อย่าตื่นเดลตาครอน กรมวิทย์ยันไร้รายงานแน่ชัด ‘ไทย’ติดเชื้อใหม่อีก8,511ราย

โควิดขาขึ้น! ไทยป่วยเพิ่ม 8,511 ราย ดับ 12 ราย ชลบุรียังพุ่งครองติดเชื้ออันดับหนึ่ง นายกฯ ขอทุกฝ่ายเคร่งครัดมาตรการ ย้ำแม้ตัวเลขสูงขึ้นแต่ระบาดลักษณะคลัสเตอร์ “อนุทิน” สั่ง สปสช.เพิ่มจุดตรวจโควิดเชิงรุก รู้ผลใน 30 นาที เริ่ม 11 ม.ค.นี้ สธ.ชี้สถานการณ์เป็นไปตามฉากทัศน์ เปิดแถลงแนวทางรักษา ยังไม่พบสายพันธุ์ลูกผสมเดลตาครอน ตร.เข้มกวดขันสถานประกอบการสกัดแพร่เชื้อ

เมื่อวันที่ 9 มกราคม เวลา 12.30 น. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,511 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,141 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,942 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 199 ราย, มาจากเรือนจำ 20 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 350 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,269,550 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,605 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,193,867 ราย อยู่ระหว่างรักษา 53,858 ราย อาการหนัก 484 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 113 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 12 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 4 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน จ.เชียงใหม่ 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,731 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 383,002 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 106,336,237 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 306,024,532 ราย เสียชีวิตสะสม 5,502,332 ราย  

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี 921 ราย, สมุทรปราการ 669 ราย, กทม. 598 ราย, นนทบุรี 436 ราย,  ภูเก็ต 416 ราย, อุบลราชธานี 409 ราย,  สุรินทร์ 307 ราย, ขอนแก่น 275 ราย,  เชียงใหม่ 268 ราย และระยอง 259 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข รองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกฯ ได้ย้ำว่า ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังเป็นการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์เท่านั้น ยืนยันรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งระบบการรับแจ้งเหตุ (Call Center) การคัดกรอง/คัดแยกผู้ป่วย การรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม CI/HI/Hospitel

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องป้องกันตนเองอย่างเข้มงวด สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทดสอบตนเองด้วย ATK เมื่อเดินทางไปสถานที่เสี่ยงหรือเมื่อมีอาการป่วย ที่สำคัญจะต้องฉีดวัคซีนตามที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขแนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่น

ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลับมาอีกครั้งหลังเทศกาลปีใหม่ว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ยอดการเสียชีวิตยังคงที่ แสดงว่าวัคซีนที่นำมาฉีดให้ประชาชนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักและป้องกันการสูญเสียได้ รวมทั้งประชาชนโดยภาพรวมได้ช่วยกันระมัดระวัง ถือว่าได้ช่วยกันประคองสถานการณ์ ต้องขอขอบคุณความร่วมมือที่เกิดขึ้น สำหรับใครถึงคิวรับเข็ม 3 ขอให้มารับบริการได้ทันที

อย่างไรก็ตาม อย่ามองว่าเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง เพราะในประเทศไทยยังพบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ วันนี้ประชาชนตื่นตัวกันมากในเรื่องของการตรวจคัดกรองหาเชื้อ เป็นเรื่องที่ดีที่คนไทยไม่ละเลย เพราะการรู้ตัวว่าติดเชื้อเร็ว จะช่วยให้เราระมัดระวังตัวเองไปจนถึงการเข้าสู่ระบบรักษาเร็ว และทำให้การควบคุมโรคในภาพรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานงานคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มจุดตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครและเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยจะเริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 11-21 ม.ค.นี้เป็นต้นไป ตั้งเป้าตรวจวันละ 1,000 คน จุดตรวจคือ ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้ตรวจ เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)

 “การตรวจหาเชื้อโควิดดังกล่าว จะใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ จะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที โดยหากปรากฏว่าผลตรวจเป็นบวก หรือติดเชื้อ ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือในระบบชุมชน (Community Isolation) จากนั้นจะเป็นการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา หากมีอาการมากขึ้น จะให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม จนถึงโรงพยาบาลทั่วๆ ไป ที่มีเครื่องมือพร้อม เรามีระบบที่พัฒนาขึ้นมาจากองค์ความรู้และประสบการณ์ ซึ่ง เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด” นายอนุทินระบุ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การคาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย เป็นไปตามกราฟที่แสดงในฉากทัศน์ว่าหลังปีใหม่จะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องรอดูสัปดาห์หน้าอีกครั้งว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างไร เบื้องต้นคาดว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีการแถลงรายงานสถานการณ์และรายละเอียดในวันที่ 10 ม.ค.นี้ รวมถึงชี้แจงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้ออีกครั้งด้วย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงสามารถใช้การรักษาจากที่บ้าน (Home Isolation) ได้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีสื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างทีมนักวิจัยในสาธารณรัฐไซปรัส พบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่เป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน และตั้งชื่อว่าเดลตาครอน โดยพบผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์แล้ว 25 ราย ว่า ไทยยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ หรือรายงานอย่างเป็นทางการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกตลอดเวลา ขอให้ทุกคนใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป

ส่วนกรณีมีนักวิชาการระบุการรายงานสายพันธุ์โอมิครอนของไทยต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่าสัดส่วนการรายงานเชื้อโอมิครอนมีทั้งสูงและต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราตรวจหาเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน จะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน จะใช้วิธีการสุ่มตรวจ ดังนั้นเราจะวางระบบการสุ่มตรวจ เพื่อที่จะดูสัดส่วนของการระบาดของสายพันธุ์ให้ชัดเจนขึ้น

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวครอบครัวของเด็กป่วยโควิดวัย 4 เดือนหาโรงพยาบาลรักษานั้น ขณะนี้กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ประสานรับเด็กคนดังกล่าวเข้ารักษาที่สถาบันเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยเด็กรายดังกล่าวมีอาการไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก ไม่มีหอบเหนื่อย ดูดนมเองได้ ไม่อาเจียน ไม่มีถ่ายเหลว นอนพักผ่อนได้ปกติ ซึ่งได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน ทั้งนี้ นายอนุทินพร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข สั่งการให้กรมการแพทย์ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดในเด็กมาก เพราะเด็กบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ขณะนี้มีการประสาน กทม.ให้จัดทำเตียง Community Isolation (CI) สำหรับเด็กและครอบครัวเอาไว้ 6 โซน โซนละ 1 แห่ง แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง โดย 1 ห้องเด็กอยู่ร่วมกัน 3-4 คน มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมได้ นอกจากนี้ยังมอบสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินีเผยแพร่วิธีการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก ผ่านทาง YouTube ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 41) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 65 เป็นต้นไปนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ลงไปกำกับดูแล พร้อมกำชับการปฏิบัติของทุกหน่วยในสังกัดที่เกี่ยวข้อง โดยให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ สร้างการรับรู้ มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงการออกตรวจสอบ กวดขัน สถานประกอบการ ร้านค้า ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศ ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างเคร่งครัด

หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ กำชับตำรวจทุกนายห้ามมีส่วนข้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม หากตรวจสอบพบว่าพื้นที่ใดปล่อยปละละเลย หรือหย่อนยาน จะพิจารณาดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับต่อไปไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ หรือแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สามารถโทร.มายังหมายเลขสายด่วน 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง