นักเศรษฐศาสตร์ฉีกหน้าขุนคลัง ย้ำแนวคิดรื้อขึ้นแวต 15% ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เตือนลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเสี่ยงเกิดวิกฤตการคลัง สงสัยเอื้อประโยชน์คนในรัฐบาล-กลุ่มทุนใหญ่ แนะเก็บภาษีอสังหาฯ-ที่ดินได้ผลกว่า
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ธ.ค.2567 ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง กรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ทั้งการปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 15% แม้ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะออกมาเบรกเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม
โดย รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ ทั้ง 3 มาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอมา เป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่การลดความเหลื่อมล้ำ ในทางทฤษฎีการเพิ่มการจัดเก็บภาษีทางอ้อม เช่น แวตจะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ในขณะที่ภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีทรัพย์สิน จะลดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงสร้างภาษีที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้ว โดยข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่ามีสัดส่วนภาษีทางอ้อม ซึ่งจัดเก็บจากฐานการบริโภคสูงกว่าภาษีทางตรง (65:35) จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการเพิ่มแวต แต่ลดภาษีเงินได้ โดยอ้างว่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฎีอย่างชัดเจน
รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าวอีกว่า การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากจะทำให้ประเทศเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างมาก ยังเสี่ยงเกิดวิกฤตทางการคลัง และไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ ดังนั้นจึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ มิใช่เร่งรีบผลักดันนโยบาย เพราะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยหลักแล้วก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มทุน ในทางทฤษฎีจึงไม่ใช่แนวนโยบายที่ใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติ พบว่าการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างมากในปี 2560 จากเดิมไปอยู่ที่ 21% เกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อยต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ รวมถึงบริษัทข้ามชาติได้ประโยชน์มหาศาล
“ปัจจุบันไทยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% ซึ่งจัดว่าไม่ใช่ระดับที่สูง เพราะค่าเฉลี่ยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 21% ส่วนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีจากเอกชนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ก็มีอัตราภาษีดังกล่าวใกล้เคียงประเทศไทย”
รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าวต่อว่า งานวิจัยยังชี้ชัดว่าการคอร์รัปชันที่สูงและธรรมาภิบาลภาครัฐที่ต่ำ จะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง ซึ่งไทยมีการคอร์รัปชันในระดับวิกฤต การจัดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ไทยอยู่ลำดับที่ 108 จากจำนวน 177 ประเทศ ดังนั้น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของรัฐบาลไทย นอกจากอาจไม่สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างที่อ้าง ยังจะทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีต่ำลง ส่งผลต่องบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ
“การเร่งรีบลดภาษีนิติบุคคลทั้งๆ ที่อัตราภาษีนิติบุคคลของไทยก็ไม่ได้สูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ และตามหลักวิชาการเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ หาได้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ทำให้ประชาชนเกิดความกังขาว่า การออกนโยบายดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เนื่องจากผู้บริหารประเทศบางคนก็มีญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลที่ทำธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะได้รับกำไรเพิ่มขึ้นอภิมหาศาลจากการลดภาษีนิติบุคคลในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอาจได้รับประโยชน์บ้างเพียงน้อยนิด หากนโยบายนี้ส่งผลให้มีการลงทุน จนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อถามว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาอยู่ที่ 15% รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าวว่า โดยส่วนตัวชอบ เพราะได้ประโยชน์จากการจ่ายภาษีเงินได้น้อยลงกว่าอัตราภาษีในปัจจุบัน ในขณะที่คนที่มีรายได้สูงกว่าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นไปอีก ซึ่งคนที่มีรายได้ระดับสูงสุดก็จะได้รับประโยชน์สูงที่สุดจากการจ่ายภาษีน้อยลงจากเดิมอย่างมาก แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะการลดภาษีในขณะที่รัฐบาลยังไม่มีแผนในการจัดเก็บภาษีประเภทอื่นมาทดแทน จะทำให้รัฐมีรายได้น้อยลงอย่างมาก จนเสี่ยงก่อให้เกิดวิกฤตการคลัง นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าการลดภาษีดังกล่าวจะดึงดูดคนเก่งได้ ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึก
ถามว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษีหรือไม่ รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าวว่า สมควรปฏิรูปอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ในอัตราก้าวหน้าแบบจริงจัง เพราะนอกจากภาษีดังกล่าวจะไม่ลดแรงจูงใจในการทำงาน การลงทุน ยังทำให้การถือครองที่ดินของกลุ่มนายทุนเพื่อเก็งกำไรต่ำลง ส่งผลให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรการผลิตที่สำคัญถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ เป็นมาตรการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาว เพราะจากการวิเคราะห์ของธนาคารโลก กรณีแย่ที่สุดไม่มีการปฏิรูปทางการคลังใดๆ เลย ทั้งด้านรายได้ภาครัฐและรายจ่ายภาครัฐ และไทยต้องเผชิญสังคมชราภาพที่มีค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการบำนาญสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ.2037 (ปี พ.ศ.2580) หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุ 80% ในปี ค.ศ.2047 ไทยจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุระดับ 110% หากเดินหน้าปฏิรูปภาคการคลังเต็มที่ จะดึงให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกลับมาอยู่ในระดับไม่เกิน 60% ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
“การขยายฐานรายได้นี้ รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยอาจจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 1% ตั้งแต่ปี พ.ศ.2569 จากระดับ 7% เป็น 10% ในปี พ.ศ.2571 และควรปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และอาจพิจารณาปรับลดหรือเพิ่มภาษีเงินได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และกระตุ้นให้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว
รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า การดำเนินการต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เวลา 5-6 ปี การปฏิรูปภาษี ประกอบไปด้วย ข้อแรก การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% และยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด มาตรการนี้จะทำให้รัฐมีรายได้ภาษีเพิ่ม 2.5% ของจีดีพี โดยอยู่บนสมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย ข้อสอง ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปรับปรุงค่าลดหย่อน มาตรการนี้จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 0.8% ของจีดีพี และข้อสาม การขยายการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งมีทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ้าง ‘พระเมตตา’! ‘ทักษิณ’ ยัน ‘อิ๊งค์’นายกฯตัวจริงมีเงาแก่ ๆ อยู่ข้างหลัง
"ทักษิณ" ไปหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.นครพนม ยืนยันเสือกทุกเรื่องต่อไป เพราะบ้านเมืองหลังจากที่ตนเองออกไปขาดการบริหารอย่างมี
‘แม้ว’ บ่นรำคาญ! อยากจบ ‘อัลไพน์’
"ทักษิณ" กลืนเลือด ไม่ติดใจปม "ชาดา" เซ็นเพิกถอนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์กลับเป็นธรณีสงฆ์ ลั่น! ในฐานะเจ้าของที่ อยากให้จบ
มท.1 ขอร่วมนั่งหัวโต๊ะกาสิโน
เปิดเอกสารความเห็น มท.1 ขอรักษาการร่วมกับนายกฯ ใน กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อ้างกระทบกิจการมหาดไทยค่อนข้างมาก "ทักษิณ"
นายกฯทนาย อุ้ม ‘นช.ชั้น14’ ไม่ผิดกฎหมาย
นายกสมาคมทนายความฯ ชี้ "ทักษิณ" รักษาชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำตามกฎหมายราชทัณฑ์ ไม่ต้องขออนุญาตศาล
มัดชั้น14ป่วยทิพย์! เวชระเบียนฟ้องคนไข้ไม่วิกฤต/ทักษิณคึกยึดอบจ.เชียงราย
"หมอวรงค์" จับพิรุธ "หมอ" รพ.ตร.น้ำท่วมปาก ส่งเวชระเบียนชั้น 14 ได้แค่นั้น
‘อิ๊งค์’ใช้AIจ้อจีนแก้ข่าวไทยเสี่ยง
สมช.ถกปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร่างแผนแก้ปัญหา “อิ๊งค์” ห่วงนักท่องเที่ยวจีนยกเลิกทริป จ่อใช้เอไออัดคลิปภาษาจีนสยบข่าวลือเมืองไทยน่ากลัว