อดีตรมว.คลัง จับตารัฐบาลซุกหนี้เงินดิจิทัล ให้ธ.ออมสินกู้แทนไปก่อนผิดหลักนิติธรรม

อดีตรมว.คลัง ชี้เงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะแจกเป็นเงินแผ่นดิน การใช้ช่องว่างกฎหมายโดยให้ธนาคารออมสินกู้แทนไปก่อน อาจเป็นการซุกหนี้สาธารณะผิดหลักนิติธรรม ข้องใจงบฯปี67 ผ่านรัฐสภาแล้ว ไม่มีการตั้งงบฯชดใช้

13 ต.ค.2566 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความเรื่้อง แหล่งเงินดิจิทัล มีเนื้อหาดังนี้

ผมขอแนะนำว่า กรณีที่รัฐบาลของนายเศรษฐากำหนดเวลาในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเดือนเมษายนปี 2567 นั้น
รัฐมนตรีทุกคนที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ควรพิจารณาว่า มีความเสี่ยงจะฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่

ถามว่า เงินที่รัฐบาลจะแจก เป็นเงินแผ่นดินหรือไม่
ตอบว่า เป็นเงินแผ่นดิน
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๓ - ๔/๒๕๕๗ ให้ความหมายของคำว่า "เงินแผ่นดิน" ไว้
"คำว่า "เงินแผ่นดิน" หมายถึง เงินของประชาชนทั้งชาติ โดยหมายความรวมถึง บรรดาเงินทั้งปวง ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ที่รัฐเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค
หรือเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศหรือต่างประเทศอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ มีภาระต้องชำระคืนทั้งเงินต้นหรือดอกเบี้ยจากเงินที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้น เงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... จึงเป็นเงินแผ่นดิน"

ถามว่า เมื่อเป็นเงินแผ่นดิน กฎหมายกำหนดวิธีการใช้ไว้อย่างไร
ตอบว่า รัฐบาลไม่สามารถใช้เงินที่เป็นของประชาชนทั้งชาติได้โดยพลการ แต่จะต้องให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ
หลักการนี้ เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก
รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๐ จึงบัญญัติให้จ่ายเงินแผ่นดินได้ เฉพาะโดยผ่านกระบวนการในบรรดากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

ถามว่า ในกรณีจำเป็นรีบด่วน รัฐบาลจะจ่ายเงินแผ่นดินไปก่อน ได้หรือไม่
ตอบว่า มาตรา ๑๔๐ บัญญัติให้จ่ายเงินแผ่นดินเช่นนี้ได้ แต่การแจกเงินดิจิทัลไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจ จีดีพีไม่ติดลบ ไม่มีโรคระบาดโควิด
การใช้จ่ายเงินแผ่นดินเพื่อกระตุ้นตัวเลขจีดีพี จากตัวเลขบวกน้อย ให้เป็นตัวเลขบวกมากขึ้นนั้น ย่อมไม่สามารถอ้างความจำเป็นรีบด่วนได้
ส่วนแนวคิดจะใช้ช่องว่างในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินฯ โดยให้ธนาคารออมสินกู้แทนไปก่อนนั้น
ผมเคยแนะนำไว้ว่า อาจเป็นการซุกหนี้สาธารณะ อาจผิดหลักนิติธรรม และอาจอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน

ถามว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติกรณีจ่ายเงินรีบด่วน ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร
ตอบว่า มาตรา ๑๔๐ บัญญัติให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในงบประมาณปีถัดไป คืองบประมาณปี 2567
แต่ในการพิจารณางบประมาณปี 2567 ไม่เห็นว่า รัฐบาลของนายเศรษฐามีการตั้งงบประมาณชดใช้ 560,000 ล้านบาท แต่ประการใด

ถามว่า แหล่งเงินสำหรับโครงการ 560,000 ล้านบาท จะมาจากที่ใด
ตอบว่า พรรคเพื่อไทยเคยชี้แจง กกต. ว่าจะมาจาก
1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 : 260,000 ล้านบาท
2. ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย : 100,000 ล้านบาท
3. การบริหารจัดการงบประมาณ : 110,000 ล้านบาท
4. การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน : 90,000 ล้านบาท
และ รมช.คลัง ยืนยันว่า "แหล่งที่มาของเงิน...จะใช้แหล่งของงบประมาณเป็นหลักใหญ่"

ถามว่า การใช้เงินแผ่นดินเพื่อโครงการเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาทดังกล่าว มีการอนุมัติโดยรัฐสภาหรือยัง
ตอบว่า โครงการใช้เงินแผ่นดินระดับ 560,000 ล้านบาท อันเป็นโครงการหลักในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย นั้น
ย่อมไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเล็กน้อยที่รัฐสามารถจะสลับรายการงบประมาณเดิมไปมาได้
การที่รัฐบาลของนายเศรษฐากำหนดเวลาแจกเงินไว้เดือนเมษายนปี 2567 นั้น
มีความเสี่ยง อาจถูกตีความว่า แสดงเจตนาไม่ผ่านกระบวนการบรรดากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ
กล่าวคือ ภายใน dateline เดือนเมษายนปี 2567 เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการอนุมัติโดยรัฐสภา
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการเสนอโครงการนี้ต่อรัฐสภาแล้ว เป็นนโยบายของรัฐบาล และรัฐบาลได้มีการพิจารณางบประมาณปี 2567 ไปแล้ว
จึงมีนักวิชาการด้านกฎหมายบางคน ให้คำแนะนำว่า อาจจะมีความผิดเกิดขึ้น อันเป็นความผิดสำเร็จแล้วด้วยก็ได้

อนึ่ง กรณีสมมุติจะมีการใช้เงินแผ่นดิน 560,000 ล้านบาท โดยโยกลดงบประมาณด้านอื่นเต็มจำนวน นั้น
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จะถือไม่ได้ว่า ไม่มีการใช้เงินจากหนี้สาธารณะ
เพราะขณะนี้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ และต้องกู้หนี้สาธารณะเพื่อชดเชยขาดดุล ปีละ 7-8 แสนล้านบาทอยู่แล้ว
กรณีที่สมมุติรัฐบาลสามารถลดงบประมาณด้านอื่น 560,000 ล้านบาท รัฐบาลก็ควรจะเอางบที่ประหยัดได้นี้ ไปลดขาดดุล ลดหนี้สาธารณะ
เมื่อไม่ทำเช่นนั้น ก็จะมีผลโดยอัตโนมัติว่า เป็นการไฟแนนซ์โครงการนี้ด้วยหนี้สาธารณะ
ผมจึงขอแนะนำให้ รัฐมนตรีที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบทุกคน และคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับโครงการนี้ ศึกษาเรื่องความเสี่ยงผิดกฎหมายให้ละเอียดถี่ถ้วน

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมาคมธนาคารไทย' ลดดอกเบี้ยตอกย้ำความขัดแย้งนายกฯกับผู้ว่าฯธปท.

'อดีตรมว.คลัง' ชี้สมาคมธนาคารไทยลดดอกเบี้ย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯแบงค์ชาติ กลยุทธ์ที่นายกฯ งัดมาใช้นั้นไม่สำเร็จ ไม่มีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนเพราะเป็นเพียงระยะสั้น

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' แนะทางเลือกเหมือน ไทย- มาเลเซีย

'อดีตรมว.คลัง' วิเคราะห์ 'ปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา' ชี้ไม่มีการระบุว่าเป็นการกำหนดแนวเขตทางทะเล ถ้าไทยฟ้องศาลโลกก็ไม่แน่ว่าจะชนะ แนะทางเลือกเจรจายุติปัญหาข้อพิพาท เช่น กรณีไทย- มาเลเซีย

ซูเปอร์โพลชี้ ประชาชนรอคอย รัฐแจกเงินดิจิทัล

จากกรณีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วไปนั้น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง เงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอย

'ธีระชัย' นิยามวิกฤตเศรษฐกิจ ตามมาตรา 53 ต้องพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์ 5 ข้อ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง เงื่อนไขมาตรา 53 มีเนื้อหาดังนี้