'ไอติม' ร่ายยาวจี้รัฐบาลทบทวนเรื่องคำถามประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

24 เม.ย.2567 - นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ขอให้รัฐบาล ทบทวนคำถามประชามติ (ก่อนจะออกประกาศฯในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ) เพื่อลดความเสี่ยงที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสะดุดลง” ระบุว่า ผมและพรรคก้าวไกลเรายืนยันมาตลอดว่าเราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็วที่สุด

หลังจากการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ รัฐบาลได้มีการแถลงเห็นชอบในหลักการให้เริ่มต้นเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเส้นทาง “ประชามติ 3 ครั้ง” (ตามข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาฯ ที่ตั้งโดยรัฐบาลและนำโดยคุณภูมิธรรม เวชยชัย) โดยให้มีการจัดประชามติครั้งที่ 1 ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ด้วยคำถามที่ว่า:

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์)?”

ในขณะที่เรารอการเผยแพร่ มติ ครม. สู่สาธารณะ ( อ้างอิง: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/82077 ) และรอการออกประกาศฯในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ ผมและพรรคก้าวไกลขอย้ำอีกรอบให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเรื่อง “คำถามประชามติ” ดังกล่าว ซึ่งเรามองว่าเป็นคำถามประชามติที่มีปัญหาและเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงและไม่ประสบความสำเร็จ

1.คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติครั้งแรกจะไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน เนื่องจากเป็นคำถามที่มีการ “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม

- การบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดเรื่องหมวด 1-2 ในตัวคำถาม จะทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกหมวด 1-2) อาจไม่แน่ใจว่าจะลงมติเช่นไร

- หากประชาชนแต่ละคนที่มีจุดยืนดังกล่าวตัดสินใจลงคะแนนไม่เหมือนกัน (เช่น บางคนลงคะแนน “เห็นชอบ” / บางคนลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ” / บางคน “งดออกเสียง”) ก็จะหมายความว่าในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติจะไม่ผ่าน (ยิ่งหากการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ เรื่องเกณฑ์ “เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ทันประชามติครั้งแรก)

- หากประชามติไม่ผ่านเพราะเหตุผลดังกล่าว ก็ไม่เพียงแต่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลง แต่ยังจะก่อปัญหาในการตีความต่อไปในอนาคต ว่าเหตุผลที่ประชามติไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร (เช่น เป็นเพราะประชาชนไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ เป็นเพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องการล็อกหมวด 1-2)

2.คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาเชิงกฎหมาย

- เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ

- ดังนั้น เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป) การแก้ไขข้อความหรือเนื้อหาใดๆในหมวด 3 เป็นต้นไป อาจนำไปสู่ความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความหรือเนื้อหาในหมวด 1-2 ให้สอดคล้องกันกับหมวดอื่นๆ

- ตัวอย่าง: หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการยกเลิกวุฒิสภาและหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยว ก็ควรมีการตัดคำว่า “วุฒิสภา” หรือ “สมาชิกวุฒิสภา” ที่ปรากฎในหมวด 1-2 ออก (เช่น ในมาตรา 12 ที่กำหนดว่าองคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา) เนื่องจากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าวุฒิสภาแล้ว

- แต่หากหมวด 1-2 ถูกล็อกไว้ การแก้ไขข้อความดังกล่าวจะทำไม่ได้และอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงกฎหมาย

3.คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างได้และไม่สะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนในสังคมได้อย่างแท้จริง

- ที่ผ่านมา การแก้ไขเนื้อหาใน หมวด 1-2 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติ ทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (รวมถึงตอนจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 / 2550 / 2560)

- ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญได้ห้ามไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ให้มีการการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าในหมวดใด) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ

- ดังนั้น หากประชาชนบางกลุ่มอยากปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนในหมวด 1-2 โดยที่การแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นการกระทบรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ การไปล็อกไม่ให้เขาแม้กระทั่งได้เสนอความเห็นของเขาด้วยเหตุและผลอย่างมีวุฒิภาวะในพื้นที่ที่ควรปลอดภัยอย่าง สสร. (แม้ในที่สุด สสร. ส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเขา) อาจทำให้การแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันมีความท้าทายมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

ข้อกังวลทั้งหมดที่เรามีต่อคำถามประชามตินี้ เป็นข้อกังวลที่เราได้พยายามสะท้อนต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง

ในเมื่อการทำประชามติแต่ละครั้งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000+ ล้าน และต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะออกแบบคำถามประชามติที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงโดยไม่จำเป็น

เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ทางผมและพรรคก้าวไกลจึงขอเสนออีกครั้งก่อนที่จะสายเกินไป ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนและหันมาใช้คำถามหลักของประชามติครั้งแรกที่เปิดกว้าง (เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?”) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกคำถามประชามติที่ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ของรัฐบาลเอง (นำโดยคุณนิกร จำนง) เคยได้เสนอให้คณะกรรมการศึกษาฯของรัฐบาลพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชามติแก้รัฐธรรมนูญค้าง! นิกรปูดต้องรอแก้ กม.อย่างน้อย 5 เดือน

'นิกร' เผยประชามติยึดร่าง ครม.ปรับยึดเสียงข้างมากชั้นเดียว พร้อมเปิดรับฟังความเห็น ปชช. 3 พ.ค. รับกาบัตรต้องเลื่อนอย่างน้อย 5 เดือน ไอติมจี้เร่งเปิดวิสามัญแก้กฎหมาย ไม่ต้องรอร่าง ครม.

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

'พริษฐ์' ร่ายยาวซัดรัฐบาลเศรษฐาพายเรือในอ่างแก้รัฐธรรมนูญ

'พริษฐ์' ทวงสัญญา 'รัฐบาล' ปมแก้ รธน. หลังพบกกระบวนการเป็นตลกหกฉาก พร้อมทำนายรัฐบาลเตรียมไพ่ ไว้กินรวบอำนาจ ดักทางให้รักษาสัจจะต่อประชาชน

'อดิศร' ซัดแรงมีรัฐสภาไปทำพระแสงอะไร จะแก้รัฐธรรมนูญ ยังให้ศาลวินิจฉัยอำนาจประชาชน

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แยกกันและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่คล่อมเลน มีบางครั้งจะยื่นญัตติได้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นฝ่ายตุลาการ แต่เราฝ่ายนิติบัญญัติ เราคิดของเราเองได้