ลุยฟื้นเราเที่ยวด้วยกัน เมินนายจ้างขึ้น400บ.

“นายกฯ อิ๊งค์” เซ็นตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลุยนั่งหัวโต๊ะ ชูภารกิจขับเคลื่อนนโยบาย-สร้างความเชื่อมั่น-กระตุ้นใช้จ่าย ผู้ว่าฯ ททท.ประสานเสียงรวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยฟื้น "เที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง"

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

รวมถึงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน และการประกอบอาชีพ

  ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงกำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการในภาพรวมให้เป็นไปตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำกับ ติดตาม ขับเคลื่อนและเร่งรัดส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจบรรลุผลสำเร็จ เป็นไปตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบ

นอกจากนี้ ยังมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรายงานต่อ ครม. ตลอดจนรวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ของประชาชน และกำหนดแนวทางการจัดทำฐานข้อมูล รวมถึงการดำเนินการรวบรวม ใช้ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น

สำหรับคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 3 รวมถึงนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 4

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์, น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รมช.การคลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง, เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ประธานสมาคมธนาคารไทย, ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.แพทองธารว่า ในช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ย. ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ โดยเรียกนางฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าหารือแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทย

นางฐาปนีย์กล่าวว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี โดยจะต้องเป็นการกระตุ้นแบบลงทุกพื้นที่ และมองว่าภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวสามารถมีดัชนีชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับต่างๆ ที่ต่างชาติดำเนินการจัดอันดับ เป็นดัชนีความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และนายกฯ ยังให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวด้วย

เมื่อถามว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง จะนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือไม่ ผู้ว่าฯ ททท.กล่าวว่า ดูจากการมอบนโยบายของนายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ว่า โครงการด้านใดที่ดีและตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวก็ต้องมาดูในรายละเอียดเพื่อดำเนินโครงการให้ครอบคลุมต่อไป ซึ่งนายสรวงศ์ไม่ได้ปิดโอกาสในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยมีมาแล้ว

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยและขอสนับสนุนให้เป็นแคมเปญที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ร้านค้าขายขนาดเล็ก ร้านส้มตำ ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ร่วมโครงการ ก็จะรับอานิสงส์ไปด้วย จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่รากฐานชุมชนไปจนถึงภูมิภาคและระดับประเทศ

"เมื่อรัฐบาลไฟเขียวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการจ่ายเงินสด 10,000 บาท ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคนในช่วงปลายเดือนนี้ เชื่อว่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่น่าพอใจ เมื่อมาประกอบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ที่รัฐบาลมีแนวคิดกำลังจะรื้อฟื้นกลับมาใช้อีกครั้ง มั่นใจว่า เศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีหรือไฮซีซั่นปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวในภาคใต้ จะมีเงินสะพัดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่คนไทยจะเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากแน่นอน" นายธนกรกล่าว

ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นค่าจ้าง 400 บาท ทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 เสียง จาก 15 เสียง  จะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ หลังก่อนหน้านี้อ้างติดภารกิจว่า ขณะนี้ได้ทำจดหมายเชิญแล้ว อยู่ที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตนไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คณะกรรมการฝ่ายนายจ้างเข้ามาหารือกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด  เพราะตามนโยบายตนก็หาแนวทางที่ดีที่สุด และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงพูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางในการเยียวยาแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวันที่ 20 ก.ย.นี้ 5 เสียงฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีที่เหลือจะเดินหน้าพิจารณาเดินหน้าประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ให้ทันวันที่ 1 ต.ค.นี้ใช่หรือไม่ รมว.แรงงานตอบว่า หากนายจ้างไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 2 เราก็จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และดำเนินการประชุม โดยจะอ้างอิงเสียงการโหวต 2 ใน 3 ซึ่งหากฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายข้างราชการ เข้าครบก็สามารถทำการโหวตได้

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าในวันที่ 1 ต.ค. จะได้ค่าแรง 400 บาท นายพิพัฒน์ระบุว่า “ยืนยันครับ ชัดเจนครับ" เพราะเมื่อประกาศไปแล้วก็พยายามทำให้สำเร็จ ซึ่งตนก็เชื่อว่าฝ่ายลูกจ้างก็รอ และยอมรับว่ากระทบต่อนายจ้างพอสมควร เพราะตนก็มาจากภาคธุรกิจ ซึ่งบริษัทในเครือของเราก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เพราะมีลูกจ้างประมาณ 30,000 คน ได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 คน แต่ก็ยอมรับผลกระทบตรงนั้น แต่ก็ต้องดูว่ากระทรวงการคลังจะเยียวยาผู้ประกอบการได้อย่างไร พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้มีมาตรการเยียวยาแล้ว โดยจะประกาศพร้อมกันในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งมาตรการเยียวยา ที่ปรับตามประกาศ พ.ศ.2555 เพื่อมาใช้ในปัจจุบัน

ถามว่า กังวลหรือไม่หากประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.นี้ อาจจะถูกนายจ้างและผู้ประกอบการร้องเรียนฟ้องร้องภายหลัง รมว.แรงงานกล่าวว่า ไม่เป็นอะไร ตนยินดีรับสิ่งที่พวกเรากระทำ และถือว่าตนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งหากจะมีการฟ้องร้องหรือไปร้องเรียนศาลปกครอง เราก็พร้อมน้อมรับ และยืนยันว่าไม่หนักใจในเรื่องนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง