มาแล้ว! นักเรียนนอกยก 3 เหตุผลฟอกขาวข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล

'ไอติม' ย้ำข้อเสนอแก้มาตรา 112 ของก้าวไกลทำให้ประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขที่ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบัน

26 ต.ค.2565 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองออกมาคัดค้านการแก้กฎหมายมาตรา 12 หรือกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของพรรคก้าวไกลว่า พรรคเราเคารพสิทธิของทุกพรรคที่จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับนโยบายของพรรค แต่ที่จำเป็นต้องชี้แจง เพราะเหตุผลที่หลายพรรคใช้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรืออาจเป็นความจงใจที่จะบิดเบือน เนื้อหาสาระของนโยบายของพรรคก้าวไกล เพราะในเชิงข้อเท็จจริง ข้อเสนอในการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำให้ประเทศเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองประมุข แต่เป็นข้อเสนอในการทำให้กฎหมายคุ้มครองประมุขในประเทศเราทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์

นายพริษฐ์กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 112 มี 3 จุดสำคัญที่อาจเป็นปัญหาที่เราเสนอให้แก้ไขข้อที่หนึ่ง คือการลดความหนักของโทษ ปัจจุบัน มาตรา 112 กำหนดโทษของการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้อยู่ที่จำคุก 3-15 ปี ซึ่งนับเป็นโทษที่หนักเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา และสูงกว่าโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ลดโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากโทษจำคุก 3-15 ปี เป็น โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งยังคงเป็นโทษที่สูงกว่าโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี มาเหลือแค่โทษปรับ

ข้อที่สอง คือการกำหนดผู้ฟ้องให้ชัดเจน ปัจจุบัน มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ใครๆ ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษคนอื่นได้ ซึ่งอาจส่งผลอันไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น คนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องคนอื่นด้วยมาตรา 112 ไม่ว่าจะด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบัน หรือด้วยความต้องการจะกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่หากจำเลยถูกดำเนินคดีหรือตัดสินว่าผิด ความรู้สึกไม่พอใจก็อาจไปตกอยู่ที่สถาบัน ส่งผลให้สถาบันกลายเป็นคู่กรณีโดยอัตโนมัติ แม้สถาบันอาจไม่ได้รับรู้ถึงกรณีดังกล่าว

“อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการที่นักการเมืองหรือข้าราชการบางกลุ่ม นำชื่อของสถาบันไปปกปิดการทุจริตของตนเอง เช่น ผ่านการระบุว่าโครงการของตนเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ โดยหวังว่าการมีอยู่ของ 112 จะทำให้คนอื่นไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ แต่หากโครงการถูกเปิดโปงว่ามีการทุจริต ความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้น อาจกระทบต่อสถาบัน แม้สถาบันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวก็ตาม​" นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์​ กล่าวอีกว่า​ ข้อที่สาม คือการวางขอบเขตการบังคับใช้ จริงอยู่ว่าบทกฎหมายในมาตรา 112 ระบุถึงแค่ความผิดจากการ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย แต่ในทางปฏิบัติ เราเห็นถึงความคลุมเครือและความไม่แน่นอนในการบังคับใช้มาโดยตลอด ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีการบัญญัติให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองกรณีการแสดงความเห็นโดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธาณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน กับเหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษ สำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ณ ปัจจุบัน

นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า หากพรรคการเมืองอื่นคัดค้านข้อเสนอการแก้ไข 112 เพราะเชื่อจริงๆว่าการหมิ่นประมาทสถาบัน เป็นความผิดที่ร้ายแรงถึงขั้นสมควรโดนขังคุกถึง 3-15 ปี เชื่อจริงๆ ว่าการให้ใครฟ้อง 112 กับใครก็ได้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อการปกป้องชื่อเสียงของสถาบัน หรือเชื่อจริงๆว่า การแสดงความเห็นโดยสุจริตเกี่ยวกับสถาบันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำได้ในสังคมไทย ก็เคารพสิทธิของท่านที่จะคิดเห็นดังกล่าว แม้จะขออนุญาตเห็นต่าง​ แต่หากพรรคการเมืองอื่น ยังยืนยันคัดค้านข้อเสนอการแก้ไข 112 ด้วยการยกเหตุผลที่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของสิ่งที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ ก็อยากให้ท่านมีความจริงใจและจริงจังมากขึ้น ในการร่วมกันแลกเปลี่ยนถึงข้อเสนอในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบัน

นายพริษฐ์​ ย้ำว่า นอกจากชุดนโยบาย การเมืองไทยก้าวหน้าที่เราได้เปิดต่อประชาชนไปแล้ว ยังมีอีก 8 ชุดนโยบาย รวมกันเป็น 9 ชุดนโยบาย ที่เราจะทยอยเปิดต่อประชาชนต่อไป โดยชุดต่อไปที่เราจะเปิดในวันเสาร์ที่ 5 พ.ย.คือชุดสวัสดิการไทยก้าวหน้าเพื่อฉายภาพให้ประชาชนเห็นถึง ระบบสวัสดิการแบบครบวงจร ที่พรรคก้าวไกลต้องการสร้าง เพื่อรับประกันความมั่นคงในชีวิตกับประชาชนคนไทยทุกคนตั้งแต่เกิดจนแก่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง ปมกล่าวหา 'กกต.' ชงยุบก้าวไกล

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีที่ กรณี นายธรณิศ มั่นศรี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ดร.ณัฏฐ์ มองการเมืองไทยปี 68 'รัฐบาลอิ๊งค์' มีเสถียรภาพ อยู่ยาวถึงปี 70

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้การเมืองไทยปี 2568 “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” กุมเสียงข้างมาก รัฐบาลมีเสถียรภาพ แม้เจอโรครุมเร้า นักร้องเรียนรายวัน ยังไม่มีตัวแปรใดล้มรัฐบาล ฟันธง รัฐบาลอยู่ยาวถึงปี 2570

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า