พรป.สอดไส้ไปไม่ถึงฝัน

ตามคาด! ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับสอดไส้ของฝ่ายค้านไปไม่รอด ที่ประชุมให้ผ่านเฉพาะร่างรัฐบาลและพรรคร่วมเท่านั้น   พร้อมใช้ กมธ.วิสามัญฯ ชุดเดียวกับ พ.ร.ป.เลือกตั้งทำหน้าที่แปรญัตติใน 15 วัน

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ก.พ. มีวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ซึ่งเป็นการพิจารณาเรื่องด่วนว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ.....จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งต่อเนื่องเป็นวันสุดท้ายหลังจากที่ประชุมรัฐสภาได้รับหลักการวาระแรกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ..... ไปแล้วเมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 ก.พ.

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญในร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ถึงการใช้วิธีนับคะแนนกลับมาเหมือนแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) ได้หรือไม่ ว่าได้ทั้งนั้น แต่อย่าให้ขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญ เพราะหลักการของบางร่างที่รับไปเปิดกว้าง แต่ต้องยืนบนพื้นฐานบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะแก้หัวหกก้นขวิดอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องอย่าลืมว่ายังมีด่านที่ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบด้วย ถ้า กกต.ไม่เห็นชอบเขาก็ส่งคืนกลับให้แก้ใหม่

เมื่อถามย้ำว่า กมธ.วิสามัญฯ ไม่สามารถเขียนอะไรเกินกรอบมากไปได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุระบุว่า ใช่และเวลา 09.55 น. รัฐสภาได้เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ แต่ก่อนเข้าวาระ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ลุกขึ้นหารือถึงการประชุมเมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 ก.พ. ที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ได้อภิปรายเปรียบเทียบร่างทั้ง 6 ร่าง ทำให้เกิดการประท้วงและมีวิวาทะกันว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลุกขึ้นประท้วงว่า การนำร่างของพรรคร่วมรัฐบาลมาเปรียบเทียบกับร่างของพรรค ก.ก.เพียงแค่ 2 ร่าง ทั้งที่จริงๆ แล้วเราพิจารณา 6 ร่าง มองว่ามารยาททางการเมืองอาจจะดูไม่ดีสักเท่าไหร่ ทำให้นายธีรัจชัยประท้วงว่า มีการพาดพิงและเสียดสีพรรค มีการพูดถึงเรื่องมารยาททางการเมือง ขอให้นายอรรถกร ถอนคำพูด

ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภาที่ทำหน้าที่ประธาน วินิจฉัยว่า การไปว่าไม่มีมารยาทเป็นคำพูดที่ไม่รุนแรงมาก ไม่ถึงกับเป็นการกล่าวต่อว่ารุนแรง ส่วนที่นายพิจารณ์กล่าวถึงร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็มีสิทธิ์พูดได้ แต่เมื่อไปพาดพิงอีกฝ่าย เขาก็ย่อมมีสิทธิ์โต้แย้งโต้เถียง จึงขอหาทางออกว่าท่านไปโต้แย้งกันในชั้น กมธ.ไม่ดีกว่าหรือ และขอให้ยุติเรื่องนี้

.ว.แพลมรับได้แค่บางร่าง

ต่อมา 11.00 น. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า วันนี้มีคำถามว่าใครอยากเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง (กก.บห.) ใครได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค  รองหัวหน้าพรรค และ กก.บห. ไม่รู้จะยินดีหรือเสียใจ เพราะโทษที่ได้รับหากลูกพรรคทำผิด คือตัดสิทธิ์ทางการเมืองเท่ากับเป็นการประหารชีวิต กก.บห. วันนี้ประเทศเรามี 3 อำนาจ คือ ตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจทุกสถาบันสั่งนายกรัฐมนตรีให้หลุดจากตำแหน่งได้ จึงฝากไปยังคณะ กมธ.ที่จะตั้งขึ้นไปดูกฎหมายข้อนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมนักการเมืองด้วย

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.อภิปรายว่า การบัญญัติให้มี พ.ร.ป.พรรคการเมือง เจตนารมณ์สำคัญคือต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง มีความเป็นอิสระ เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองมีปัญหา เป็นพรรคนายทุนไม่ใช่พรรคของประชาชน เป็นโจทย์ว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เราต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดกระบวนการทางการเมืองที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขมากมาย ไม่ก่อให้เกิดกลุ่มการเมือง ไม่เกิดการยุบพรรค แต่ควรทำการเมืองให้สร้างสรรค์

“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐสภาว่าจะแก้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอยู่กับพวกท่านทุกคน ดังนั้นทั้ง 6 ร่างที่เสนอมา ถ้าท่านยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังกลับไปสู่ปัญหาเก่าๆ เราก็คงรับแค่บางร่างเท่านั้น” นายเสรีกล่าว

จากนั้นเวลา 11.30 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า หากอยากให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ต้องเลิกยึดอำนาจ เลิกยุบพรรค เพราะสมาชิกไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไปตัดสิทธิ์เขาไม่ได้ ใครผิดก็ตัดสินคนนั้น อย่ากีดกันประชาชนออกจากการเมือง ความจริงต้องทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย อย่าสร้างกำแพงกันประชาชน

“การทำไพรมารี พรรคไม่ปฏิเสธ และอยากทำมาก แต่ขอทำแบบระดับจังหวัดก่อนได้หรือไม่ อย่าเพิ่งเขียนลึกลงในรายละเอียดทำไพรมารีระดับเขต เพราะจะเป็นการฆ่าตัดตอนพรรคการเมือง” นายสุทินระบุ

ในเวลา 14.15 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรค พท. อภิปรายว่า มีความพยายามพูดถึงบุคคลภายนอกว่าครอบงำพรรคการเมือง มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค ต้องระบุให้ชัดเจนว่าห้ามใคร นาย ก. นาย ข. นาย ค. ระบุแบบนี้ไปเลย เพราะบางครั้งอยากได้คำปรึกษา แต่ไม่ได้หมายความว่าสั่งให้ซ้ายหัน ขวาหันได้ เราเป็นพรรคที่ถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นพรรคที่ต่ำต้อย ถูกกระทำมัดมือมัดแขนมาตลอด วันนี้การเสนอแก้เรื่องยุบพรรค เพื่อให้ท่านเห็นหัวประชาชนบ้าง ซึ่งการแก้ไขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกยุคสมัย ของไม่ดีก็ต้องแก้ไข

รุมอัดเรื่องยุบพรรค

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า อย่าอคตินักการเมืองจนไม่เห็นหัวประชาชน อำนาจยุบพรรคควรเป็นของประชาชนไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ การจะยุบพรรคการเมืองได้นั้น ต้องล้มล้างการปกครองเท่านั้น และขอฝากไปยัง ส.ว.หลายท่านที่ใช้การอภิปรายครั้งนี้เหมือนมาอบรมสั่งสอน อย่าใช้เวทีนี้มาด้อยค่านักการเมือง อาบน้ำร้อนมาก่อนท่านอีก เพราะลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว 1 ครั้ง ขณะที่ท่านยังไม่เคยลงเลือกตั้ง แต่อภิปรายเหมือนด้อยค่าพรรคการเมือง อย่าเหมารวมว่านักการเมืองมักง่ายซื้อเสียงทุกคน ประชาชนเองก็ไม่ได้โง่ อย่าไปตัดสิทธิ์หรือยุบพรรคที่ประชาชนเลือก แต่ให้ประชาชนได้เป็นผู้ตัดสินใจ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการอภิปรายตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงช่วงเย็น ยังเป็นการแสดงความเห็นสนับสนุนและเสนอความเห็นต่อประเด็นที่อยากให้แก้ไข โดยส่วนใหญ่เป็นฝั่ง ส.ส. ขณะฝั่ง ส.ว.นั้นยังมีทิศทางเดียวกันคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองบางฉบับส่อขัดรัฐธรรมนูญ และแก้ไขเนื้อหาที่เกินกรอบของรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ที่ปรับเนื้อว่าด้วยระบบเลือกตั้งเท่านั้น

โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.อภิปรายว่า ไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองบางฉบับได้ เนื่องจากจะสร้างปัญหาในอนาคตในสภา และอาจนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นประเด็นที่เป็นปัญหาจึงต้องทักท้วงด้วยความหวังดี และจะลงมติรับหลักการเฉพาะร่างที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในอนาคต

“อย่างน้อย 3 ร่างที่มีปัญหาคือ ฉบับของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ และฉบับของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 28 มาตรา 29 ว่าด้วยการครอบงำพรรคการเมือง รวมถึงประเด็นการตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบพรรค”

ต่อมาหลังจากสมาชิกได้มีการอภิปรายเสร็จสิ้น ประธานได้ให้ผู้เสนอร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับสรุปร่างดังกล่าวก่อนที่ประชุมลงมติ โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้สอบถามที่ประชุมเห็นควรลงมติร่างของ พ.ร.ป.ที่มีเนื้อหาคล้ายกันรวมกัน หรือให้แยกเป็นรายฉบับ ผลปรากฏที่ประชุมให้แยกลงมติ จากนั้นแจ้งถึงขั้นตอนการลงมติร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งผลปรากฏว่า ร่างของคณะรัฐมนตรี เห็นด้วย 598 ไม่เห็นด้วย 11 งดออกเสียง 14, ร่างของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เห็นด้วย 207 ไม่เห็นด้วย 375 งดออกเสียง 37, ร่างของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ เห็นด้วย 221 ไม่เห็นด้วย 371 งดออกเสียง 30 ไม่ลงคะแนนเสียง 1, ร่างของนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.กับคณะ มีผู้เห็นด้วย 578 ไม่เห็นด้วย 19 งดออกเสียง 26, ร่างของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกับคณะ มีผู้เห็นด้วย 204 ไม่เห็นด้วย 381 งดออกเสียง 34 ไม่ลงคะแนน 1 และร่างของนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐกับคณะ  มีผู้เห็นด้วย 408 ไม่เห็นด้วย 184 งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1 

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญขีรายชื่อ พรรค พปชร. ขอให้ใช้ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ชุดเดียวกันกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และใช้เวลาแปรญัตติ 15 วัน โดย ส.ส.พลังประชารัฐจะเสนอให้ใช้ร่างของนายวิเชียรเป็นหลัก แต่ ส.ว.คัดค้านว่าควรใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ทำให้ต้องมีการลงมติปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ให้ใช้ฉบับของนายวิเชียรเป็นหลักในชั้นแปรญัตติ  

ต่อมาเลขาธิการสภาฯ อ่านพระบรมราชโองการปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2/2564 จากนั้นนายชวนสั่งปิดการประชุมในเวลา 19.53 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วิษณุ' ชี้ช่อง 'ยิ่งลักษณ์' หลังอยากขอพระราชทานอภัยโทษ

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯต้องการขอพระราชทานอภัยโทษต้องดำเนินการอย่าง

มาแล้ว! 'วิษณุ' ชี้ช่องส่งกฤษฎีกาตีความ พรบ.กู้เงินดิจิทัล ระวังโดนคดีตามหลัง

นายวิษณุ เครืองาม คณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมถามกฤษฎีกา ถึงการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผิดกฎหมายหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องที่ตอนนี้ยังตอบไม่ถูก และไม่มีใครตอบถูก เพราะรัฐบาลยังไม่ได้สอบถามมา จึงไม่ทราบว่าจะถามว่าอย่างไร

โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา 12 ธ.ค.66

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน มีเนื้อหาว่า