กระเตงอยู่ครบ4ปี ‘อนุทิน’มั่นใจมี260เสียง เมินตั้งวอร์รูมศึกซักฟอก

"อนุทิน-ภูมิใจไทย" ลั่นกลางทำเนียบฯ "บิ๊กตู่" มีทางเลือกเดียวต้องอยู่ครบเทอม อาสาอุ้มนายกฯ ลุยไฟศึกซักฟอกกลางปีนี้ กางโพยตัวเลข ส.ส.รัฐบาล การันตีหาได้ 260 เสียง รบ.หยามฝ่ายค้าน ไม่ตั้งวอร์รูมชนศึกอภิปรายทั่วไปฯ โพลตบหน้าสภาอับปาง ชี้เป็นเกมการเมืองจ้องล้มประยุทธ์ จี้ ส.ส.รัฐบาลรับผิดชอบ 

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ ที่จะมีการประชุมสภาฯ ตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน 173 คนเข้าชื่อกันเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลในประเด็นต่างๆ เช่น ความผิดพลาดในการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

โดยเมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการรับมือฝ่ายค้านไว้ว่า ฝ่ายค้านไม่มีราคา​ ไม่มีประเด็นอะไรที่มีราคาพอที่จะต้องห่วง และเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีจะสามารถตอบคำถามได้ทุกเรื่อง ซึ่งการตอบคำถามจะทำให้เคลียร์และชัดเจน แล้ว ครั้งนี้เป็นการอภิปรายปัญหาและข้อเสนอแนะ ไม่ได้มีการลงมติ จึงไม่ต้องห่วงอะไร ทุกอย่างไม่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางพรรค พปชร.ไม่ได้มีการหารือเรื่องตั้งทีมองครักษ์พิทักษ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเลยใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ใช่ มันไม่จำเป็น ไม่ได้ให้ราคากับฝ่ายค้าน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีการตั้งวอร์รูม  เชื่อว่ารัฐมนตรีในส่วนของพรรคชี้แจงได้  โดยแต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบจะมีคณะทำงานเพื่อเตรียมข้อมูลและติดตามการอภิปราย

ที่น่าสนใจ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการพูดคุยระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี​และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เปรยว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่นายกฯ มีทางเลือกไม่มาก โดยนายอนุทินกล่าวสวนขึ้นมาว่า "ท่านนายกฯ มีทางเลือกเดียวคืออยู่ครบเทอม และไม่ต้องห่วงจำนวน ส.ส.ในสภา หากมีการซักฟอกฝ่ายค้านจะรวมเสียงได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และเสียงสนับสนุนนายกฯ มั่นใจว่าจะสามารถหาได้ไม่น้อยกว่า 260 เสียงอย่างแน่นอน" รายงานข่าวระบุ

มีรายงานด้วยว่า วงหารือดังกล่าว หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้นำกระดาษที่มีการจดจำนวน ส.ส.ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่พกติดตัวออกมาแสดงให้นายกฯดูด้วยว่าจำนวน 260 เสียงมาจากส่วนใดบ้าง โดยไม่ได้นับรวมกับเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งแยกตัวออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้ การบริหารเสียงในสภาของพรรคภูมิใจไทยเคยมีผลงานให้เห็นแล้วในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน ก.ย.64 ที่ผ่านมา ที่สามารถหาเสียงสนับสนุนให้กับนายอนุทินและนายศักดิ์สยามมากที่สุดจำนวนถึง 269 เสียงมาแล้ว

สำหรับจำนวนเสียง ส.ส.ในสภา ปัจจุบันที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ขณะนี้มีทั้งหมด 475 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 267 คน ฝ่ายค้าน 208 เสียง เสียงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมสภาคือ 238 เสียง เมื่อหัก ส.ส.เศรษฐกิจไทย และ 3 ส.ส.พลังประชารัฐเดิมที่ถูกขับออกแต่ยังไม่สังกัดพรรคใหม่ เช่น นายเอกราช ช่างเหลา นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ออกไป 21 เสียง ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเหลือเสียงในสภา 246 เสียง เกินองค์ประชุมไม่ถึง 10 เสียง ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านสภาล่มหลายครั้ง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ เพราะฝ่ายค้านใช้กลยุทธ์ไม่ร่วมแสดงตน

นายประภัตร​ โพธสุธน​ รมช.เกษตรและสหกรณ์​ ในฐานะเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา​ ให้สัมภาษณ์ถึงเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาล​หลังเกิดสภาล่มบ่อยครั้งว่า เรื่องสภาล่ม เรื่องนับประชุม เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ไม่มีใครอยากให้สภาล่ม แต่ฝ่ายค้านเองอาจจะอยากประลองกำลังจริงๆ ส่วนวันพฤหัสบดีเป็นการตอบกระทู้ ไม่เคยมีการนับองค์ประชุม ส.ส.ส่วนใหญ่จึงซื้อตั๋วเครื่องบินกลับบ้าน เพราะคิดว่าไม่มีอะไร ฉะนั้นการที่เสียงขาดไป 10 คน ไม่ได้มีเจตนาจะขาด เพราะถ้ามีเจตนาจะเบี้ยว​ จะขาดมากกว่านี้

"ส่วนเรื่องที่ถามกันมากว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาอะไรกันหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่มี เพราะไม่มีใครอยากจะให้ยุบสภา อันนี้ผมกล้าท้าได้ในฐานะผู้อาวุโสทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งนั้น มันยากและลำบาก และการแก้ไขปัญหาช่วงนี้ยิ่งจะต้องช่วยกันแก้ปัญหา ดังนั้น ถ้าคิดว่าจะมีการยุบสภา ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย ชาวบ้านลำบากไปอีกอย่างน้อย 1 ปี กว่าจะมีการเลือกตั้ง กว่าจะมีรัฐบาล ทุกอย่างจะนิ่งหมด ปัญหาต่างๆ ทั้งราคาพืชผลการเกษตร ราคาข้าวของแพง ซึ่งเรื่องของแพงยอมรับว่ามันแพงตามกระแส แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่านายกฯ และรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะพยายามทำทุกวิถีทาง โดยเฉพาะเรื่องที่ทุกคนบอกว่าดี นายกฯ ก็รับฟังแก้ไขให้" นายประภัตรบอก

นายประภัตรยังกล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติตาม​มาตรา​ 152  ในวันที่​ 17-18​ ก.พ.ว่า เป็นธรรมดาที่ฝ่ายค้านจำเป็นจะต้องรุกไล่ หาจุดอ่อนของรัฐบาล เพื่อจะผสมผสานกับเรื่องที่ทำให้เกิดการเลือกตั้ง แต่ข้อมูลที่ฝ่ายค้านจะพูดนั้น นายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนเต็มใจที่จะตอบ เพราะเป็นโอกาสเดียวที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึง ส่วนตัวคิดว่าดี ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่างกรณีเรื่องที่จะถูกอภิปรายเรื่องโรคลัมปีสกิน ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดการจ่ายเงินเยียวยาจึงล่าช้านั้น จะได้ชี้แจงให้เห็นว่า ขั้นตอนเป็นอย่างไร ยืนยันว่ากรมปศุสัตว์ติดตามให้อยู่ตลอด

เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวของพรรคเศรษฐกิจ​ไทยจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่​ นายประภัตร​กล่าวว่า เท่าที่ได้สัมผัสกับพรรคเศรษฐกิจไทย เขาบอกว่ายังยินดีสนับสนุนรัฐบาลอยู่ ไม่เห็นมีอะไร อย่างการนับองค์ประชุมคราวก่อนเขาก็สนับสนุนรัฐบาล

เมื่อถามว่า​ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าพรรคเศรษฐกิจไทยจะต่อรองขอเก้าอี้​รัฐมนตรีของพรรคชาติไทยพัฒนา​ นายประภัตรกล่าวว่า ​ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับเรา แต่เรื่องการปรับ ครม. อยู่ที่นายกฯ และต้องย้อนกลับไปด้วยว่าเราไม่ได้มาแบบเขาให้มา เพราะตอนตั้งรัฐบาลเสียงมีไม่พอ ตอนนั้นพรรคชาติไทยพัฒนามีส.ส.กว่า 10 คน นายกฯ เลยให้กำลังใจมา อีกทั้งเราทำงานไม่แพ้พรรคอื่น รัฐมนตรี 2 คนทำงานไม่หยุดเลย

เมื่อถามย้ำว่า หากเขาจะมาขอโควตาคืนจะทำอย่างไร นายประภัตรหัวเราะพร้อมกล่าวว่า ก็ต้องมาคุยกัน แต่ตอนนี้คิดว่าทุกคนรู้แล้วว่าสถานการณ์ที่จะต้องช่วยกัน เรื่องที่จะมาขัดกัน ไม่มีใครอยากทำ บอกตรงๆ เพราะอยู่กันปีที่ 3 แล้ว ถ้ามันแตก มันต้องไปนานแล้ว

นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่อ้างว่าเป็นหัวหน้าทีมกลุ่ม 16 กล่าวว่า กลุ่ม 16 จะมีส.ส.มากกว่าหรือน้อยกว่า 16 คนไม่ใช่เรื่องสำคัญ มั่นใจจะสร้างความกดดันให้รัฐบาลได้ จำนวนคนเป็นเรื่องเล็ก ยืนยันการเคลื่อนไหวของกลุ่มไม่มีข้อต่อรองผลประโยชน์ใดๆ หรือเรียกร้องกล้วย ไม่ใช่การเคลมตัวเลข หรือตั้งกลุ่มกำมะลอ

นายพิเชษฐกล่าวว่า ส่วนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในเดือน พ.ค.นี้ ส.ส.กลุ่ม 16 จะลงมติไม่โหวตให้กับรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ต้องรอฟังคำชี้แจงของแต่ละคนก่อน ถ้าข้อมูลฝ่ายค้านมีหลักฐานชัดเจนถึงการทำให้ประเทศเสียหาย รัฐบาลตอบไม่ได้ กลุ่ม 16 ก็คงยกมือไว้วางใจให้ไม่ได้ แม้จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐก็พร้อมสวนมติพรรค จะไม่ยกมือให้ ถ้ารัฐมนตรีตอบคำถามไม่ได้ ถ้าไปตะแบงยกมือไว้วางใจ ก็ไม่ควรมาเป็นผู้แทนฯ

วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล (NIDA Poll) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่องสภาล่ม ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ.2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคล/กลุ่ม ที่ควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สภาล่ม ผลสำรวจร้อยละ 43.44 ระบุว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ร้อยละ 42.37 ระบุว่ารัฐบาล และร้อยละ 37.94 ระบุว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน,  ร้อยละ 32.60 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ร้อยละ 14.66 ระบุว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ร้อยละ 12.60 ระบุว่านายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล, ร้อยละ 11.83 ระบุว่านายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน, ร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ควรมีใครต้องรับผิดชอบ, ร้อยละ 7.10 ระบุว่าเฉยๆ, ไม่ตอบ, ไม่สนใจ    

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาล่ม ร้อยละ 49.85 ระบุว่าเป็นเกมการเมืองของกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล, ร้อยละ 31.98 ระบุว่ามี ส.ส.จำนวนหนึ่งไร้สามัญสำนึกในการทำหน้าที่ภายในรัฐสภา, ร้อยละ 16.03 ระบุว่าวิปรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 11.91 ระบุว่ามี ส.ส.จำนวนหนึ่งขี้เกียจสันหลังยาว, ร้อยละ 8.17 ระบุว่ารัฐบาลต้องการเตะถ่วงกฎหมาย, ร้อยละ 4.89 ระบุว่าวาระการประชุมไม่ดึงดูดใจให้เข้าประชุม, ร้อยละ 4.35 ระบุว่าวิปฝ่ายค้านไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 2.82 ระบุว่าสภาล่มเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีใครอยากให้เกิด,  ร้อยละ 2.29 ระบุว่า ส.ส.จำนวนหนึ่งมีภาระหน้าที่อื่นที่สำคัญกว่าต้องทำ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อวิธีแก้ไขปัญหาเหตุการณ์สภาล่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 30.15 ระบุว่าลงโทษตัดเงินเดือน สวัสดิการ ส.ส.ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น, ร้อยละ 22.82 ระบุว่าลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส.ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น, ร้อยละ 22.29 ระบุว่าลงโทษไล่ออกจากตำแหน่ง ส.ส. ในกรณีที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น, ร้อยละ 17.71 ระบุว่าลงโทษปรับเงิน ส.ส. ทุกครั้งที่ไม่เข้าร่วมประชุม, ร้อยละ 16.03 ระบุว่าลงโทษประจานชื่อผู้ขาดประชุมสภาต่อสาธารณะ, ร้อยละ 14.20 ระบุว่า ลงโทษยุบพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนด, ร้อยละ 12.60 ระบุว่าไม่มีวิธีใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และร้อยละ 2.98 ระบุว่าเฉยๆ, ไม่ตอบ, ไม่สนใจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง