โควิดทะลุ2.1หมื่น/สภาวุ่น!

โควิดระลอก 4 น่าห่วง ติดเชื้อรายใหม่นิวไฮทะลุ 2.1 หมื่นราย เสียชีวิตขยับ 39 ราย "บิ๊กตู่" ถก ศบค.ชุดใหญ่ สั่ง กทม.เร่งเสริมเตียง CI อีก 900 เตียง ปรับลดค่ารักษาผู้ป่วยโควิดต่อหัวทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน พร้อมผุดมาตรการ School Isolation เปิดเรียนได้แม้มีคนติดเชื้อ ไฟเขียวลดตรวจ RT-PCR นักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือแค่เดย์ 0 เดย์ 5 ใช้ ATK "อนุทิน" ยันยูเซปไม่เลิก แค่เลื่อนทำความเข้าใจ ปชช. สภาวุ่น ส.ส.ติดเชื้อเพิ่มอีก 2 ราย

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 23 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 4/2565 เพื่อติดตามภาพรวมสถานการณ์โควิด-19

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า มีการรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,232 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,904 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 20,839 ราย ค้นหาเชิงรุก 65 ราย เรือนจำ 160 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 168 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,770,793 ราย หายป่วยเพิ่ม 16,662 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,574,458 ราย อยู่ระหว่างรักษา 173,605 ราย อาการหนัก 882 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 229 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 39 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 19 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 31 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,730 ราย สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 427,884,735 ราย เสียชีวิตสะสม 5,923,005 ราย  

ทั้งนี้ ภาพรวมการครองเตียงในประเทศ มีการใช้เตียงสีเขียวไป 82,523 คิดเป็น 55.7%, สีเหลือง ระดับ 1 ใช้ไป 4,882 เตียง คิดเป็น 20.1%, สีเหลืองระดับ 2 ใช้ไป 676 เตียง คิดเป็น 12.1%,  สีแดง ใช้ไป 402 เตียง คิดเป็น 18.6% โดยเราต้องเอาเตียงไว้ให้กับผู้ป่วยวิกฤตหนักให้คนที่อาการไม่หนักไปอยู่ CI (Community Isolation คือการกักตัวในชุมชน) และ HI (Home Isolation คือรักษาตัวที่บ้าน) สำหรับ CI ใน กทม. ถือว่ามีความสำคัญ โดยผู้ว่าฯ กทม.รายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ยังมี CI ใน กทม.เหลือ 2,000 เตียง และจะมีการเปิดเพิ่มอีก 900 เตียง 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีการรายงานการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับโควิด-19 โดยในปี 63 กรมบัญชีกลางใช้งบไป 232.19 ล้านบาท ประกันสังคมใช้ไป 306.87 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้ไป 3,302.09 ล้านบาท รวม 3,841.15 ล้านบาท ในปี 64 กรมบัญชีกลางใช้ไป 36,652.97 ล้านบาท ประกันสังคมใช้ไป 42,917.39 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้ไป 51,177.58 ล้านบาท รวม 97,747.94 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 ในส่วนของหลักประกันสุขภาพ มีการวางงบไว้ 32,488 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบเพิ่มเติม

สำหรับค่าเฉลี่ยการจ่ายค่ารักษาโควิด-19 แบ่งตามอาการ ในปี 65 จะมีการปรับราคาลงจากเดิมผู้ป่วยสีเขียวมีประมาณค่าใช้จ่ายต่อรายในโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ 23,248 บาท เอกชน 50,236 บาท จะเสนอปรับลดให้เหลือ 12,000 บาท สีเหลือง โรงพยาบาลของรัฐ 81,844 บาท เอกชน 92,752 บาท เสนอปรับให้เหลือ 69,300 บาท สีแดง โรงพยาบาลรัฐ 252,182 บาท เอกชน 375,428 บาท จะปรับให้เหลือ 214,400 บาท 

"หากไปดูสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับยูเซปโควิด-19 แยกเป็นรายสี พบว่าใช้ในส่วนของผู้ป่วยสีเขียว 88%, สีเหลือง 11%, สีแดง 1% ข้อเท็จจริงในส่วนของยูเซปนี้ควรให้น้ำหนักสีเหลือง สีแดง มากกว่าสีเขียว โดย ผอ.ศบค.แจ้งว่าเราจะยังใช้เกณฑ์เดิมอยู่ หากจะมีการปรับ ขอให้ปรับในเกณฑ์ที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ซึ่งเลขาธิการ สปสช.กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบอยู่" นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

ปรับตรวจ RT-PCR นทท.

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมยังรายงานสถานการณ์ติดเชื้อโควิดในเด็กอายุ 0-19 ปี ว่ามีผู้ติดเชื้อ 21.9% และผู้ป่วยหนักก็มีน้อย ส่วนการปิดโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมา พบโรงเรียนที่มีผู้ติดเชื้อ 1 คนขึ้นไป มีการปิดโรงเรียนไปถึง 27.8% โรงเรียนที่มีการติดเชื้อมากกว่า 1 ห้อง ปิดเรียนถึง 55.7% โรงเรียนที่มีผู้ติดเชื้อในโรงเรียนใกล้เคียง มีการปิดโรงเรียนไปถึง 9% ถือว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงมีการเสนอมาตรการเปิดเรียนออนไซต์อยู่ได้กับโควิด-19 โดยกรณีนักเรียนมีความเสี่ยงและติดเชื้อในสถานศึกษา ส่วนโรงเรียนประจำกรณีที่นักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้เสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซต์ปกติ สังเกตอาการและประเมินความเสี่ยง กรณีนักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้เสี่ยงสูง ให้จัดการเรียนการสอนในควอรันทีนโซน ขณะที่โรงเรียนแบบไปกลับเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซต์ปกติ เสี่ยงสูงให้แยกกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน กรณีนักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้เสี่ยงสูง ให้จัดการเรียนการสอนในควอรันทีนโซน จัดการตรวจคัดกรองหาเชื้อ และหากนักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อให้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขจัดทำ School Isolation และให้จัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม กำกับติดตามมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุด 

"แผนการให้บริการวัคซีน ศบค.กำลังจัดให้บริการนักเรียนที่อยู่ในวัยเรียนที่เปิดออนไซต์ และใกล้ปิดเทอมแล้วก็ขอให้เร่งพาเด็กๆ มาฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมการเปิดเทอมในช่วงถัดไป ขณะนี้มีผู้ปกครองต้องการวัคซีนต่างแบบต่างชนิดกัน ทาง สธ.ได้นำเสนอทางเลือกให้หลายสูตร ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุพบข้อมูลผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 666 คน หรือ 82% ของผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด เมื่อดูประวัติการฉีดวัคซีนพบว่า 58.2% หรือ 387 คนไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนเลย ที่ประชุม ศบค. จึงพบว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในความเสี่ยงสูงมากที่จะเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยให้อัตราการเสียชีวิตลดลง" โฆษก ศบค.กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปรับมาตรการการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยจากเดิมที่ต้องตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ในเดย์ 0 และเดย์ 5 นั้น ปรับเป็นตรวจ RT-PCR ในเดย์ 0 ส่วน เดย์ 5 ให้ตรวจ ATK ขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อส่งผลการตรวจ เรื่องประกันภัยสุขภาพที่จากเดิม 50,000 เหรียญสหรัฐ ขอปรับเป็นไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ 

"นายกฯ ฝากขอบคุณผู้ที่ทำงานหนักมากในขณะนี้คือคอลเซ็นเตอร์ นายกฯ ได้กรุณาโทรศัพท์ไปเอง จึงได้ทราบว่าทำงานกันอย่างหนัก และให้กำลังใจกับทุกคน ขอบคุณแม้กระทั่งผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคมที่ได้ไปช่วยกับทีมงานของภาครัฐที่ดูแลผู้ป่วย และผู้ที่รอคอยการดูแลที่อยู่ตามบ้าน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่ประชุมมีมติปรับลดวงเงินประกันนักท่องเที่ยวเป็น 20,000 เหรียญสหรัฐ ถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเที่ยวในบ้านเราง่ายขึ้น และตอนนี้ผู้ที่ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศถือว่ามีอัตราหนึ่งต่อพัน ซึ่งน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศมากกว่า ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค.65

"ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นนั้น ขอให้พวกเราปรับพฤติกรรมให้มากที่สุด และขอฉีดวัคซีนให้มากๆ และปาร์ตี้ให้น้อยๆ หลีกเลี่ยงอยู่กับผู้คนในสถานที่แออัด เพราะถ้าจะกดให้เป็นศูนย์จะต้องล็อกดาวน์ แต่ของเราเลยจุดนั้นมาแล้ว และเชื้อก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนตอนแรก" นายอนุทินกล่าว

ถามว่าที่ประชุม ศบค.ได้พูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อในขณะนี้ตัวเลขจริงคูณ 5 เท่าไปอีก รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มี ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็รายงานตามจริง เรามีมาตรฐานอยู่แล้ว เราปิดไม่ได้เรื่องนี้ ข้อมูลไม่ได้มาจาก สธ.ที่เดียว มีหน่วยงานอื่นๆ ยืนยันด้วยฉะนั้นปิดไม่ได้ที่เห็นอยู่ของจริงทั้งนั้น

สภาวุ่น ส.ส.ติดโควิดเพิ่ม

นายอนุทินกล่าวถึงมติ ครม.ชะลอคำสั่ง สธ.ให้ยกเลิกยูเซปออกไปก่อนว่า เป็นเพราะเราต้องการรักษาระบบความมั่นคงของสาธารณสุขให้มั่นใจ เพราะการที่มีคนติดเชื้อในแต่ละวันมากขึ้น ก็ยิ่งต้องให้เกิดความมั่นใจว่าถ้าจะต้องการเตียงหรือต้องการไปโรงพยาบาลเรามีพร้อม ซึ่งขอยืนยัน ครม.ไม่มีการตีตกหรือตีกลับ อย่าไปเข้าใจผิด ไม่ได้ยกเลิกข้อเสนอทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ขอให้ไปพิจารณาทำความเข้าใจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจก่อน

เช่นเดียวกับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ยืนยันถึงการปรับรูปแบบยูเซปเหตุผลหลักๆ เป็นเรื่องเตียง ช่วงแรกเรายังไม่รู้จักโควิดจึงประกาศให้เป็นยูเซปโควิด หากมีการติดเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปตามสิทธิ ทั้งที่คนไทยร้อยละ 99 ต่างก็มีสิทธิรักษาต่างๆ อยู่แล้ว ขณะนี้ล่วงเลยมา 2 ปีกว่าความรุนแรงของโรคลดลง และเจ็บป่วยร้ายแรงลดลง ตอนนี้ใช้เตียงร้อยละ 50 เป็นเตียงเขียวเสียส่วนใหญ่ ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและผู้ป่วยสีแดงใช้ไม่ถึงร้อยละ 20 จึงคิดว่าเตียงเพียงพอ การปรับและต่อให้มีการปรับรูปแบบจริง ผู้ป่วยสีเหลืองและผู้ป่วยสีแดงก็ยังจะได้รับสิทธิอยู่

 "ยืนยันการทบทวนครั้งนี้ไม่มีเหตุผลเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นแผนที่เราจะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งในต่างประเทศได้ประกาศไปเยอะแล้ว" ปลัด สธ.กล่าว

มีรายงานว่า ระหว่างการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกจากห้องประชุมเดินทางกลับทันที หลังจากได้รับทราบข่าวนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. มีผลตัวเชื้อโควิดเป็นบวก จากนั้นได้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR โดยมีผลเป็นลบไม่พบเชื้อ แต่หลังจากนี้จะกักตัวตามมาตรการสาธารณสุขต่อไป

ก่อนหน้านั้น พล.ต.อ.อัศวินให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมการเตรียมสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นว่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา จำนวนเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใน กทม.อยู่ที่ประมาณ 3,000 คน พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาให้เพิ่มศูนย์รองรับ ซึ่งขณะนี้สมมุติว่าศูนย์พักคอยที่มี 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ จึงให้ไปเพิ่มเพื่อรองรับให้ได้อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทดแทนส่วนที่ใช้ไป ยืนยันว่าศูนย์พักคอยมีพอแน่นอน แต่ส่วนของโรงพยาบาลค่อนข้างเหลือน้อย แต่ยังไม่น่าหนักใจเนื่องจากเป็นผู้ป่วยสีเขียวจำนวนมากมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็ต้องตรวจตลอดเพื่อความไม่ประมาท

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ช่วงหนึ่งได้กำชับระหว่างการเป็นประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ขอให้สมาชิกที่ร่วมประชุมทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด หลังล่าสุดพบว่ามี ส.ส.ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 1 คน และในวันที่ 24-25 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ซึ่งภายในห้องประชุมจะอนุญาตให้สมาชิกเปิดหน้ากากอนามัยได้เฉพาะในช่วงเวลาที่อภิปรายและต้องอยู่ภายในฉากกั้นใสที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้มี ส.ส.ติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย คือ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย  และนายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี พรรคภูมิใจไทย ซึ่งแม้จะมี ส.ส. ติดเพิ่ม 2 คน แต่จะยังเดินหน้าประชุมร่วมรัฐสภา โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กำชับให้ตนกำชับสำนักการแพทย์ให้ผู้ที่เข้ามาสภาตรวจ ATK ให้ทั่วถึง

"ขณะนี้ถือว่าสภาได้ยกระดับมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด แต่ยอมรับว่ากังวลในเรื่องของการเว้นระยะห่าง ซึ่งได้ย้ำกับสมาชิกให้ระวัง แต่ยอมรับว่าบางครั้งก็อาจเผลอ จึงได้พยายามย้ำเตือนตลอดการประชุม" นพ.สุกิจกล่าว

มีรายงานข่าวว่า  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งสมาชิกและเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และหลายคนต้องเข้ากักตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดรัฐสภาได้เข้าทำความสะอาดบริเวณห้องสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ภายหลังพบผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดคัดกรองตรวจเชื้อทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้