ผ่านพรป.เลือกตั้ง4ฉบับ ไม่กลับไปใช้บัตรใบเดียว

สภาถก กม.ลูกวันแรก ผ่านฉลุยร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 4 ฉบับ ตั้ง 49 กมธ.วิสามัญฯ พิจารณา ให้เวลาแปรญัตติ 15 วัน นัดประชุมนัดแรก 1 มี.ค. หลังฝ่ายค้านชงแบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์เดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลเสนอคนละเบอร์ “ชินวรณ์” ย้ำกลับไปใช้บัตรใบเดียวเกิดปัญหาแน่ “วันชัย” จี้ กกต.ตรวจเข้มโกงเลือกตั้ง “หมอระวี” ชงซื้อเสียงเกิน 3 เขตถูกยุบพรรค “ส.ว.” ยันได้หมดใบเดียวหรือสองใบ ขอแค่เลือกตั้งสุจริต

ที่รัฐสภา วันที่ 24 ก.พ. เวลา 09.50 น.  ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 4 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จำนวน 6 ฉบับ โดยที่ประชุมเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้ง ส.ส. เป็นลำดับแรก

โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รองนายกรัฐมนตรี เสนอหลักการและเหตุผลในนามคณะรัฐมนตรี (ครม.), นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอในนามฝ่ายค้าน, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอในนามพรรคฝ่ายรัฐบาล และนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เสนอในนามพรรคก้าวไกล

นพ.ชลน่านกล่าวตอนหนึ่งว่า แนวคิดที่จะใช้เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.และเบอร์พรรคเป็นแบบคนละเบอร์นั้น จะทำให้เกิดการจูงใจให้อามิสสินจ้าง เจตนารมณ์ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่การจะกำหนดให้หมายเลขพรรคและผู้สมัครแตกต่างกันนั้น เท่ากับไปสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง อีกทั้งยังเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย อยากถามว่าการกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่หมายเลขพรรคกับผู้สมัครไม่เหมือนกัน เจตจำนงคืออะไร

ส่วนนายวิเชียรกล่าวว่า การกำหนดให้ผู้สมัครและพรรคเป็นคนละหมายเลข เพราะเชื่อในวิจารณญาณของประชาชน เชื่อว่าประชาชนมีความสามารถเลือกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.ที่ตัวเองชื่นชอบ การกล่าวอ้างว่าอาจทำให้ประชาชนสับสนนั้น หมายความว่ากำลังมองประชาชนไม่มีสามารถในการวินิจฉัย ซึ่งตนไม่เชื่อเช่นนั้น

นายปดิพัทธ์กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลขอนำเสนอให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันต้องเบอร์เดียวกัน เพื่อความเรียบง่าย อยากถามว่าการเสนอแบบเบอร์เดียวกันมีปัญหาอะไร ทำไมบางฝ่ายจึงอยากได้เป็นแบบคนละเบอร์ พรรคเห็นว่าสุดท้ายสภาต้องเข้มแข็งด้วยการแก้ไขปัญหา ส.ส.ปัดเศษ โดยการกำหนดให้มีคะแนนขั้นต่ำ เนื่องจากสภาชุดปัจจุบันมี ส.ส.ปัดเศษที่รวมตัวกันเพื่อต่อรองทางการเมือง อีกทั้งมีอำนาจในการต่อรองทำให้สภาล่มได้

จากนั้นนายชวนได้ชี้แจงก่อนเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายว่า ตนขอปกป้องสภาในฐานะที่อยู่ในสภามาหลายสมัย เห็นเหตุการณ์มา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชุดปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายไปกว่าในสมัยก่อน ปัญหาเรื่ององค์ประชุมมีบ้างเป็นธรรมดา แต่ดูจากผลงานแล้วก็ขอชื่นชมสมาชิกที่ให้ความร่วมมือ เราพูดได้ว่ากฎหมายรัฐบาลไม่ได้ค้างเลยแม้แต่ฉบับเดียว ซึ่งเราต้องช่วยกันประคับประคอง

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า หลายคนได้ซักถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น ได้ย้ำว่าผ่านแน่นอน เพราะถ้าไม่ผ่านจะมีปัญหาแน่นอน แม้ กกต.จะเสนอให้ ครม.ออก พ.ร.ก.ได้ แต่กฎหมายที่ออกเป็น พ.ร.ก.ออกโดยฝ่ายบริหารฝ่ายเดียว จะมีความชอบธรรมและสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ จึงควรรับหลักการทุกฉบับ เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ในชั้นกมธ.ต่อไป

ไล่ยุบสภาหากคว่ำ กม.ลูก

 “ความพยายามที่จะกลับไปสู่บัตรใบเดียวเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดให้ใช้กติกาบัตร 2 ใบ จึงต้องทำให้การเลือกตั้งบัตร 2 ใบเกิดความสุจริตเที่ยงธรรม ขณะที่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ให้รวมผลคะแนนบัญชีรายชื่อทั่วประเทศ แล้วหาร 100 ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนของแต่ละพรรค” นายชินวรณ์กล่าว

เวลา 11.40 น. นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ไม่ติดใจจะใช้บัตรใบเดียวหรือสองใบ หรือจะคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไร แต่สิ่งที่สนใจคือต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม แม้แต่การเลือกตั้ง อบต.เล็กๆ ก็ใช้เงิน 12-20ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. ต้องควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมให้ได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาทำไม่ได้ เห็นกันจะจะคาตา ดังนั้นกกต.มีความสำคัญที่สุดในการควบคุมการเลือกตั้ง ต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกแก้ปัญหา ต้องแรงและเร็ว

เวลา 12.46 น. นายสุรทิน พิจารณ์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ อภิปรายว่า สนับสนุนทุกร่างในวาระ 1 ในการแก้กติกาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ขอแก้เรื่องการเลือกตั้งขั้นต้นคือการทำไพรมารีโหวต ให้มีไพรมารีโหวตที่ทำได้ทั้งจังหวัด และสนับสนุนบัตรเลือกตั้งแบบเบอร์เดียวทั้งประเทศ เพราะสะดวกกับประชาชนในการลงคะแนน

 “กระแสข่าวคว่ำร่างให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น อยากให้ผ่านร่างนี้ อย่ากลับไปใช้บัตรใบเดียว ทำให้มีปัญหามาก ถ้าจะโค่นหรือล้มไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองผ่านสภา ขอให้นายกฯยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนไปเลย” นายสุรทินกล่าว

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายว่า การคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เอาคะแนนทั่วประเทศมารวมแล้วหาร 100 เป็นคะแนนเฉลี่ยคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ส่งผลให้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหายไป 3 ข้อคือ 1.ส.ส.พึงมี 2.คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ คิดเฉพาะคนที่ได้คะแนนชนะเลือกตั้งเท่านั้น 3.ระบบจัดสรรปันส่วนผสมหายไป  ส่วน ส.ส.ที่ได้มาเป็นเพียง ส.ส.ที่ยกมือตามนายทุนพรรค เรื่องเอกสิทธิ์ ส.ส.ในการโหวตเป็นแค่ความฝัน จึงขอเสนอแก้ไขมาตรา 43 ใครซื้อเสียงแล้วถูกจับได้จาก กกต. ถ้าพรรคใดซื้อเสียงตั้งแต่ 3 เขตขึ้นไป ต้องลงโทษผู้สมัครและยุบพรรคการเมืองนั้น

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การเลือกตั้งที่สุจริตเป็นธรรม ถือเป็นหัวใจสำคัญการเลือกตั้ง แต่สภาพความเป็นจริง ต้องยอมรับมีการซื้อเสียงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกฎหมายระบุให้มีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ ทำให้ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้ เพราะคนรับไม่กล้าเป็นพยานซื้อเสียง จึงควรแก้กฎหมายให้ผู้รับไม่มีความผิด

เวลา 15.35 น. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนมั่นใจว่าระบบบัตรสองใบเป็นระบบที่ดีเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ระบบเลือกตั้งที่น่าจะเป็นระบบที่เหมาะสมน่าจะมีลักษณะสำคัญ 2ประการ คือ 1.ต้องเข้าใจง่าย ชัดเจน จดจำง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และ 2.ต้องส่งเสริมพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ซึ่งระบบเลือกตั้งสองใบน่าจะตอบโจทย์นี้มากกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม

ต่อมาเวลา 15.55 น. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปรายว่า ร่างแก้ไขฉบับไหนสอดรับกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และไม่ขัดแย้งกับมาตราอื่นที่ยังอยู่ แบบนี้ตนเห็นด้วย ส่วนมาตรา 90 มีประเด็นที่เป็นข้อกังวลว่าหากผ่านทั้ง 2 ร่างไปในชั้นกมธ.จะทำอย่างไร ถ้ามีความขัดแย้งกัน เนื่องจากมาตราดังกล่าวระบุว่าพรรคใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ ในข้อเท็จจริงจะทำอย่างไรถ้าจะปฏิบัติตามมาตรา 90 หรือไปทำให้มีเบอร์เดียวโดยไม่ขัดกับมาตรา 90

ฉลุยร่าง กม.เลือกตั้ง 4 ฉบับ

 จากนั้น นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าการแบ่งเขตเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องเขียนให้ชัดเจน เพราะจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การแบ่งเขตเลือกตั้งมีความสับสนเป็นที่มาของบัตรเสียเพิ่มมากขึ้น ขณะที่หมายเลขระบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต ถ้าเป็นคนละเบอร์ ประชาชนจะสับสนมาก และจะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ สอบตกเยอะ

กระทั่งเวลา 17.05 น. นายชวนแจ้งว่า ผู้อภิปรายได้อภิปรายครบแล้ว ทำให้การอภิปรายได้ยุติแล้ว ได้ขอให้ผู้เสนอร่างกฎหมายแต่ละฉบับของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.สรุป ซึ่งประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จากพรรคเพื่อไทย นายวิเชียร ชวลิต จากพรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวสรุป

  ต่อมานายชวนแจ้งต่อสมาชิกให้ลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี มีผู้เห็นด้วย 609 ไม่เห็นด้วย 16 งดออกเสียง 10 ไม่ลงคะแนน 1, ร่างของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะ มีผู้เห็นด้วย 420 ไม่เห็นด้วย 205 งดออกเสียง 14 ไม่ลงคะแนน 1 

ร่างของนายวิเชียร ชวลิต จากพรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วย 598 ไม่เห็นด้วย 26 งดออกเสียง 12, ร่างของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล มีผู้เห็นด้วย  418 ไม่เห็นด้วย 202 งดออกเสียง15 

จากนั้นมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ 49 คน แบ่งเป็น สัดส่วนจาก ครม. 8 คน,  ส.ว. 14 คน, สภา 27 คน, พลังประชารัฐ  6 คน, เพื่อไทย 8 คน, ประชาธิปัตย์ 3 คน,  พรรคภูมิใจไทย 3 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน

 นายชวนได้สอบถามที่ประชุมว่า จะให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดเป็นหลัก โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้ร่างคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ซึ่งมีผู้รับรองครบตามจำนวน และมีการแปรญัตติ 15 วัน และนัดประชุมครั้งแรก 1 มี.ค. เวลา 10.00 น.    

เมื่อการลงมติร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วเสร็จ ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่มีทั้ง 6 ฉบับ ที่เสนอโดย ครม. พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ต่อเนื่องทันที. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง