ชัด 'ดร.ณัฎฐ์-มือกม.มหาชน' คลี่ปมหุ้นไอทีวี-คำสั่งศาลตั้ง 'พิธา' เป็นผู้จัดการมรดก


16 มิ.ย.2566 - สืบเนื่องจากถึงกรณี นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนึ่งในนั้นคือการยื่นเอกสารถือครองหุ้น iTV ในนามผู้จัดการมรดก ซึ่งมีเอกสารทางราชการคือคำสั่งศาล ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์”นักกฎหมายมหาชนคนดัง ได้อธิบายและให้ความรู้ทางกฎหมายมหาชนแก่ประชาชนในแง่มุมที่น่าสนใจว่า เป็นคำสั่งศาลในการตั้งผู้จัดการมรดก เหมือนกับคดีที่ตั้งจัดการมรดกทั่วไป ผู้ร้องมีส่วนได้ส่วนเสียและเป็นทายาทของผู้ตาย โดยในการร้องจัดการมรดก ทายาททุกคนยินยอมให้ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดก ศาลไต่สวนแล้ว ไม่มีผู้คัดค้าน จึงมีคำสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล

ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกผู้วายชนม์ตามคำสั่งศาล กับ สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม คนละกรณีกัน

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของผู้นั้นตกทอดแก่ทายาท กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ เป็นไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599,1600 เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินทุกชนิดย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม และต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกเท่าๆกัน เว้นแต่สละมรดก หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดก ข้อกฎหมายนี้ ประชาชนทั่วไปย่อมทราบอยู่แล้ว แต่ประเด็นถือครองหุ้นนั้น หุ้นเป็นสังหาริมทรัพย์ อย่างหนึ่ง สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อส่งมอบและครอบครอง

ทั้งนี้ หุ้น เป็นทรัพย์สิน ที่เป็นของเจ้ามรดกผู้วายชนม์(บิดา) ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมโดยปริยาย วิธีการ คือเข้ายึดถือและครอบครอง แต่เนื่องจากหุ้นไอทีวี เป็นทรัพย์สินที่มีทะเบียน การเข้ายึดถือและครอบครอง หากเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดก ในใบหุ้น เอกสาร บจ 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์

หากระบุชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยไม่ปรากฎข้อความอื่นใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ครอบครองในฐานะส่วนตัว ไม่ได้ครอบครองแทนทายาทในฐานะผู้จัดการมรดก หน้าที่ผู้จัดการมรดกจะต้องแบ่งปันทรัพย์ให้แก่ทายาทภายในหนึ่งปีพร้อมจัดทำบัญชีแถลงให้ศาลทราบ เท่าที่ปรากฎทางสื่อ นายพิธาฯ ถือครองหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นมา 16 ปี แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่า ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทหรือไม่ สาระสำคัญ การถือครองหุ้น เป็นการถือครองแทนทายาทอื่นหรือไม่ แต่เนื่องจากใบหุ้น เป็นเอกสารมหาชน ให้สันนิษฐานว่าถูกต้องและแท้จริง ตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 127 ใบหุ้น เอกสารมหาชนจึงผูกพันนายพิธา แม้นายพิธาฯ จะโอนหุ้นให้แก่นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ในภายหลัง(พฤษภาคม 2566) อันเป็นระยะเวลาหลังเลือกตั้ง ภาระการพิสูจน์ นายพิธา จะต้องนำสืบให้ได้ว่า เป็นการถือครองแทนทายาท หรือไม่ อย่างไร

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นการถือหุ้น เป็นหุ้นสื่อหรือไม่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา พิจารณาถึงวัตถุประสงค์หลักที่แท้จริง หากฟังได้ว่า วัตถุประสงค์ไอทีวี ประกอบกิจการโทรทัศน์ แม้มีข้อพิพาทระหว่าง สปน.กับไอทีวี ทำให้ สปน.ยึดคลื่นความถี่ และใบอนุญาต ทำให้ไอทีวีจอดำ แต่ไม่ได้ห้ามให้ไอทีวีไปดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

"ความปรากฎว่า ไอทีวีมีแผนทำธุรกิจสื่อ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ในปี 2560 เป็นต้นมา โดยคาดหมายว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชนะคดี แล้วจะกลับมาทำสื่อทีวีอีก ในระหว่างนี้ ไม่ได้ห้ามให้ไอทีวี ทำสื่อทีวีจอดาวเทียมหรือสื่อออนไลน์อื่น สาระสำคัญที่ ผู้บริหารไอทีวี ออกหนังสือแถลง เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ประสงค์ในการทำธุรกิจ เป็นยาพิษที่วางไว้ หากตีความตามตัวอักษร สรุปว่า ยังไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อเพราะติดคดีความ แต่ยังประสงค์ประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจตาม พรบ.บริษัทมหาชน แม้ถูกถอดจากตลาดหลักทรัพย์ แต่ตลาดหลักทรัพย์ยังควบคุม ไอทีวี ที่เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนอยู่

ดังนั้น การถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ของนายพิธา จะถูกมัดด้วยเอกสารมหาชนใบหุ้นและข้อเท็จจริงที่ปรากฎทั่วไปในการประกอบกิจการบริษัทมหาชนไอทีวีว่า ประกอบกิจการหรือไม่ แม้ไอทีวีจอดำ หุ้นสามารถขายได้หรือไม่ งบดุลรายได้ประจำปี แม้จะมีรายได้อื่น แต่ไอทีวีสามารถประกอบกิจการสื่อได้หรือไม่ เพราะวัตถุประสงค์ห้างหุ้นส่วนบริษัท คำว่า ประกอบกิจการตามความจริง ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ศาลพิจารณาจากทะเบียนการค้ากับการประกอบกิจการ แม้ในระหว่างประกอบกิจการมีเหตุแทรกแซง ไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการเปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้ เป็นประเด็นสำคัญ และพยานสำคัญในการเอาผิดนายพิธา"

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ตนให้ความรู้ทางวิชาการเพิ่มเติม เห็นอาจารย์สอนกฎหมาย หลายคนออกมาให้ความเห็น คลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย ทำให้ประชาชนสับสน ประเด็น การห้าม ส.ส.แทรกแซงสื่อตามมาตรา 184(4) เป็นบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ใน หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่สมาชิกภาพ ส.ส.ได้บัญญัติไว้ในหมวดที่ 2 ว่าด้วย สภาผู้แทนราษฎร ในมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 แยกต่างหากจากกัน แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือลักษณะต้องห้ามในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ประกอบกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42 รวมถึงข้อห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของหรือครอบครองหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จะต้องได้ความว่า เป็นข้อห้าม ก่อนสมัคร ส.ส. ส่วนมาตรา 184(4) เป็นข้อห้ามภายหลังดำรงตำแหน่ง ส.ส.แล้ว รวมถึง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 แห่งรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ก่อนพรรคการเมืองเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้นด้วย ตามมาตรา 89(2) แห่งรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น คำแถลงการณ์ของไอทีวี แต่ไม่ระบุวันที่ ที่เผยแพร่ รวมทั้งคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดก ที่ ปปช.ตรวจสอบ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง หรือพยานหลักฐานบางส่วน ที่คณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวน สำนักงาน กกต.จะรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่การวินิจฉัยชี้ขาดและให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เป็นขั้นตอนแรกในการไต่สวนมาตรา 151 ประกอบมาตรา 42 แห่งกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน จะต้องปฎิบัติตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยมีขั้นตอนการสืบสวนและไต่สวน ที่กำหนดระยะเวลาไว้ให้เสร็จสิ้นภายใน 20 วัน และขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ ไม่เกิน 15 วัน หากคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนไม่เสร็จสิ้น ระเบียบ กกต.ข้างต้น เปิดช่องให้ขยายระยะเวลาได้ โดยก่อนครบกำหนดเวลา 3 วัน คณะกรรมการจะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะในการสืบสวนและไต่สวน ระหว่างรอคำสั่งไม่ตัดอำนาจให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ดำเนินการไต่สวนต่อ

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า กระบวนการหลายขั้นตอน หากสืบสวนเสร็จสิ้น คณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวน จะต้องทำความเห็นและวินิจฉัยชี้ขาด ระบบไต่สวนคดีเลือกตั้งโดยใช้เสียงส่วนใหญ่วินิจฉัยชี้ขาด และส่งสำนวนให้กับเลขาธิการ กกต.โดยระเบียบ กกต.กำหนดขั้นตอน ก่อนส่งให้ กกต.วินิจฉัยชี้ขาด จะต้องส่งสำนวนให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้ง ที่ กกต.ตั้งขึ้นมาวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองสำนวนและทำความเห็นวินิจฉัยชี้ขาด ก่อนที่จะเสนอให้ กกต. หากคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ ทำความเห็นส่งสำนวนกลับคืนไปยังเลขาธิการ กกต.สั่งให้ไต่สวนฯเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ โดยเลขาธิการ กกต.จะสั่งให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนชุดเดิมหรือชุดใหม่ ไต่สวนเพิ่มเติมตามความเห็นคณะอนุกรรมการ หรืออีกช่องทางหนึ่ง หากไม่สั่งให้ไต่สวนเพิ่มเติม ระเบียบ กกต.ให้อำนาจ คณะอนุกรรมการ จะเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร มาสืบสวนหรือไต่สวนเอง สามารถกระทำได้ ก่อนที่จะทำความเห็นและส่งสำนวนให้ กกต.วินิจฉัยชี้ขาดคดีเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หากกกต.เห็นว่า สำนวนสมบูรณ์ สามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้ แต่จะมีความเห็น ยืน ยก กลับ แก้ได้ หากสำนวนไม่สมบูรณ์มีความเห็นสืบสวนหรือไต่สวนให้สมบูรณ์ก่อนวินิจฉัยชี้ขาด สามารถกระทำได้ โดยระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2566 กำหนดกรอบระยะเวลาจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย ให้เสนอพยานหลักฐานหักล้าง ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ชัยชนะ’ ร้อง ‘กกต.’ เร่งรับรอง ‘วาริน’ นั่งนายก อบจ. เมืองคอน

‘ชัยชนะ’ ร้อง ‘กกต.’ เร่งรับรอง ‘วาริน’ นั่งนายก อบจ. เมืองคอน - ชี้ไม่มีใครร้องคัดค้าน หวั่นล่าช้าจะไม่สามารถแถลงนโยบายต่อ ส.อบจ. ที่เหลือวาระถึงวันที่ 19 ธ.ค. และไม่สามารถลงมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้

เลือกตั้งแปลกประหลาด 1ก.พ.เลือกส.อบจ. 76 จังหวัด เลือกนายกอบจ. 47 จังหวัด

กกต. เผยจัดเลือกตั้ง 1 ก.พ.68 เลือก ส.อบจ. 76 จังหวัด เลือก นายก อบจ. 47 จังหวัด เหตุลาออกก่อนและจัดเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้แปลกประหลาด ชี้การออกไปใช้สิทธิของประชาชน คือความชอบธรรมของผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง

กกต. ตั้งเป้าประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ.68 ร้อยละ 65-70

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.  เปิดเผยถึงแผนเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.นี้    โดยยืนยันที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเสาร์

ดร.ณัฏฐ์ ชำแหละ 92 ปีรัฐธรรมนูญ วัฏจักรการแย่งชิงอำนาจ!

ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม ระบุครบรอบ 92 ปีวันรัฐธรรมนูญ ยังวนเวียนอยู่กับวัฏจักรการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง มากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน