มท.1ปัดยื้อเวลา พ.ค.หย่อนบัตร เลือกผู้ว่าฯกทม.

รมว.มหาดไทยแจงกระทู้สด ส.ว. จ่อชง ครม.เคาะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-นายกเมืองพัทยา มี.ค.นี้ คาด พ.ค.เข้าคูหาพร้อมกัน ยันทุกอย่างมีขั้นมีตอนต้องทำตามกฎหมาย ปัดยื้อเวลาไม่มีลับลมคมใน

ที่รัฐสภา วันที่ 31 มกราคม ในการประชุมวุฒิสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาต่อ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม. ) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร  (ส.ก.) ว่า ที่ตนต้องตั้งกระทู้ถามด้วยวาจานี้เพื่อสอบถามรัฐบาล เพราะแม้แต่รองนายกรัฐมนตรีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังสงสัยว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ยังงึมงำ มีลับลมคมในเหมือนมีอะไรซ่อนเร้น การพูดจาลักษณะอย่างนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาล และก่อให้เกิดความสับสนต่อคน กทม.

นายวันชัยกล่าวว่า  ตนหวังว่าคำตอบในวันนี้จะเกิดความชัดเจนต่อคน กทม. ซึ่ง ส.ส.ใน กทม.ทุกเขตก็มีการเลือกตั้งไปแล้วและเห็นว่ามีความเรียบร้อย โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่เขตหลักสี่-จตุจักรก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แปลว่ามีการเลือกตั้งได้ ที่ผ่านมาเมื่อหมดวาระก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บทเฉพาะกาลกำหนดว่าหากจะมีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึง กทม.และพัทยา ต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ประกาศกำหนด ซึ่งจะเห็นว่า อบต., อบจ.และเทศบาลก็ได้มีการจัดเลือกตั้งไปแล้วหลายจังหวัด ทั้งจังหวัดรอบๆ  กทม. อาทิ นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และ ส.ส.หลายจังหวัดก็จัดให้มีการเลือกตั้งไปแล้วเช่นกัน 

"กทม.เป็นเมืองหลวงมีประชากรและมีปัญหามากกว่าจังหวัดอื่น  เชื่อว่ามีความตื่นตัวทางการเมืองมากด้วย จากสถานการณ์รอบๆ คน กทม.รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ อยากให้มีการเลือกตั้งจนประกาศตัวไปหลายพรรคแล้ว ถามว่ารัฐบาลรออะไร มีเหตุผลอะไรพิเศษหรือไม่จึงยังไม่ประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะไม่อยากให้ใครมากล่าวหารัฐบาล ว่ากำลังคิดจะส่งใครลงแล้วจะเอาเปรียบเขาหรือไม่  พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลเล่นเงื่อนซ่อนกลอะไรหรือไม่ จึงขอให้รัฐบาลตอบให้ชัดเจน" นายวันชัยกล่าว

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีว่า การเลือกตั้ง อปท.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าจะมีการเลือกตั้ง อปท.รูปแบบใดให้ ครม.เป็นผู้กำหนด หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ โดยกระทรวงมหาดไทยและ กกต.ได้หารือเรื่องความพร้อม ทั้งเรื่องการประกาศจำนวนราษฎร ถ้าเป็นบางรูปแบบจะต้องรวมหมู่บ้านและจัดเตรียมงบประมาณ และนำเรื่องเข้า ครม.เพื่อกำหนดว่าจะกำหนดเลือกตั้ง อปท.รูปแบบใด ซึ่งที่ผ่านมีการเลือกตั้ง อบจ. จากนั้นเลือกตั้งเทศบาลและ อบต.เรียบร้อย คงเหลือ กทม.และพัทยาในขณะนี้ โดยกำลังประสานงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับ กกต.อยู่  

"ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยสำนักทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 ปกติจะประกาศวันที่ 31 มี.ค. โดยลงราชกิจจานุเบกษาเรียบแล้วเมื่อวันที่ 18 ม.ค.65 เราได้เตรียมการเรื่องราษฎรที่จำเป็นต้องนำไปใช้แบ่งเขตจำนวนสมาชิกของ อปท. เขาไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่กำลังดำเนินการกันอยู่เพื่อให้พร้อมเลือกตั้งได้ ไม่ได้มีลับลมคมในอะไร"

รมว.มหาดไทยกล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องงบประมาณเตรียมพร้อมแล้ว คาดว่าหลังวันที่ 21 ก.พ.เป็นต้นไป กระทรวงมหาดไทยและ กกต.จะหารือร่วมกันเพื่อนำเข้า ครม.ในช่วงต้น มี.ค. จากนั้น ครม.จะมีมติอย่างไร สัปดาห์ถัดไปจะแจ้ง กกต.ให้ประกาศ เบื้องต้นที่คาดการณ์ได้คือปลายเดือน มี.ค.จะทราบว่า กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันใด ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พร้อมกับนายกเมืองพัทยา หรือแยกกันนั้นต้องขึ้นอยู่กับมติ ครม. ตนตอบแทนไม่ได้

 “หลังจากที่มีมติ ครม.ต้องประกาศ และหลังจากประกาศเลือกตั้งต้องจัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในเดือน พ.ค.จะเหมาะสม เพราะไม่ติดวันหยุดสงกรานต์หรือเทศกาลของบางศาสนา  อย่างไรก็ตามการทำงานมีขั้นมีตอน ไม่ได้นิ่งเฉย ไม่ได้ยื้อ และทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับการมีเงื่อนงำหรือการดึงการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองใด ทั้งนี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.คาดว่าจะจัดไปในคราวเดียวกัน ส่วน กทม.และพัทยาไม่มีปัญหาซ้ำซ้อนหรือปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ดังนั้นการหารือจะเสนอให้จัดการเลือกตั้งไปพร้อมกัน” พล.อ.อนุพงศ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง