มติสภาไฟเขียว พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ส่อวุ่น!ภท.ขวาง

ส่อวุ่น! ภูมิใจไทยเรียงหน้าค้าน หลังสภามีมติ 312 ต่อ 84 เสียง ไฟเขียวกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ ก่อนส่งวุฒิสภาพิจารณา ชี้ให้อภิสิทธิ์เหนือคนไทยทำเหลื่อมล้ำ หวั่นบานปลายกลายเป็น "เขตปกครองตัวเอง" ลามกระทบความมั่นคง

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล  รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธาน วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  พ.ศ..... ในวาระที่ 2-3 โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย นำโดยนายนิคม บุญวิเศษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ขอสงวนความเห็นให้มีการแก้ไข ตัดข้อความที่ให้งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ออก

ขณะที่ ทั้ง สส.และกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคประชาชน ได้ยืนยันหลักการเดิมในมาตรา 27  และร่วมอภิปรายแก้ไขความเข้าใจผิดของสมาชิกฝ่ายรัฐบาล อาทิ นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุว่า แม้มาตรา 27 จะเป็นหัวใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่สมาชิกกลับยังมีความเข้าใจน้อย และคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้แก้ไขตามที่สมาชิกในสภาได้แนะนำแล้ว แต่ถ้าไม่เขียนอย่างที่กรรมาธิการได้แก้ไข เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ จะเข้าไปทำงานตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ เพราะมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ เป็นโซ่ข้อกลางให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐทำงานร่วมกันตามกฎหมายได้

นายมานพกล่าวว่า ถ้าจะเอา พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติมาบังคับใช้เต็มที่ วันนี้ก็จะต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 10 ล้านคนออกจากป่าทั้งหมด เนื่องจากทุกวันนี้ใช้การผ่อนปรน ดังนั้น กฎหมายนี้จะเป็นโซ่ข้อกลางที่จะลดความขัดแย้ง ถ้าไม่เขียนแบบนี้เจ้าหน้าที่จะทำงานไม่ได้ เป็นโซ่ข้อกลางที่ทำให้ความขัดแย้งกันระหว่างรัฐกับประชาชนยุติลง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับประชาชนได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย  หัวใจคือลดความขัดแย้งสร้างความร่วมมือ คนและป่าอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน

จากนั้นเข้าสู่การลงมติว่าจะให้มีการแก้ไขในมาตรา 27 ตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นการคงหลักการให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ตามเดิมหรือไม่ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ด้วยคะแนน 268 ต่อ 154 เป็นผลให้หลักการของการงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอันตกไป จาก พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว

ต่อมาเวลา 14.30 น. นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กรรมาธิการเสียงข้างมากสัดส่วนพรรคประชาชน พร้อมด้วยกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ ร่วมแถลงข่าว โดยนายศักดิ์ดา แสนมี่ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการโหวตวันนี้ สะท้อนถึงการไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับเจตนารมณ์ของภาคประชาชนหลายประการ อาทิ พื้นที่คุ้มครอง นิยามของชนเผ่าพื้นเมือง ที่เราอยากให้มีการยอมรับตัวตนและส่งเสริมวิถีชีวิตของชาวชาติพันธุ์

ด้านนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ในนามผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ขอคว่ำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งร่าง   พร้อมส่งเสียงไปยังพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคเดียวที่มีมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก  หากร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้คงพิกลพิการ ภาคประชาชนถูกรังแก รัฐมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการกระทำย่ำยีชาวบ้าน จึงขอให้สภาที่พอจะมีจิตวิญญาณเป็นผู้แทนประชาชน คว่ำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

กระทั่งเวลา 17.25 น. ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว วาระ 3 ด้วยคะแนน 312 ต่อ 84 งดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไปจะได้ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาตามกฎหมาย

จากนั้น สส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำโดย น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย, นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และ สส.ของพรรคภูมิใจไทย แถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ภายหลังผ่านวาระ 3 ว่า การลงมติของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้มีการแจ้งมติวิปรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร เพียงแต่ให้แต่ละพรรคการเมืองไปหารือกัน ส่วนสาเหตุที่พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากร่างได้เข้าสู่การพิจารณาของสภามา 2-3 รอบแล้ว มีเนื้อหาที่น่ากังวล อาทิ มาตรา 20 ว่าด้วยเรื่องของตัวแทนสภาฯ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเข้าไปเจรจาด้านต่างๆ เกี่ยวกับชาติพันธุ์

ประเด็นต่อมา ในมาตรา 27, 28, 29 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิทำกินในพื้นที่ต่างๆ เรายังแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้อยคำที่ กมธ.วิสามัญฯ มีการแก้ไขเรากังวล เนื่องจากมีการละเว้นกฎหมายหลายฉบับ แล้วให้เฉพาะพื้นที่ เปรียบเสมือนยกพื้นที่นั้นให้เป็นเขตปกครองตัวเองด้วยซ้ำ ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยมองว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับหลายประเด็นที่เรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยทั่วไปได้

 “พรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าไม่ได้มาแถลงต่อต้าน เราเห็นด้วยในการที่มีกฎหมายคุ้มครองคนไทยทุกคน แต่เราไม่ต้องการให้มีกฎหมายฉบับใดทำให้ใคร หรือคนกลุ่มใดมีสิทธิพิเศษ หรือมีอภิสิทธิ์เหนือคนกลุ่มใด หรือเหนือกว่าคนไทยด้วยกัน โดยการละเว้นกฎหมายที่ต้องบังคับใช้ในแต่ละพื้นที่ เรื่องนี้ไม่ใช่การใช้ชีวิตตามวิถี แต่เป็นเรื่องความมั่นคงด้วย พื้นที่ที่เขาพูดถึงกันเรายอมรับว่ามันอยู่ขอบตะเข็บชายแดนทั้งหมดเลย และยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วมันจะสร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างมาตรฐานอีกแบบให้สังคม เราต้องการให้คนไทยทุกคนได้สิทธิเข้าถึง และเป็นธรรมทุกคนจริงๆ” น.ส.แนน บุณย์ธิดา ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือก‘ณรงค์-อภิชาติ’นั่งกต.คนนอก

ผู้พิพากษาทั่วประเทศเทคะเเนนเลือก “อ.ณรงค์-หมออภิชาติ” นั่ง ก.ต.คนนอก คุ้มครองอิสระการทำหน้าที่ตุลาการ “สมชาย เล่งหลัก” ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาเก้าอี้ สว. ปมถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี  

ลดเบนซิน-ดีเซล1บาท/ลิตร

"กบน." ใจป้ำปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซล 1 บาท/ลิตร เป็นของขวัญให้ประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์