ล้อมคอกม้าลาย เตรียมคลอดกฎ! ขับขี่30กม./ชม.

โฆษก บช.น.เผย "ส.ต.ต.นรวิชญ์" ซิ่งบิ๊กไบค์ 108-128 กม./ชม.ก่อนชน "หมอกระต่าย" เตรียมเรียกแจ้งข้อหาเพิ่ม ขณะที่ ตร.-กทม.เปิดมาตรการล้อมคอก ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรให้ชะลอความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย เหลือ 30 กม./ชม.

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.  และโฆษก บช.น. แถลงความคืบหน้ากรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ผู้ขี่บิ๊กไบค์ยี่ห้อดูคาติ  รุ่นมอนสเตอร์ ทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ชนเข้ากับ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต

เขาเผยว่า หลังกองพิสูจน์หลักฐานกลางเข้าตรวจสอบพื้นที่ทางม้าลาย บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐานความเร็วและข้อมูลทางเทคนิคเพื่อนำไปประกอบสำนวนคดี พบว่าความเร็วในขณะที่ผู้ต้องหาใช้รถจักรยานยนต์แซงรถตู้ อยู่ที่ 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งผิดกฎเพราะเป็นการขับขี่รถเร็วเกินกว่ากำหนด ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะทำการเรียกตัวผู้ต้องหามาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังมีข้อหาขับรถโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน หากเข้าข่ายความผิดดังกล่าว ก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมไปพร้อมกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้ภายในวันที่ 31 มกราคมนี้ ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนสามารถสรุปสำนวนและส่งฟ้องได้ทันตามเวลาที่กำหนด

ส่วนประเด็นการลาราชการเพิ่มเติมของผู้ต้องหา ซึ่งได้ลาแล้วครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา วันนี้ก็ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้ว และต้นสังกัดได้ทำการสอบสวนเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ซึ่งตัวผู้ต้องหาเองได้ทำการลาราชการต่อในวันพรุ่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29-31 มกราคม

ขณะที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ยังมีอาการเครียด ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ได้เดินทางเข้ากองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนมาทำงานตามปกติหลังจากลาบวช และเข้าพบคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ขับขี่รถบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย โดยคณะกรรมการชุดนี้เป็นบุคคลจากกองกำกับอื่น ไม่ใช่ในสังกัดของกองกำกับการอารักขา 1 ที่  ส.ต.ต.นรวิชญ์ทำงานอยู่ เพื่อความโปร่งใสในการสืบสวน โดยจะสืบสวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำข้อมูลจากสำนวนคดีของ สน.พญาไทมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยจะสืบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดภายใน 15 วัน จากกรอบระยะเวลา 60 วัน

ทั้งนี้ ส.ต.ต.นรวิชญ์ได้ยื่นหนังสือลาต่อผู้บังคับบัญชา ขอลากิจส่วนตัวอีก 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 29-31 มกราคม และกลับมาทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมรายงานต่อผู้บังคับบัญชาว่าต้องคดีอาญา ต้องเข้าสู่การกระบวนการสอบสวนในคดี โดย ส.ต.ต.นรวิชญ์มีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด ไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการประชุมหารือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลาย  ระหว่างตำรวจกับ กทม. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตำรวจเตรียมออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร กำหนดชะลอความเร็วเหมาะสมก่อนถึงทางม้าลาย บางจุดอาจให้ใช้ 30 กม.ต่อชั่วโมงก่อนถึง ส่วนบริเวณทางม้าลายก่อนถึงหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ให้ชะลอความเร็วก่อนถึงในระยะ 50 เมตรไม่เกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง ยกเว้นทางม้าลายที่อยู่นอกเมือง ที่มองเห็นได้ในระยะไกล 100 เมตร ให้ใช้ความเร็ว 60 กม.ต่อชั่วโมงได้

ถามว่าการสร้างทางม้าลายในพื้นที่ต่างๆ ใช้ปัจจัยอะไรมากำหนดว่าเหมาะสม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจร่วมกันของแต่ละจังหวัด และตามความประสงค์ของแต่ละจุด ซึ่งทางม้าลายหน้าสถาบันโรคไตฯ เมื่อปี 2558 โรงพยาบาลร้องขอมาที่ กทม. ว่ามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องใช้เดินสัญจรข้ามไปมา และมีการพิจารณาอนุญาตร่วมกันหลายหน่วย ในที่ประชุมวันนี้จึงมีมติยังไม่ยกเลิกทางม้าลายดังกล่าว เนื่องจากมีความจำเป็น แต่จะปรับปรุงให้มีความปลอดภัยสูงสุด และช่วงนี้อาจมีตำรวจไปกวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

รอง ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่สำรวจทางม้าลายที่มีการใช้งานน้อยมาก และเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถป้องกันได้ บางจุดที่อยู่ใกล้สะพานลอย เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงยกเลิกต่อไป

ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ทาง กทม.ได้รับมอบหมายให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนข้ามแบบกดปุ่ม จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์ การติดตั้งกล้อง AI เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายบริเวณทางข้ามดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน รวมไปถึงการทาพื้นสีแดง ขยายความกว้างของทางข้ามให้เห็นได้ชัดเจน จะใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 29-30 มกราคม และวันจันทร์ที่ 31 มกราคม จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง จากการสำรวจพบว่าใน กทม.มีทางม้าลายจำนวน 3,280 แห่ง มีการติดตั้งไฟกะพริบ 1,277 แห่ง ติดตั้งไฟแบบกดปุ่ม 226 จุด และทาพื้นสีแดง 431 แห่ง ยังคงสภาพเดิมอีก 1,934 แห่ง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะดำเนินการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ขอจัดสรรงบประมาณ ติดตั้งไฟสัญญาณทางข้ามแบบกดปุ่ม 100 จุดเสี่ยงในกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน ส่วนจุดที่เหลือจะแก้ไขเบื้องต้นโดยการทาพื้นสีแดงอย่างทั่วถึง

ถามว่าจะมีการทำสะพานลอยคนข้ามบริเวณหน้าสถาบันโรคไตหรือไม่ รองผู้ว่าฯ กทม.ตอบว่า กรุงเทพมหานครคงศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกว่าจะทดแทนได้ดีกว่าหรือไม่ หากดีกว่าทาง กทม.พร้อมทำทันที ในชั้นนี้ยังไม่สามารถตอบได้ทันที ขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง