อดีตรองอธิการฯมธ. ชี้เลือกตั้งครั้งนี้สำคัญยิ่งกว่าทุกครั้ง เพราะสถาบันจะถูกสั่นคลอน

13 เม.ย.2566 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รวมไทยสร้างชาติ ปราศรัยประกาศชัดเจนว่า พรรครวมไทยสร้างชาติยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะจัดการกับพวกชังชาติ พวกล้มสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาดหากได้เป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งยังไม่เคยมีพรรคใดกล้าประกาศแบบนี้มาก่อน

สำนักข่าวแห่งหนึ่ง พิธีกรชื่อดังสัมภาษณ์นักวิเคราะห์การเมืองท่านหนึ่ง คำถามที่ถามคือ การที่หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติประกาศจะจัดการกับพวกชังชาติหากได้เป็นรัฐบาล ท่านคิดอย่างไร สังเกตว่าพิธีกรใช้คำว่า "ชังชาติ" จงใจตัดคำว่า "ล้มสถาบัน" ออกไป
ความจริง ผมไม่เคยชอบคำว่า "ชังชาติ" และไม่เคยใช้คำนี้เลยในการเขียนบทความ

ทุกบทความ อยากให้ทุกคนเลิกใช้คำนี้เสียทีด้วยซ้ำ แต่ที่คุณพีระพันธ์ุพูดว่า "จะจัดการกับพวกชังชาติ พวกล้มสถาบัน ......." ความหมายคือ จะจัดการกับพวกล้มสถาบัน เพราะการชังชาติ ไม่ได้เป็นความผิด แต่การล้มสถาบันเป็นความผิดแน่นอน คุณพีระพันธุ์เหมารวมว่า การชังชาติก็คือการล้มสถาบัน ซึ่งความจริงควรต้องแยกกัน การที่พิธีกรตั้งคำถามแบบนี้เป็นการเปิดช่องให้คุณพีระพันธุ์ถูกโจมตีหรือไม่ เป็นเรื่องที่อดคิดไม่ได้

ในทางยุทธศาสตร์การแข่งขัน(competitive strategy) เป็นการถูกต้องแล้วที่คุณพีระพันธ์ุประกาศให้ชัดแบบไม่มีแทงกั๊กเช่นนี้ เนื่องเพราะพรรครวมไทยสร้างชาติไม่มีทางได้เสียงจากผู้ที่ไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่มีทางได้เสียงจากผู้ที่ยังนิยมชมชอบคุณทักษิณ ชินวัตรอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายอยู่แล้ว เสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติมาจากกลุ่มคนที่ไม่เอาคุณทักษิณ และกลุ่มคนที่เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องดำรงอยู่ในประเทศไทยต่อไป ประกาศให้ชัดทำให้กลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ ซึ่งมีจำนวนที่ทับซ้อน(overlap)กันอยู่ไม่น้อยมีความแน่ใจ อย่างน้อยรับรองว่าจะได้เสียงจากกลุ่มคนที่มีความเห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่มีความเด็ดขาดในการจัดการกับคนที่พยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน

สาระสำคัญของคำว่า ยุทธศาสตร์(strategy)คือการเลือกที่จะไม่ทำหรือเลือกที่จะไม่เอา พรรครวมไทยสร้างชาติเลือกที่จะไม่เอาคะแนนเสียงจากผู้ที่นิยมชมชอบคุณทักษิณ และพวกที่ต้องการแก้หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และต้องการล้มสถาบัน ยุทธศาสตร์แบบนี้เรียกว่า focus คือ focus ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยต้องยอมทิ้งคะแนนเสียงของคนกลุ่มอื่นๆไปเลย

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นอาจไม่ใช่เป็นการใช้ยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แต่น่าจะเป็นการประกาศไปตามอุดมการณ์ของพรรคหรืออาจเป็นอุดมการณ์ของตัวคุณอภิสิทธิ์เอง ที่ไม่ต้องการสนับสนุนผู้ที่ทำรัฐประหารให้ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก โชคร้ายที่คนส่วนใหญ่ที่ไม่เอาคุณทักษิณ และก็ไม่ได้อยากได้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี เกิดความกลัวคุณทักษิณจะกลับมามีอำนาจอยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง และเขามองขาดว่า หากไม่ช่วยกันเลือกพรรคพลังประชารัฐ คุณทักษิณกลับมาแน่ คุณอภิสิทธิ์จึงต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปในที่สุด

มาที่พรรคเพื่อไทย ความต้องการเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอยู่เหนือสิ่งอื่นใด จึงแทงกั๊กเพื่อหวังคะแนนเสียงจากทุกกลุ่มไม่ว่าจะเอาหรือไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งแบบ land slideให้ได้ จึงไม่แปลกใจที่ คุณเศรษฐา ทวีสินประกาศว่าจะแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทให้ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จะเป็นยาจกหรือเศรษฐีก็ได้ทุกคน เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากทุกกลุ่ม ได้จำนวนมากบ้างน้อยบ้างก็ยังดี ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร หากกกต ไม่ตัดสินว่าทำไม่ได้ พรรคเพื่อไทยจะไม่ล้มเลิกการแจกเงินครั้งนี้แน่ๆ หนึ่งเพราะไม่ใช่เงินตัวเอง สองเพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์มักมาจากผู้ที่มีเสียงดัง ยังมีพลังเงียบอีกมากที่อาจไม่ถูกโยกคลอนด้วยเงินหลักพัน แต่ไม่แน่ว่าจะไม่ถูกโยกคลอนด้วยเงินหลักหมื่น พรรคเพื่อไทยจึงประกาศมาตรการเหวี่ยงแหเช่นนี้

พรรคพลังประชารัฐ แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าพรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วยกับการยกเลิกหรือแม้แต่แก้ไขมาตรา 112 แต่แม้จะมีผู้บริหารพรรคบางคนเพิ่งจะออกมาปฏิเสธว่าจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มีการปฏิเสธอย่างแข็งขันจากพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพียงบอกว่า ต้องดูนโยบายว่าไปกันได้หรือไม่ ทุกคนจึงยังเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเสียงจากฐานเสียงของนักการเมืองหรืออดีตส.ส.ของพรรคเป็นส่วนใหญ่ จะได้คะแนนจากคนที่ไม่เอาคุณทักษิณและที่ไม่ต้องการให้ล้มสถาบันไม่มากนัก

พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ทั้ง 2 พรรคจะไม่ร่วมด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 แต่ก็ไม่กล้าประกาศอย่างที่พรรครวมไทยสร้างชาติประกาศ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เคย focus ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เอาแต่เหยียบเรือสองแคม อยากได้คะแนนไปทุกกลุ่ม สุดท้ายก็จะไม่ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกรรมแม้แต่กลุ่มเดียว พรรคเก่าแก่และเป็นพรรคเดียวที่เรียกได้ว่าเป็นสถาบันก็จะกลับมายิ่งใหญ่ได้ยาก เพราะจะได้คะแนนจากแฟนพันธุ์แท้เสียเป็นส่วนใหญ่ คนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์แต่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ เปลี่ยนใจไปเลือกพรรคอื่นกันหมดแล้ว ส่วนพรรคภูมิใจไทยต้องถือว่า ไม่มีอะไรหวือหวามาก แต่การร่วมรัฐบาลก็มีผลงานที่จับต้องได้ เป็นที่ถูกใจคนหลายกลุ่ม จะได้คะแนนเสียงจากคนที่อยู่กลางๆไม่สุดโต่งไปในทางหนึ่งทางใด แต่ก็คงได้จำนวนส.ส.มากขึ้นจากเดิมค่อนข้างแน่

พรรคก้าวไกลนับว่ามีจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อยู่คนละขั้วอย่างชัดเจน แน่นอนว่า จะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มนิสิตนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่ไม่เอากระทั่งเกลียดชังสถาบัน หรือไม่มีความผูกพันกับสถาบันแต่ชอบนโยบายของพรรค แม้จะได้เสียงคนรุ่นใหม่มากแต่ด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งยังต้องแย่งชิงคะแนนจากคนกลุ่มเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย การจะได้จำนวน ส.ส.มากเท่ากับที่พรรคอนาคตใหม่เคยได้คงเป็นเรื่องยาก คงต้องวัดกันกับพรรครวมไทยสร้างชาติว่า พลังของคนที่ไม่เอาสถาบันกับคนที่ยังเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ยังมีความสำคัญ ฝ่ายไหนจะมาลงคะแนนให้มากกว่ากัน

มองอย่างนี้แล้ว สำหรับคนที่ยังต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังดำรงอยู่ต่อไปในประเทศไทย และคนที่ไม่เอาคุณทักษิณ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนจะมีทางเลือกเดียวเท่านั้นคือ เลือกพรรคที่ชัดเจนว่ามีจุดยืนที่ตรงกันใน 2 เรื่องข้างต้นนี้ จะมีใครเป็น candidate นายกรัฐมนตรีก็ไม่สำคัญไปกว่าจุดยืนดังกล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความสำคัญยิ่งกว่าครั้งใดๆ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกสั่นคลอนจนอาจถึงกับดำรงอยู่ไม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปลงคะแนนเสียงให้พรรคใดให้ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ขอให้ตรึกตรองกันให้ดีก่อนลงคะแนนนะครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

'ดร.อานนท์' ร่ายยาว ไม่เคยมีใครสั่งให้เขียนหรือพูดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก Arnond Sakwora

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก 'โดนัลด์ ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ด้วยวาทกรรม ‘นองเลือด’ ของเขา เวลานี้โดนัลด์ ทรัมป์กำลังยุยงให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นต่อผู้อพยพ รวมถึงโจ ไบเดนคู่แข่

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

‘เศรษฐา’ โอ่ 3 ปีครึ่ง นำความเป็นอยู่ที่ดีให้ ปชช. ฉุด ‘พท.’ ชนะเลือกตั้งครั้งหน้า

นายกฯ โอ่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และหวังว่าผลที่จะตามมาคือ ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง