“ดร.ณัฎฐ์' นักกฎหมายมหาชน อัด “สว.จเด็จ” ชงจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ จะเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ชี้บ้านเมืองยังไม่ถึงทางตัน รัฐบาลต้องมาจากประชาชน
1 มิ.ย. 2566 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)เสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่มีปัญหาเพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง ว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนายจเด็จ สามารถกระทำได้ แต่เร็วเกินไปที่จะพูดในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่ถึงทางตันทางการเมือง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่า พรรคการเมืองใดจะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะการชนะการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ชนะขาด ตัวแปรคือเสียงจากพรรคภูมิใจไทยและเสียงสมาชิกวุฒิสภา
ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เคยพูดกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยหยิบมาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญมาอุดช่องว่างทางกฎหมายโดยอนุโลม โดยอาศัยประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดข้อขัดแย้งและสถานการณ์บ้านเมืองที่แก้ไขไม่ได้ เหมือนกับย้อนตำนานในอดีต นายกพระราชทาน ม.7 แต่บริบทการเมืองปัจจุบัน แตกต่างจากอดีต รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ รัฐบาลรักษาการอยู่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยังไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง ทางตันทางการเมือง ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลย่อมดำเนินการไป
ส่วนตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เสมือนตั้งรัฐบาลเงา เชิงซ้อน ไม่มีผลทางกฎหมายอะไร แต่จะไปแทรกแซงข้าราชการประจำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามเด็ดขาด การฟอร์มทีมรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล 376 เสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน เป็นเงื่อนไขสำคัญ
ส่วนนายจเด็จ ด่วนออกมาพูด เป็นการตีปลาหน้าไซ โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ควรไปจุ้นในการชี้นำจัดตั้งรัฐบาลประชาชน เพราะการเลือกตัวแทนมาทำหน้าที่ในระบอบการปกครองประชาธิปไตย ตนจะยกวาทกรรมทางการเมืองที่มักหยิบมาพูดกันบ่อยๆของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “อับราฮัม ลินคอล์น” ที่ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน” หากย้อนกลับไปดูการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรก บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ให้อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย ต่อมารัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคหนึ่งว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นการปกครองโดยประชาชน
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่าส่วนที่นายจเด็จ ได้หยิบยกความดีความชอบของ 2 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ตนถามว่า มีเพียงสองพรรคการเมืองเท่านั้นหรือ เพราะพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก เป้าหมายจิตอาสาทำงานเพื่อบ้านเมืองตามครรลองประชาธิปไตยเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง การหยิบสองพรรคการเมืองนี้ นายจเด็จ จะเป็นทนายหน้าหอ เป็นกระบอกเสียงให้ใช่หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นสองพรรคการเมืองนี้ออกมาดิ้น โดยเฉพาะมันสมองของชาติบุคลากรของทุกพรรคการเมืองมีอยู่แล้ว แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง จะไปโยนหินถามทาง ปูดแนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่ออะไร
หากเป็นห่วงบ้านเมือง ต้องย้อนกลับไปถามว่า หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภามีอะไรบ้าง การไปจุ้นจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลประชาชนกับรัฐบาลแห่งชาติ เป็นหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ อย่างไร ไม่เข้าท่า เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ ควรเคารพเสียงของประชาชน แม้รัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 แต่เป็นเพียงดุลพินิจเด็ดขาดในสภาเท่านั้น
ในส่วนของทุกพรรคการเมือง ย่อมมีจุดแข็ง จุดอ่อน แตกต่างกันตรงจุดแข็งนโยบายและทุนสนับสนุนพรรคการเมือง แต่ด่านสำคัญการที่จะไปทำหน้าที่ คือ การเลือกตั้ง ทีจะต้องโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อยู่ที่พี่น้องประชาชนเทคะแนนเลือกตัวแทนพรรคการเมืองใดมาทำหน้าที่ เป็นตัวแทนในสภา ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
หากนายจเด็จเสนอตัวลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง อยากรู้ว่าจะได้สักกี่คะแนน แต่เอาใจช่วย การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีฝ่ายค้าน ไร้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลในสภา ให้ประชาชนมโนภาพดูว่า ระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น จะเอาตัวแบบโมเดลประเทศเกาหลีเหนือหรือไม่ อย่างไร ผลร้ายย่อมมากกว่าผลดี เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ถือว่าเป็นทางออกของบ้านเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สว. ตีปี๊บผลงาน 4 ปี โครงการลงพื้นที่พบประชาชน ใช้งบเฉลี่ยหมื่นบาทต่อครั้ง
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ฐานะประธานกรรมการอำนวยการโครงการ สว.พบประชาชน พร้อมคณะ แถลงว่า วันที่ 26-27 ก.ย. มีการแสดงผลงานของโครงการสว.พบประชาชน ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
เกือบตกขบวน! พรรคก้าวไกลแถลงแล้ว ปม 'ช่อ พรรณิการ์' ตอกย้ำปัญหารัฐธรรมนูญ
เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความว่า กรณีตัดสิทธินักการเมือง - อิทธิฤทธิ์ของกลไก “มาตรฐานทางจริยธรรม” ในรัฐธรรมนูญ 2560 และความจำเป็นในการปฏิรูปองค์กรอิสระ
ซัดการตัดสิทธิการเมืองขัดรัฐธรรมนูญ!
กรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคเดือด! ซัดการตัดสิทธิการเมืองขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ รธน.เล็กกว่าพระราชบัญญัติจึงทำให้ประเทศเละตุ้มเป๊ะ
อดีตรองประธานสภาเสนอที่มา สส.-สว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ!
'สามารถ' เสนอแนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปมที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อหลีกเลี้ยงวงวจอุบาทว์
'สว.กิตติศักดิ์' แจงเหตุโผล่วัดบางคลาน ลั่นไม่ตบเจ้าอาวาสก็บุญแล้ว มาชี้นิ้วสั่งให้เปิดประตู
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ ว่า สว.อุ้มนายกิตติศักดิ์ ว่าไม่ผิดจริยธรรมกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่วัดบางคลานหรือ วัดหิรัญญาราม จ.พิจิตร โดยกล่าวพร้อมหัวเราะไปด้วยว่า ตนน้ำหนักตั้ง 84 กิโล ใครจะอุ้มไหว
'ชวน หลักภัย' กล่าวปาฐกถา ฉากทัศน์ประเทศไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาล
นายชวน หลักภัย สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ฉากทัศน์ประเทศไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาล” ว่า วันนี้การเมืองเข้ามาสู่ยุคที่ต้องมี กกต.ขึ้นมา ยุคที่เราใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วก็ล่มจนต้องมีรัฐธรรมนูญปี2550