หวั่น‘ตรุษจีน’ทำติดเชื้อพุ่ง

ไทยติดเชื้อใหม่ 7,686 ราย ดับ 13 ราย นายกฯ เตือนอย่าชะล่าใจ  ห่วงระบาดอีกระลอกช่วงตรุษจีน สธ.เน้นย้ำรวมญาติไหว้บรรพบุรุษ ยึดมาตรการครอบจักรวาลอย่างเคร่งครัด กทม.สั่งกวดขันสถานบริการ ร้านกึ่งผับดริงก์ถึง 5 ทุ่มต้องมีใบอนุญาต

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,686 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,445 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,384 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 61 ราย, มาจากเรือนจำ 55 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 186 ราย​ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,377,500 ราย​ หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,445 ราย​ ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,272,009 ราย​ อยู่ระหว่างรักษา 83,459 ราย อาการหนัก 564 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 122 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 13 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 6 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้ง 9 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,032 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 21 ม.ค. ได้แก่ กทม. 1,150 ราย,  สมุทรปราการ 688 ราย,

ภูเก็ต 412 ราย, ชลบุรี 394 ราย, นนทบุรี 325 ราย, ขอนแก่น 275 ราย, ปทุมธานี 253 ราย, อุบลราชธานี 155 ราย, ลพบุรี 141 ราย และเชียงใหม่ 125 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พอใจภาพรวมสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ยอดติดเชื้อในวันนี้ต่ำกว่า 8,000 ราย มอบกระทรวงสาธารณสุขประเมินยอดผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมานี้ว่าเป็นเพียงการพุ่งขึ้นในระยะสั้นหรือต่อเนื่อง รวมทั้งให้เฝ้าระวังการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานประกอบการ สถานบันเทิง ร้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่อาจจะกลายเป็นการนำเชื้อกลับเข้าสู่ชุมชนหรือครอบครัวได้อีกระลอก ทั้งนี้ สธ.คาดว่าการแพร่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมดในปลายเดือน ม.ค.นี้

โฆษกประจำสำนักฯ กล่าวว่า ไทยให้บริการวัคซีนโควิด-19 สะสมอยู่ที่  113,166,691 โดส เข็มที่ 1 ฉีดสะสม 52,034,740 โดส, เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 48,143,049 โดส, เข็มที่ 3 ฉีดสะสม 12,189,150 โดส, เข็มที่ 4 ฉีดสะสม 799,752 โดส นายกฯ ยังย้ำถึงประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้  

ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจอนามัยโพล วันที่ 15-21 ม.ค.2565 พบว่า คนไทยร้อยละ 65 ยังมีความกังวลหากมีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุดคือ กลัวติดเชื้อจากการไปจับจ่ายซื้อของวันไหว้ในตลาด ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 51.8 รองลงมาคือกลัวการติดเชื้อจากการรวมญาติที่บ้าน หรือสถานที่พักอาศัย ร้อยละ 42 และห่วงผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงอาจติดเชื้อได้ง่าย มีอาการรุนแรง ร้อยละ 41.2 ขณะที่ร้อยละ 35 ไม่รู้สึกกังวล เนื่องจากมีการป้องกันตนเองอย่างดีแล้ว ร้อยละ 71.9 รู้สึกชินกับสถานการณ์ ร้อยละ 33.3 และได้รับวัคซีนครบแล้วตามเกณฑ์ ร้อยละ 29.7 นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 85.3 จะป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกันเมื่อไปที่สาธารณะ, ร้อยละ 72.5 ล้างมือบ่อย ๆ และร้อยละ 64.3 ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคเป็นระยะๆ

​“ทั้งนี้ ประชาชนที่มีกิจกรรมช่วงวันตรุษจีน เช่นจับจ่ายซื้อของในวันไหว้ ทั้งในตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต หรือมีการรวมญาติไหว้บรรพบุรุษ รวมถึงการกินอาหารร่วมกันภายในครอบครัว ขอให้ปฏิบัติ ตามหลัก UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดและการแพร่ของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว ควรให้ความระมัดระวัง และดูแลเป็นพิเศษ” อธิบดีกรมอนามัยระบุ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยผลการตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วย ATK ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 11-21 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามี

ประชาชนที่สนใจมารับการคัดกรองทั้งสิ้น 6,278 คน ผลเป็นลบ 6,067 คน หรือ 96.64% ส่วนผู้ที่มีผลเป็นบวก มีจำนวน 211 คน คิดเป็นสัดส่วน 3.36% โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 211 คนนี้ ได้รับการส่งตัวเข้ารักษาในระบบ Home Isolation 56 ราย เริ่มมีอาการและรักษาใน Hospitel ของโรงพยาบาลปิยะเวท 94 ราย ส่งตัวไปรักษาในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 จำนวน 42 ราย และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือเขตสุขภาพอื่นๆ อีก 19 ราย Isolation ทั้งนี้ สปสช.ขอเป็นตัวแทนประชาชนขอบคุณทีมจิตอาสาที่ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการยกระดับการปฏิบัติการตามแผนเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกวดขันตรวจสอบสถานประกอบการและสถานบริการที่ปรับเป็นร้านอาหารให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 รวมถึงการลักลอบเปิดสถานบันเทิงหรือสถานที่เที่ยวกลางคืนโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือกระทำผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ได้สั่งการทุกสำนักงานเขตดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 50) ซึ่งอนุญาตให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข และผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐาน SHA+ หรือตามมาตรฐาน Thai Stop Covid 2 Plus : TSC 2+ ที่มีความประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าว เพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ต้องได้รับอนุญาตภายในวันที่ 15 ม.ค.2565 ก่อนเปิดให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง