รมว.คลังแย้มต้องรอผู้ว่าฯ แบงก์ชาติว่างตรงกันก่อนหารือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โบ้ยไม่ทราบคนการเมืองส่ง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" นั่งประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ "จุลพันธ์" ยันไม่แทรกแซง ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ขณะที่ ธปท.ขยายเวลาสรรหา เหตุขอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม "อดีตผู้ว่าฯ ธปท." กระตุกจิตสำนึกกรรมการสรรหา สกัดการเมืองแทรกแซง หวั่นเกิดหายนะเศรษฐกิจ "ลูกศิษย์หลวงตาบัว" ร่อนหนังสือถึงนายกฯ ขวางฝ่ายการเมือง ลั่นจะไม่ยอมรับให้บริหารบ้านเมืองอีกต่อไป
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 ตุลาคม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงการนัดหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องนโยบายการเงินว่า เร็วๆ นี้จะมีการนัดหารือร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งต้องรอตารางงานว่างตรงกันก่อน ส่วนจะหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบของคณะกรรมการหรือเรียกหน่วยงานเข้ามาหารือ อาทิ สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณด้วยหรือไม่นั้น นายพิชัยกล่าวว่า คงเป็นในรูปแบบคณะกรรมการ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจัดเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยเป็นแพ็กเกจในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ไป แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ ต้องรอให้มีการประชุมก่อน ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ธนาคารของรัฐได้ออกมาตรการสินเชื่อมาช่วยเหลือหลายมาตรการแล้ว ขณะนี้กำลังรวบรวมและดูว่าจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนเรื่องโครงการคนละครึ่งนั้น รัฐบาลก็รับฟังความคิดเห็นทั้งหมด แต่ยังไม่มีข้อสรุป รัฐบาลนี้คงไม่เอาเรื่องศักดิ์ศรีหรือใครคิดทำก่อนทำหลัง แต่ขอให้เป็นมาตรการที่ออกมาเป็นประโยชน์กับประชาชนเราก็ยินดี ซึ่งกำลังคุยกันอยู่ ยังไม่มีข้อสรุปว่าทำหรือไม่ทำ
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์การที่ฝ่ายการเมืองส่งคนเข้ามาเป็นคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐบาลจะเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.การคลัง เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.คนใหม่ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการ ธปท. ที่ครบวาระในเดือน ก.ย.67 โดยนายพิชัยกล่าวเพียงว่า “เหรอ แบงก์ชาติเหรอ เอาคนการเมืองมาเหรอ”
นายจุลพันธ์กล่าวถึงกระแสข่าวฝ่ายการเมืองจะเข้ามายุ่งเกี่ยวในการแต่งตั้งประธาน ธปท.ว่า ไม่มีอยู่แล้ว กลไกทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมาย เราไม่ได้ทำอะไรกับมัน เป็นไปตามขั้นตอน เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรน่ากังวล
เมื่อถามว่า จะใช่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือไม่ นายจุลพันธ์หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ไม่ทราบ บอกแล้วว่าไม่ได้เข้าไปแทรกแซง
ด้านนางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. เปิดเผยถึงการสรรหารประธานบอร์ด ธปท.ว่า ฝ่ายเลขานุการฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกโดยเร็ว
ขณะที่ นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าฯ ธปท. เขียนข้อความระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อ ธปท.ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้สามารถใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศ ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
"ในกรณีของประเทศไทย นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาล ก็ได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว หาก ธปท.ถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจย่อมตามมาอย่างแน่นอน"
นางธาริษาระบุว่า วงการเศรษฐกิจของไทยได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซง ธปท. แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้ จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจนี้ อันที่จริงกฎหมายของ ธปท.ก็ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฎหมายจึงได้กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง
"ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญๆ ของ ธปท.ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ ไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่เข้าใจบทบาทของธนาคารกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม ดิฉันจึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการสรรหาในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ" นางธาริษาระบุ
วันเดียวกันนี้ คณะศิษยานุศิษย์ที่น้อมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ออกหนังสือด่วนที่สุด ขอคัดค้านบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงการเมืองเข้ามาแทรกแซง ธปท. ถึงนายกรัฐมนตรี (แพทองธาร ชินวัตร) มีใจความว่า รัฐบาลพยายามผลักดันบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงกับการเมืองเข้ามาแทรกแซง ธปท. ซึ่งเห็นได้จาก รมว.คลัง ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการสรรหาประธานและกรรมการ ธปท.ชุดใหม่” โดยไม่ได้แต่งตั้งอดีตผู้ว่าฯ ธปท.คนใดคนหนึ่งเป็นกรรมการสรรหา ด้วยพฤติการณ์ดังนี้แตกต่างจากประเพณีปฏิบัติในหลายครั้งที่ผ่านมา ราวกับว่ารัฐบาลมีเจตนาแรงกล้าในการจัดส่งบุคคลที่ยึดโยงกับการเมืองให้เข้ามาแทรกแซงและครอบงำ ธปท.อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้จงได้
คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัวฯ ได้ร่วมกันปกป้องทุนสำรองปราการด่านสุดท้ายของชาติอย่างหนักแน่นจริงจัง และได้ร่วมกันเสียสละเงินทองเข้าคลังหลวงกว่า 13 ตัน ได้เห็นพ้องต้องกันว่า หาก ธปท.ถูกการเมืองเข้าแทรกแซง ย่อมบังเกิดมหันตภัยขั้นร้ายแรงต่อระบบการเงินมั่นคงของชาติให้วินาศไปได้อย่างง่ายดาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดพฤติการณ์เช่นนี้ จึงขอน้อมนำคำสอนขององค์หลวงตาฯ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2543 ตอนหนึ่งที่ว่า “อำนาจอันใดก็ตามต้องให้มีประชาชนเป็นผู้ควบคุมอำนาจนั้นไว้ ไม่ใช่กฎหมายของคนสองสามคนเข้ามาตั้งเป็นเจ้าอำนาจวาสนาใหญ่โตเหยียบย่ำทำลายชาติไทยของเรา ก็เรียกรัฐบาลมหาภัยเท่านั้นเอง ไม่ใช่รัฐบาลที่ดีสมความมุ่งหมายของประชาชนที่ตั้งขึ้นมา”
"จึงกราบเรียนด่วนที่สุดมาถึง ฯพณฯ เพื่อโปรดพิจารณา อย่านำการเมืองและอย่านำบุคคลที่มีหัวใจ ยึดโยงกับการเมืองเข้าแทรกแซงอำนาจหน้าที่แห่ง ธปท.โดยเด็ดขาด มิฉะนั้น คณะศิษย์ฯ ย่อมมิอาจยอมรับรัฐบาลประเภทที่ว่ามานี้ให้บริหารบ้านเมืองอีกต่อไปได้" หนังสือระบุ
ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่ารายชื่อที่ได้รับการเสนอเข้ามาให้พิจารณาคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท.นั้น ในส่วนกระทรวงการคลังได้เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตที่ปรึกษาของนายกฯ (นายเศรษฐา ทวีสิน) และอดีตรองนายกฯ และ รมว.การคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดฯ นอกจากนี้ ยังมีชื่อนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ถูกเสนอเข้ามาด้วย ซึ่งอาจจะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิชิต' ยกคดี 'หมอเลี้ยบ' เทียบ 'พิชัย' ซ้ำรอยความผิดสำเร็จแล้ว
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.)
ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่ช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ครม. อนุมัติชุดใหญ่! จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่
'พิชัย' ยันนโยบายแจกเงินหมื่นไม่มีแท้งแน่
'พิชัย' ระบุกำลังพิจารณาเคาะจ่ายเงินหมื่นเฟส 2 อยู่ หลังมีหลายทางเลือก ลั่นไม่มีแท้ง ทำแล้วต้องมีเงินจ่าย
เดอะโต้งรอต่อไป! ขุนคลังบอกต้องตรวจสอบคุณสมบัติมีเวลาถึงกลาง ม.ค.2568
'พิชัย' บอกขอเวลาตรวจสอบคุณสมบัติ 'กิตติรัตน์' นั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติก่อน จ่อชง ม.ค. ปีหน้า
ปรับแวตทำเหลื่อมล้ำพุ่ง แนะขึ้นภาษีที่ดิน-อสังหา
นักเศรษฐศาสตร์ฉีกหน้าขุนคลัง ย้ำแนวคิดรื้อขึ้นแวต 15% ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ
รัฐบาลโต้ถังแตก ขึ้นภาษีแวต 15% โยนคลังสรุปให้ชัดก่อน
'ภูมิธรรม' บอกรอคลังสรุปให้ชัดเจน ปมขึ้นภาษีแวต 15% ปัดถังแตกจากโครงการแจกหมื่น ยันทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด