ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แนะทำบัตรกำหนดสถานะผู้อพยพสกัดจีนเทาไหลเข้า พร้อมดันไทยเป็นคนกลางเจรจาสันติภาพ ขณะที่ สมช.ย้ำ 3 จุดยืน จ่อของบกลางดูแลผู้หนีภัยสงคราม

ที่รัฐสภา วันที่ 25 เมษายน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย  ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ   สภาผู้แทนราษฎร ได้การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, เลขาธิการ สมช., ผบ.ทสส, ผบ.ทบ. และตัวแทนภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมในประเด็นปัญหาผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา (เมียวดี)

โดยนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์สู้รบในเมียนมายังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มชาติพันธุ์มีการรวมตัวกัน ซึ่งกองทัพเมียนมายังมีข้อจำกัดในการสู้กับกลุ่มต่อต้าน ทำให้ในหลายพื้นที่อยู่ในอิทธิพลของกลุ่มต่อต้าน ซึ่งทางกองทัพเมียนมาอาจมีการตอบโต้เฉพาะจุดบางพื้นที่ ส่วนการสู้รบที่จะขยายวงระดับประเทศหรือไม่นั้น คิดว่ายังไม่เกิดสถานการณ์นั้น แต่จะเป็นการสู้รบในเฉพาะจุด และสถานการณ์บางเรื่องมีการพูดคุยและเจรจากันก็ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย สำหรับผู้หนีภัยการสู้รบยังคงอพยพมาในจำนวนหนึ่ง แต่ปัจจุบันที่ อ.แม่สอด ได้เดินทางกลับหมดแล้ว เหลือที่ อ.อุ้มผาง 77 คน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เมียนมา โดยมีปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา และเสนอแนะนโยบายแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการ แต่ละหน่วยงานมีบทบาทที่ชัดเจน สำหรับการเตรียมการกำหนดท่าทีของไทย 3 ประการ คือ 1.ความจำเป็นรักษาอธิปไตยของไทย หากมีการรุกล้ำต้องมีการพูดจา 2.ไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดนของไทยในกรณีที่มีกลุ่มต่อต้านเข้ามาทำกิจกรรมในการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา และ 3.การดูแลผู้ที่หนีภัยจากความไม่สงบเมียนมา ซึ่งเป็นหลักการที่ไทยได้ทำมาตลอดตามหลักมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวสำหรับการรองรับผู้ที่หนีภัย โดยมีการคัดกรองตามหลักระเบียบและมนุษยธรรม โดยมีทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายในบางเรื่อง และเปิดรับการช่วยเหลือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องภายใต้เงื่อนไขตามระเบียบ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง หากสถานการณ์สงบจะมีการยึดหลักความสมัครใจให้แก่ผู้ที่ต้องการเดินทางกลับ ซึ่งบริบทจะแตกต่างจากอดีตที่มีคนตกค้างในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันพื้นที่ในชายแดน หลังจากนี้จะรายงานต่อนายกฯ เพื่อสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ สมช.ได้แจ้งต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯ ว่าจะมีการขออนุมัติงบกลางจากนายกฯ เพื่อนำมาช่วยเหลือดูแลด้านสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบเมียนมา และมีผู้อพยพเข้ามาในชายแดนไทย

ก่อนการประชุม นายรังสิมันต์เปิดเผยว่า ไทยควรจะต้องแบ่งแนวทางต่อกรณีดังกล่าวเป็น 3 ระยะคือ 1.สิ่งที่ทำได้ทันที คือเรื่องของการสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่หนีภัยการสู้รบข้ามมาที่เราต้องช่วย ขณะเดียวกันระหว่างการช่วยเราก็คงจำเป็นที่จะต้องมีการเก็บข้อมูลกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เข้ามา เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถจำแนกได้ว่าใครคือจีนเทา ใครคือเหยื่อจากการสู้รบจริงๆ  รวมไปถึงการทำให้ชายแดนมีความมั่นคงปลอดภัย ระยะที่ 2 ไทยต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อปูทางไปสู่ระยะที่ 3 ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยในเมียนมา ว่าจะเอาอย่างไร และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ในระยะ 2 คือการปราบปรามยาเสพติดชายแดน และในระยะที่ 3 เป็นระยะที่ต้องพูดคุยกัน  อาจจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในเมียนมา เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในประเทศเมียนมา

นายรังสิมันต์กล่าวว่า บทบาทในการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่าประเทศไทยยังคงอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจมากกว่าคนอื่นในการที่จะเป็นตัวกลางเจรจา จนเชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้โดยที่ไม่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาสากลทั้งสิ้น เราไม่ได้ส่งกองกำลังไป เราเอง แต่ใช้วิธีการพูดคุยและวิธีการในการป้องกัน ที่เรียกว่าเคารพหลักสิทธิมนุษยชนด้วยนอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจของประเทศไทยที่เกี่ยวพันกับทางเมียนมา ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น อาจจะเอารายได้ดังกล่าวไปซื้ออาวุธ รวมถึงการเกี่ยวข้องกับสแกมเมอร์ คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีธุรกิจที่น่าสงสัยอย่างธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจน้ำมัน ที่อาจเข้าไปเกี่ยวข้อง เรื่องนี้จะต้องพูดคุยกับหลายฝ่ายทั้งไทย ลาว และจีน เรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำลายโครงสร้างเครือข่ายเหล่านี้

"ผมสนับสนุนบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศและประเทศไทยในการที่จะดำเนินการ หาวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา แต่นอกจากการมองไปถึงกลไกที่เกี่ยวกับการพูดคุยเจรจา เราต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยไม่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในฝั่งตรงข้ามแม่สอดด้วย นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วง รวมไปถึงบทบาทของประเทศไทยที่อาจจะเกี่ยวข้องในลักษณะของการสนับสนุนสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงกลไกระหว่างประเทศ" นายโรมกล่าว 

ภายหลังการประชุม นายรังสิมันต์ ระบุว่า จะต้องนำแนวทางมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ฉบับใหม่เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อรองรับกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่จะทะลักเข้าไทยหลักแสนคน ซึ่งจะต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาล ทั้งยังต้องส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาเราเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังพื้นที่ภายในของเมียนมา ครอบคลุมพี่น้องประชาชน 20,000 คน เราจะต้องร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้ปฏิบัติการยั่งยืนมากขึ้น  ป้องกันไม่ให้ทะลักผู้หนีภัยข้ามแดนเข้าไทย ทำให้ไทยต้องดูแลคนจำนวนมากทั้งเชิงพื้นที่และปริมาณ

ส่วนสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การทะลักเข้าไทยของผู้หนีภัย เกิดจากการสู้รบโจมตีทางอากาศยาน ไทยต้องพูดคุยกับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบว่ามีน้ำมันที่ซื้อขายจากไทยประมาณ 15% ถูกใช้ในการโจมตีทางอากาศ ซึ่งไทยสามารถใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพ เจรจากับทหารเมียนมาได้ เพราะสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของ G7 ที่ระบุไว้ว่าไม่ควรมีการขายน้ำมันให้กับทหารเมียนมา

สำหรับข้อเสนอระยะกลาง คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเจรจากับทุกฝ่าย ไทยมีความท้าทายหลายเรื่องนอกเหนือปัญหาการสู้รบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ยังมีปัญหายาเสพติด  แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ จึงจำเป็นต้องพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา หากดูตัวเลขผู้หนีภัยอาจมีเพียงหลักพันคน แต่หากนับจากรัฐประหารในเมียนมา จะพบทั้งผู้หนีภัยการสู้รบ และผู้หนีภัยทางเศรษฐกิจจำนวนมากมายมหาศาลนับล้านคน เราควรนำคนพวกนี้มาอยู่บนดินโดยใช้กลไกออกบัตรกำหนดสถานะรหัสพิเศษ เป็นกลไกทางทะเบียนเพื่อติดตามบุคคลที่เข้ามา

นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานและคณะอนุกรรมาธิการ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีปฏิบัติการบางอย่างที่ให้ไทยเป็นฐานในการฟอกเงินของเครือข่ายการซื้ออาวุธที่ใช้ในปฏิบัติการเมียนมา พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างชายแดนแทนศูนย์ประสานงานชายแดนเดิม ที่ไม่มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาในพื้นที่แล้ว ส่วนข้อเสนอระยะยาว ไทยต้องพูดคุยถึงอนาคตเมียนมา และเข้าไปมีบทบาทในการเป็นผู้อำนวยการความสะดวกสร้างสันติภาพช่วยเหลือประชาชนเมียนมา เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้

"ไทยไม่จำเป็นต้องรอให้เมียนมาเป็นผู้เริ่มต้นร้องขอให้เป็นตัวกลางเจรจา ไทยมีศักยภาพที่จะพูดคุยกับทุกฝ่าย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับไทย ไทยควรเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้เกิดสันติภาพในเมียนมาภายใต้พื้นฐานต้องไม่แทรกแซงกิจการของชาติอื่น ทั้งนี้ ในวันที่ 12-14 พ.ค.67 คณะกรรมาธิการฯ จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ อ.แม่สอด  ด้วย" นายโรมกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง