2 ประธานสภาผู้ยิ่งใหญ่! จาก 'ชวน หลีกภัย' ถึง 'พึ่ง ศรีจันทร์'

12 ส.ค. 2565 – นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ปฏิบัติหน้าที่จนโอกาสสุดท้าย จากนายชวน หลีกภัย ถึง นายพึ่ง ศรีจันทร์ 2 ประธานสภาผู้ยิ่งใหญ่

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มักจะนัดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเวลา 9.00 น. และเมื่อถึงเวลา 9.00 น. ของแต่ละวัน อันเป็นกำหนดนัดตามเอกสารที่มีไปถึงสมาชิกของทั้ง 2 สภา ท่านจะขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ตรงเวลาเป๊ะทันที ไม่ว่าจะมีสมาชิกนั่งอยู่ในห้องกี่คน ไม่ว่าในเวลานั้นสมุดลงนามเข้าร่วมประชุมจะมีสมาชิกมาลงลายมือชื่อกี่คน

ท่านจะเริ่มต้นด้วยประโยคง่ายๆ ว่าขณะนี้เวลา 9 นาฬิกา เป็นกำหนดนัดประชุม มีสมาชิกมาลงชื่อแล้ว … คน ยังไม่ครบองค์ประชุม ขอให้เพื่อนสมาชิกที่มาถึงแล้วกรุณาไปลงชื่อด้วย บางครั้งก็จะกล่าวในรายละเอียดลงไปว่าในจำนวนสมาชิกที่มาลงชื่อแล้ว เป็น ส.ส. กี่คน ส.ว. กี่คน หรือบางครั้งเท่าที่พอจำได้ก็มีต่อท้ายว่ายังขาดอยู่อีกกี่คน แล้วท่านก็ลุกขึ้นเดินลงจากบัลลังก์ไป

ท่านจะขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีสมาชิกลงชื่อในสมุดครบองค์ประชุม ชนิดพอดีเป๊ะ หรือเกินสักคนสองคน ซึ่งส่วนใหญ่จะตกเวลาประมาณ 9.30 – 9.45 น. หรืออย่างช้าก็ประมาณ 10.00 น.

นี่คือกิจวัตรปกติของประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน

ล่าสุด ท่านนัดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 9.00 น.เช่นเดิม

วันนี้เป็นวันพิเศษ เพราะเป็นวันสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่รัฐสภาจะสามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาขิกสภาผู้แทนราษฏรให้เสร็จสิ้นจนจบวาระ 2 และ 3 ได้ภายในกำหนด 180 วันตามบังคับในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ถ้าไม่เสร็จจะถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างที่เสนอเข้ามาในขั้นแรกเมื่อ 6 เดือนก่อน ทั้งหมดนี้กำลังเป็นเกมการเมืองกันอยู่ โดยสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งใช้มาตรการไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้ได้กฎหมายอย่างที่ฝ่ายตนเห็นว่าถูกต้องและต้องการ ตามที่ทราบกันอยู่

หลายคนคิดว่าเกมจบแล้วเมื่อการประชุมร่วมกันของรัฐสภานัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ล่ม

แม้แต่ผมก็ยังติดประมาทคิดไปว่าวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เป็นวันสุดท้ายและโอกาสสุดท้ายแล้ว

แต่ทุกคนคิดผิด !

เวลา 24.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงจะเป็นวันสุดท้าย นาทีสุดท้าย และโอกาสสุดท้าย

การนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเวลา 9.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงเกิดขึ้นโดยบัญชาของประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน นายชวน หลีกภัย !

ทำให้ผมหวนระลึกถึงวัตรปฏิบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎรในอดีตอีกท่านหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งช่วงสั้นๆ ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2490 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

นายพึ่ง ศรีจันทร์ (ชาตะ 14 พฤษภาคม 2450 มรณะ 13 ตุลาคม 2535)

ผมเกิดไม่ทันท่านหรอก แต่ติดตามอ่านจากเรื่องราวที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อ่านซ้ำหลายครั้ง และสมัยรัฐสภายังอยู่ที่ถนนอู่ทองใน ผมชอบเดินไปดูภาพวาดของท่านที่ติดประดับไว้บนผนังห้องประขุมสภาชั้น 2 เรียงรายอยู่กับอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติทุกคนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

นายพึ่ง ศรีจันทร์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 สมัย สมาชิกวุฒิสภา 1 สมัย เป็นรัฐมนตรี 2 ครั้ง และเป็นเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ท่านเดินขึ้นนั่งบนบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2490 เพื่อเริ่มประชุม ตามที่ได้นัดประชุมไว้ล่วงหน้า

การประชุมวันนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาไม่ครบองค์ประชุม

เนื่องจากมีการรัฐประหารครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

นายพึ่ง ศรีจันทร์ เดินลงจากบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฏรโดยมีนายทหารคนสำคัญในคณะรัฐประหารมาเชิญตัวท่านไป

แม้จะอยู่ต่างยุคต่างสมัย เหตุการณ์ที่ผมเล่ามาก็ต่างกรรมต่างวาระ แต่จุดร่วมคือทั้ง 2 ประธานสภาต่างทำหน้าที่จนโอกาสสุดท้าย

ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับที่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในยุคที่มีประธานรัฐสภาขื่อชวน หลีกภัย

ผมจะไปลงชื่อในสมุดหน้าห้องประชุมในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ตั้งแต่ก่อน 8.00 น. และจะเข้าไปนั่งรอในห้องประชุมรัฐสภาตั้งแต่ก่อน 9.00 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษก ปชป. ยืนยันไม่จริง 'ชวน' หมดสิทธิลงสมัคร สส. มั่นใจ 'เฉลิมชัย' ไม่คิดเช่นนี้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถีงกรณีที่มีบุคคลให้ข่าวว่า “ชวน หลีกภัย” อาจหมดสิทธิลงสมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อว่า

'ติ๊งต่าง' จี้ ปชป. แจงข่าวลือจะไม่ส่ง 'ชวน' สมัคร สส. ถ้าจริงต้องมีคำตอบให้สังคม

นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ “ติ๊งต่าง” เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับ และแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีข่าวลือว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งคุณชวนลงสมัครสส.เขต และไม่ให้เป็นสส.บัญชีรายชื่อ

ฝ่ายค้านกู้ศรัทธา? 'พิธา' บอกลาสภา

การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นเวทีของฝ่ายค้านนำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ซ้อมใหญ่ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมสภาหน้าตามรัฐธรรมนูญ 151

'นิพิฏฐ์' ซัด ปชป.ตาขาวไม่ป้อง 'ชวน' โต้นายกฯเก็บค่าผ่านทาง 5 บาท 10 บาท

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก "ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย มิใช่ปกครองโดยรัฐบาล" ระบุว่า ผมฟัง นายกเศรษฐา ปะทะคารม กับอดีตนายกชวน หลีกภัย ในสภาเมื่อวาน ก็เพียงคิดเล่นๆ