สภาผวา!คลัสเตอร์ทั่นผู้แทน

ไทยติดเชื้อ​ 8.4 พันราย​ ดับ 12​ คน สภาผวาคลัสเตอร์ ส.ส.! ลามแล้ว 9 ราย ภท. 8 คน-พปชร.อีก 1 "ชวน" สั่งเดินหน้าประชุมต่อ 2-4 ก.พ. พร้อมยกระดับคัดกรองเพิ่มมาตรการสกัดโควิด "หมอโอภาส" ย้ำอยู่ในขั้นเตรียมแผน ยังไม่ประกาศโรคประจำถิ่นเร็วๆ นี้ การันตียังรักษาฟรี สธ.เพิ่มฟังก์ชัน “แชตบอต” ในหมอพร้อมไขข้อข้องใจ ปชช.

เมื่อวันที่​ 30​ มกราคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,477 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,187 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,133 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 54 ราย, มาจากเรือนจำ 21 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 236 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,432,534 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,829 ราย​ ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,325,835 ราย​ อยู่ระหว่างรักษา 84,542 ราย อาการหนัก 546 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 109 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 12 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 6 ราย  ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 92​ ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,157 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มเติมของวันที่ 29 ม.ค. รวม 379,081 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.รวมทั้งสิ้น 114,956,275 โดส สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 30 ม.ค.2565 ได้แก่​ กทม. 1,271 ราย,  สมุทรปราการ 783 ราย, ชลบุรี 408 ราย,  นนทบุรี 403 ราย, ภูเก็ต 360 ราย, ศรีสะเกษ 224 ราย, อุบลราชธานี 216 ราย, ปทุมธานี 174 ราย, นครราชสีมา 166 ราย, สมุทรสาครและนครศรีธรรมราช จำนวนเท่ากัน 162 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแจ้งเวียนภายในหน่วยงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ช่วงค่ำวันที่ 29 ม.ค. ถึงกรณีที่นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ติดเชื้อโควิด-19 ว่า สถานการณ์ดังกล่าวพบว่าเป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน โดยมี ส.ส.ที่แจ้งยืนยันการติดเชื้อแล้ว 9 คน และขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ให้ความร่วมมือสืบสวนโรค ทั้งนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ ได้แจ้งให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้รับทราบแล้ว เบื้องต้นนายชวนให้ดำเนินการประชุมสภาฯ ตามกำหนดเดิมคือวันที่ 2-4 ก.พ.

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ประธานสภาฯ ทราบเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ของ ส.ส.เพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งได้ให้แนวคิดต่อการทำงานของสภาเสมอมาว่า สภาต้องเดินหน้าทำงานได้ภายใต้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงไม่ได้มีคำสั่งให้งดการประชุมในวันที่ 2-4 ก.พ. แต่ขอให้ยกระดับมาตรการป้องกันให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดที่สภากำลังเผชิญหน้าคือ มีการติดเชื้อในกลุ่ม ส.ส. ซึ่งมี ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย 8 คน และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้ประสานไปยังผู้ใหญ่ของทั้งสองพรรคแล้ว ให้ช่วยบริหารจัดการบุคลากรภายในพรรค โดยเฉพาะ ส.ส.ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในวันพุธที่ 2 ก.พ.ซึ่งเป็นวันประชุมวันแรกของสัปดาห์ ขอให้ ส.ส.ทุกคนให้ความร่วมมือในการตรวจ ATK ที่สภาก่อนเข้าประชุมอีกครั้ง

โดยจะมีการยกระดับขึ้น ดังนี้ 1.มีการตรวจ ATK ที่สภาทุกวันราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30-12.00 น. และขอความร่วมมือจาก ส.ส.ให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมประชุมสภาทุกคนด้วย 2.ให้สำนักรักษาความปลอดภัยทำความสะอาดฆ่าเชื้อในทุกพื้นที่ที่ได้สอบสวนแล้วว่า ส.ส.ที่ติดเชื้อเข้าไปใช้ 3.สำนักการประชุมจัดให้ ส.ส.นั่งเว้นระยะห่างในห้องประชุม และทุกคนต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา อนุญาตให้ถอดหน้ากากได้เมื่ออภิปรายในโพเดียมเท่านั้น 4.ควบคุมและกำกับการให้บริการอาหารแก่สมาชิกอย่างเคร่งครัด โดยให้สำนักการคลังและงบประมาณจัดโต๊ะอาหารในห้องรับประทานอาหารสมาชิกโดยรักษาระยะห่าง มีฉากกั้น และบริการให้สมาชิกรับอาหารใส่กล่องไปรับประทานในห้องทำงานของสมาชิกได้

ทั้งนี้ สภาจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะยกระดับมาตรการป้องกันให้สอดคล้องกับการระบาดไปตลอด ส่วนข้าราชการที่สัมผัสใกล้ชิดกับ ส.ส.ที่ติดเชื้อ ก็ได้รับการดูแลตามมาตรการที่เหมาะสม สำหรับข้าราชการส่วนอื่น ขณะนี้ได้ Work From Home ร้อยละ 50 และข้าราชการรัฐสภาและ ส.ส.ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 3 เข็ม โดยเดือน ม.ค.65 ที่ผ่านมา มี ส.ส.ติดเชื้อรวม 12 คน และบุคลากรของสภา 13 คน ซึ่งได้โทรศัพท์ไปสอบถามอาการทุกคน ไม่ปรากฏว่ามีอาการหนักเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ที่ติดเชื้อจำนวน 9 คน แบ่งเป็น ส.ส.ภูมิใจไทย 8 คน ได้แก่ 1.นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ 2.นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี 3.นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ 4.นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ส.ส.ระนอง 5.นายอำนาจ วิลาวัลย์ ส.ส.ปราจีนบุรี 6.นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี 7.นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.สตูล 8.นายธนยศ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย และมี ส.ส.พลังประชารัฐ 1 คน คือนายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ

ด้านนายศุภชัย​ ใจสมุทร​ นายทะเบียน​พรรคภูมิใจ​ไทย​ กล่าวถึงกรณีมี ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยติดโควิด-19 จำนวน 8 คนว่า ได้หารือกับ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า​ขณะนี้มีจำนวน ส.ส.ที่ติดเชื้อโควิด-19 เท่าเดิม​ ส่วน ส.ส.คนอื่นอยู่ระหว่างกักตัวและสังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน​ จนถึงวันพุธที่ 2 ก.พ. พร้อมตรวจ ATK ทุกวัน​ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีติดเชื้อเพิ่ม​ ทั้งนี้​ ในวันอังคารที่ 1 ก.พ. พรรคภูมิใจ​ไทยจะจัดประชุม​ ส.ส.ผ่านระบบซูม​ เพื่อประเมินสถานการณ์​อีกครั้ง​ ส่วนจะเสนอให้ทางสภาเลื่อนจัดประชุมหรือไม่​​ ต้องรอพิจารณา​หลังประชุมพรรคก่อน

วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงทิศทางและแนวทางการทำให้โรคโควิด-19 ในประเทศไทยเข้าสู่โรคประจำถิ่นว่า หลายคนอาจจะมีความเข้าใจ ทั้งนี้ สธ.เน้นย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแผนการดำเนินงานภายในปีนี้ เนื่องจากโรคโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกมานานกว่า 2 ปี ซึ่งไม่เคยมีโรคระบาดใดที่ระบาดยาวนานขนาดนี้มาก่อน ทั้งนี้ การเป็นโรคประจำถิ่นไม่ใช่ว่าโรคนั้นจะหายไป เพียงแต่เป็นโรคที่พบได้ตามปกติ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่มีความใกล้เคียงโควิด-19 มากที่สุด ฉะนั้นโรคจะอยู่กับเรา เราต้องอยู่กับโรค ซึ่งจะมีการชี้แจงให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป

"ย้ำว่าเราไม่ได้จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเร็วๆ นี้ แต่ต้องวางเป้าหมายเพื่อวางเกณฑ์ ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลว่าหากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะไม่รักษาให้ฟรี ต้องย้ำว่าทุกคนมีสิทธิรับการรักษาฟรีอยู่แล้ว และการนำโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นเพื่อให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ โรงเรียนเปิดตามปกติ คนทำมาหากินได้ เราต้องเลิกกลัว เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกับโรคให้ได้ อยู่กับโรคให้ได้ เพื่อให้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด เพราะเราปิดตัวเองตลอดไม่ได้" อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า ขณะนี้หมอพร้อมได้เพิ่มฟังก์ชัน “แชตบอต” โดยเริ่มทดสอบระบบเพื่อการใช้งานเมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 โดยแชตบอตจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนโควิด-19 เช่น อาการและผลข้างเคียง การรับวัคซีนเข็ม 3 เป็นต้น ทั้งนี้ ระบบมีการรวบรวมคำสำคัญ (key word) มากกว่า 1,000 คำ รวมคำถามประมาณ 150 ข้อ ซึ่งเป็นคำถามที่พบบ่อย เชื่อว่าจะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง