“อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะเปิดกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพิ่มประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ พร้อมจับมือ อว.เปิดวอร์รูมน้ำแจ้งเตือนข้อมูลสถานการณ์การทำงานเป็นเอกภาพ
15 ก.ย. 67 – ที่ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมี นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายโชตินรินทร์ เกิดสม นายเชษฐา โมสิกรัตน์ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพยากรณ์และการบริหารจัดการน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทุกเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex)
นายอนุทิน ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กล่าวว่า ปัจจุบันหลายจังหวัดในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยกำลังประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย และจังหวัดริมแม่น้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์อุทกภัย ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยปัจจุบัน (15 ก.ย. 67 เมื่อเวลา 06.00 น.) เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ หนองคาย เลย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี รวม 39 อำเภอ 182 ตำบล 797 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,073 ครัวเรือน
จากข้อมูลการพยากรณ์สภาพอากาศและปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่ท่วมขัง ของกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนนี้ปริมาณฝนยังคงตกหนาแน่นเพราะได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งอาจจะเคลื่อนผ่านหรือเคลื่อนเข้าใกล้ประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักบางพื้นที่ เมื่อมาสมทบกับพื้นที่มีฝนตกสะสมและปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่ อาจทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกขึ้นได้
นายอนุทิน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบกับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้เร่งระดมช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน โดยเฉพาะงบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย หากจังหวัดใดงบประมาณไม่เพียงพอให้รีบดำเนินการขอขยายวงเงินทดรองราชการ เพื่อไม่ให้งบประมาณในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนสะดุด สำหรับพื้นที่ที่น้ำท่วมลดลงเริ่มคลี่คลายแล้วได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจความเสียหายของครัวเรือนประชาชน เพื่อดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาประชาขนอย่างเร็วที่สุดต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความคล่องตัว ได้เน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ขอให้เร่งเข้าความช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดค้างอยู่ในที่อยู่อาศัย โดยจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้ประสบภัยให้เพียงพอ ตลอดจนให้ดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ เหมาะสม และให้พิจารณาความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และผู้ป่วย รวมถึงจัดทีมแพทย์เข้าดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจผู้ประสบภัย พร้อมดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย และเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าและน้ำประปาที่ได้รับความเสียหาย ต้องกลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน เปิดเส้นทางคมนาคมให้สามารถสัญจรได้ตามปกติโดยเร็ว และประสานสถาบันการศึกษาให้นำนักศึกษาอาชีวศึกษาเข้าร่วมสนับสนุนการซ่อมแซม ระบบไฟฟ้า พาหนะ บ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว โดยภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านชีวิต ด้านที่พักอาศัย ด้านสิ่งสาธารณูปโภค ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ และด้านการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนการฟื้นฟูทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
นายอนุทิน กล่าวว่า ขอกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยในระยะเร่งด่วนในห้วงต่อไป โดยเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมแจ้งวิธีการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยกำชับให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบให้เพียงพอ หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ให้ดำเนินการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนเผชิญเหตุอุทกภัย
โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ ควบคุม และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ โดยให้ความสำคัญกับรักษาชีวิตของประชาชนผู้ประสบภัยเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก รวมถึงเตรียมพร้อมทรัพยากรทุกด้าน ทั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และกำลังเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งจัดเตรียมงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะเร่งด่วนให้เพียงพอ ที่สำคัญ ให้จังหวัดรายงานสถานการณ์ ผลกระทบ และการให้ความช่วยเหลือต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดประเมินสถานการณ์ และขอรับการสนับสนุนทรัพยากรหากเกินขีดความสามารถอย่างเร่งด่วน
นายอนุทิน กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะดำเนินการเชื่อมโยงวอร์รูม (War Room) ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. กับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อร่วมคาดการณ์ ประสานการแจ้งเตือนสถานการณ์ให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่รวดเร็วถูกต้อง ชัดเจน และเป็นเอกภาพ รวมไปถึงการสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์น้ำไปยังพื้นที่เสี่ยงได้ตรงเป้าหมายและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งจะลดความสูญเสียและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
“การประชุมในวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงประสานการเพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับสถานการณ์ระยะต่อไปให้มีเอกภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อลดผระทบความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยแก่พี่น้องประชาชน วันนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 จะได้บูรณาการทุกกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหาร่วมกับจังหวัด เพื่อให้การอำนวยการ สั่งการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนประสานความร่วมมือเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไปอย่างมีเอกภาพ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายอนุทิน กล่าว
ด้านนางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว. ได้ร่วมสนับสนุนทีม ปภ. โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลในการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชน และยังมีเครื่องมืออุปกรณ์ อาทิ โดรน ที่จะช่วยเสริมการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ภัย ผ่านวอร์รูม (War Room) ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม อว. กับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ อว. ยังมีครู นักศึกษา ทีมช่าง ที่พร้อมช่วยหนุนเสริมการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อดีตนายกฯชวน' ไล่บี้ดูแลสนามบินตรังโดนทิ้งงาน ปล่อยโจรขโมยถึง 29 ครั้ง
'อดีตนายกฯชวน' ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายสนามบินตรัง หลังผู้รับเหมาทิ้งงาน คนร้ายสบช่องลักสายไฟฟ้า-อุปกรณ์ต่างๆ สารภาพขโมยถึง 29 ครั้ง
'ซาบีดา' ลุยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานมีฝนตกหนักทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ. อุทัยธานี
มท.1 ยันแต่งตั้งโยกย้ายขรก.ระดับสูง ไม่มีสายใคร ทุกคนต้องทำงานรับนโยบายได้
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์เพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า
เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาจับตาเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ
กรมชลประทาน เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เตรียมรับสถานการณ์น้ำ หลังปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ต้องปรับเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาอีกระลอก