ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิการเมือง กก.บห.พรรค 10 ปี ชี้ใช้มาตรา 112 ธงนำนโยบายหาเสียง หวังชัยชนะทางการเมือง เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน มุ่งหมายให้เป็นคู่ขัดแย้ง ปชช. อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ด้าน 44 สส.คอพาดเขียง ดับฝัน "ศิริกัญญา" ส่อไปไม่ถึงเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 เวลา 15.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง
หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือพ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิบัติต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มอ่านคำวินิจฉัยว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรค 1 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ มีความมุ่งหมายเพื่อรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองให้กับประชาชน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลจะมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองไว้ แต่เสรีภาพดังกล่าวไม่ใช่เสรีภาพอันไร้ขอบเขตหรือไม่มีเขตแดนจำกัด เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองจะถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญและวิถีทางทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติเสมอ
อ้างเสรีภาพล้าง 122
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 3/2567วันที่ 31 ม.ค.67 วินิจฉัยว่าการที่ สส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้องเพียงพรรคเดียว รวม 44 คน เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...พ.ศ....) (แก้ไขเกี่ยวกับฐานความผิดหมิ่นประมาท) ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 จากเดิมที่เป็นหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ของพระมหากษัตริย์ ของพระราชินี ลักษณะญาติและพระเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเสนอเพิ่มบทมาตราให้ผู้กระทำผิดพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ
อีกทั้งให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้ใช้เพียงหน่วยงานเดียว ผู้ถูกร้องใช้นโยบายพรรคที่มีเนื้อหาในลักษณะทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งยังมีพฤติการณ์รณรงค์ทางการเมืองโดยการเข้าร่วมชุมนุมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรค สส. สมาชิกพรรคผู้ถูกร้องเป็นนายประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวเสียเอง และแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านกิจกรรมทางการเมืองหรือสื่อสังคมออนไลน์ หลายครั้ง อันเป็นความมุ่งหมายใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกการแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งมิใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง
ผู้ร้องได้พิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แล้วจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 67 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรค 1 (1) และ (2) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุบพรรคผู้ถูกร้อง
มีประเด็นต้องวินิจฉัยก่อนว่ารัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องผู้ร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ในประเด็นนี้ ผู้ถูกร้องยื่นคำโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจวินิจฉัยคดีเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
โดยมาตรา 92 บัญญัติหน้าที่และอำนาจของกกต.ในการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมือง ที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ได้แก่ ( 1) ทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มา หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2)กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและตามบทบัญญัติของกฎหมาย กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาล และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยคดี และสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น
กรณีและผู้ถูกร้องเป็นบุคคลเดียวกัน การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีตามคําวินิจฉัยที่ 3/2567 โดยการแต่งสวนพยานหลักฐานต่อหน้าผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบข้อกล่าวหาข้อเท็จจริง และมีโอกาสตรวจคัดค้าน พยานหลักฐานในสำนวนทั้งหมด รวมทั้งได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเต็มที่ต่อหน้าศาลแล้ว จึงถือว่าเป็นกระบวนการไต่สวนคดี รัฐธรรมนูญที่ให้ความเป็นธรรมยิ่งไปกว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องจึงไม่อาจรับฟังได้
112 ธงเคลื่อนไหว
นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ว่า ผู้ถูกร้องมีส่วนร่วมการกระทำหลายพฤติการณ์ประกอบกันต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ตั้งแต่เสนอร่างกฎหมายฯที่มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายและในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้อง การจัดกิจกรรมทางการเมือง การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องกระทำการต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ
การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยเป็นความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แม้ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำ และผู้ถูกร้องได้นำนโยบายออกจากเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องก็ตาม
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ฟังเป็นยุติแล้วว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่.. พ.ศ..… (แก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาท) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการดำเนินการโดย สส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้องทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว และผู้ถูกร้องเบิกความต่อศาลยอมรับว่านำเสนอนโยบายทำนองเดียวกับร่างนโยบายดังกล่าวต่อผู้ร้อง โดยใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้ง สส. และนโยบายนี้ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์พรรค
ถือได้ว่าผู้ถูกร้องได้ร่วมกับสมาชิก สส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้อง เสนอนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ถูกร้องเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยื่นต่อผู้ร้อง และใช้เป็นนโยบายของพรรคหาเสียง การรณรงค์ การแสดงความคิดเห็นบนเวทีปราศรัยหรือสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง
หรือเป็นนายประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีมาตรา 112 หรือเป็นผู้ต้องหาและจำเลยความผิดดังกล่าวเสียเอง แม้การกระทำต่างๆ เหล่านี้จะไม่ได้กระทำโดยกรรมการบริหารพรรค แต่คณะกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเช่นนี้
จึงเป็นการกระทำที่มุ่งหวังผลักดันเพื่อให้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องสำเร็จลงตามความมุ่งหมาย ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมของพรรคผู้ถูกร้อง โดยใช้ สส.หรือสมาชิกพรรคเป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด
อีกทั้งผู้ถูกร้องลงนามข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล และสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับนโยบายพรรคในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และแสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการรณรงค์ ปลุกเร้า ยุยง ปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสสังคมให้ร่วมสนับสนุนการยกเลิกหรือแก้ไข ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นในหมู่ประชาชน
และนำมาซึ่งความแตกแยกระหว่างชนในชาติ อันมีลักษณะยุยงให้เกิดการเกลียดชัง ย่อมส่งผลให้หลักการคุณค่าของรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของรัฐต้องถูกล้มเลิกและสูญเสียไป ผู้ถูกร้องไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดได้ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้อง จึงไม่อาจรับฟังได้
นายนพดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า เห็นว่าผู้ถูกร้องยื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโต้แย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 โดยอ้างข้อเท็จจริงว่าการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้อง มีเนื้อหาให้เปลี่ยนฐานความผิดออกจากลักษณะหนึ่ง ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ การเสนอให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ และการเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ ไม่ได้เป็นการลดทอนความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ถูกร้องไม่มีเจตนามุ่งหมายจะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน แต่เป็นแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไปและหลักสากลเท่านั้น
ปฏิปักษ์ต่อสถาบัน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงอาจเป็นที่ยุติแล้ว ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิประสิทธิภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย
ส่วนการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่นั้น เห็นว่าการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมร้ายแรงกว่าการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เนื่องจากการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองหมายถึงจะทำตน ต่อต้าน เป็นฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 รับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่า คำว่าปฏิปักษ์ไม่จำเป็นจะต้องรุนแรงถึงมีเจตนาที่จะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายและอ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์แล้ว
การนำสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้เพื่อความได้เปรียบและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง จึงเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง
เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะผู้ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเข้าลักษณะการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจะกระทำไม่ได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องร่วมกันเสนอร่างกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์
และใช้เป็นนโยบายพรรคผู้ถูกร้องยังมีพฤติการณ์เข้าร่วมรณรงค์ทางการเมืองให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีกรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรคผู้ถูกฟ้อง เป็นนายประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือตกเป็นผู้ต้องหาในจำเลยในการกระทำความผิดดังกล่าวเสียเอง
ภัยความมั่นคงรัฐ
อีกทั้งยังเคยแสดงความเห็นให้แก้ไขและยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมือง และสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง ด้วยเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ลดทอนสถานะความคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน
ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตี ติเตียน เป็นการทำร้ายจิตใจของชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะต้องเป็นประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติ และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่
เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองของประชาชน ที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเคร่งครัด ระมัดระวังให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ความรุนแรงของพรรคการเมือง การยุบพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และขึ้นอยู่กับการกระทำของพรรคการเมืองนั้นๆ ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) กฎหมายดังกล่าวต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันเป็นพฤติการณ์แล้วข้อกฎหมายที่ได้สัดส่วน
และจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายให้กระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
"แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนที่แตกต่างกัน ตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใดๆ ย่อมต้องมีมารยาททางการทูต "
กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องจะทำการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2)
ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี
นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านว่า อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) และวรรคสอง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกฟ้องที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มี.ค.2564 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง
และห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องช่วงเวลาดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 94 วรรคสอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติยุบพรรคดังกล่าวแบ่งเป็นมติเอกฉันท์ที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 (1)
ส่วนที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) นั้น เป็นมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 โดยนายนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เป็นตุลาการเสียงข้างน้อย และมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรรมการบริหารพรรค ที่จะถูกตัดสิทธิมีทั้งสิ้น 11 คน ประกอบด้วย สส.บัญชีรายชื่อ 5 คน คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ขณะนั้น, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคขณะนั้น, น.ส.เบญจา แสงจันทร์, นายสุเทพ อู่อ้น, นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.เขต 1 คน คือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก ซึ่งถูกขับพ้นพรรคและปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม
ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้เป็น สส.ในปัจจุบัน ประกอบด้วย น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค, นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค, นายสมชาย ฝั่งชลจิตร, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และนายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์
44 สส.คอพาดเขียง
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระในฐานะผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะเดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อยื่นเอกสารการแกะเทปคำวินิจฉัยกลางดังกล่าว เพื่อให้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนเอาผิดอดีต สส.ก้าวไกล 44 คนสมัยที่ผ่านมา ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 เข้าสภา หลังจากเคยไปยื่นคำร้องไว้ที่ ป.ป.ช.เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่คดียังไม่คืบหน้า เท่ากับว่าตอนนี้มีคำวินิจฉัยของศาล รธน.ถึง 2 คดี คือคดีล้มล้างการปกครอง และคดียุบพรรคก้าวไกล โดยหาก ป.ป.ช.ชี้มูล ทั้ง 44 คนก็จะต้องส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใน 44 คนดังกล่าวมีชื่อน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่มีข่าวว่าจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ในพรรคการเมืองที่จะขึ้นมาแทนก้าวไกล และจะถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯในการเลือกตั้งรอบหน้า รวมถึงนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่มีข่าวว่าอาจจะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ หรือเลขาธิการพรรค ก็มีชื่อด้วยเช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัยการนัดฟ้อง แก๊งพนันมินนี่ คดีโจ๊กอยู่ปปช.
ตำรวจหอบสำนวน 60 แฟ้ม 1.4 หมื่นแผ่น ส่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ
เย้ยแบ่งแจกหมื่นไม่กระตุ้นศก.
นายกฯ อิ๊งค์บอกให้รอฟังการแถลงปมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
หนี้ครัวเรือนอ่วมสุด15ปี คนไทยแบกเฉลี่ย6แสนบ.
หนี้ครัวเรือนพุ่งทุบสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปี เพิ่มขึ้น 8.4% คนไทยแบกหนี้ 6 แสนบาท
พท.ยึดรองปธ.1 สลับเก้าอี้ภราดร
“พิเชษฐ์” ไขก๊อกรอง ปธ.สภาฯ คนที่สอง จ่อนั่งรองฯ คนที่หนึ่ง "วิสุทธิ์” เผยเจรจา ภท.แล้ว ขยับ "ภราดร" รองฯ คนที่สอง
นายกอิ๊งค์ตื่นเวทีสภา ขอกำลังใจสส.ไร้องครักษ์ จักรภพรับนั่งโฆษกรัฐบาล
นายกฯ อิ๊งค์เล่นบทเตมีย์ใบ้ต่อ เพื่อไทยย้ำไม่มีองครักษ์พิทักษ์นายกฯ แน่
สวนกลับ สุดเดือด 'หมอวรงค์' ท้ารบ 'ธรรมนัส' ลั่น กูไม่กลัวมึง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์วีดีโอในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ผมโพสต์เฟสเตือนคุณธรรมนัส ด้วยความห่วงใย เพราะวันนี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า