวลา 06.10 น. พ.ต.ท.วรวิทย์ ณ นคร สว. (สอบสวน) สภ.บันนังสตา จ.ยะลา รับแจ้งเกิดเหตุคนร้ายดักยิงเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร อ.บาเจาะ จ.ยะลาเหตุเกิดที่บ้านบียอ ม.4 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จึงพร้อมด้วย พ.ต.อ.รณน สุระวิทย์ ผกก.สภ.บันนังสตา กำลังตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง รุดไปที่เกิดเหตุ   พบผู้เสียชีวิตทราบชื่อ ม.ญ.มะดาโอ๊ะ วายีเกา อายุ 59 ปี สมาชิก อส.สังกัดกองอาสารักษาดินเเดน มีรอยถูกยิงที่ลำตัวหลายนัดเสียชีวิตคาที่

สอบสวนทราบว่า ขณะที่ผู้ตายกลับกลับจากละหมาดที่มัสยิดใกล้บ้าน ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดลอบยิงระหว่างทาง จนเสียชีวิต 

ต่อมาเวลา 07.20 น. ในขณะที่เจ้าหน้าที่ อส.อีกชุดกำลังเข้าไปรับศพผู้เสียชีวิต คนร้ายได้ลอบวางระเบิดชุด อส.ระหว่างเข้าไปรับศพ เจ้าหน้าที่ถูกลอบยิง   และยังมีรายงานว่าพบวัตถุต้องสงสัยอีก 1 ลูกบริเวณที่เกิดเหตุ จึงห้ามไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าบริเวณดังกล่าว เกรงคนร้ายกดระเบิดซ้ำ จึงได้ประสานชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) มาเก็บกู้ทำลาย

 ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่าน่าจะเป็นกลุ่มของนายอาหามะ ลือแบซา แกนนำระดับ RKK ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.บาเจาะ มีหมายจับหลายคดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง