'พริษฐ์' เมินกระแสค้าน 'ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม' ย้ำ จำเป็นต้องมีกฎหมายต่อกรรัฐประหาร เชื่อถ้า 'ปชน.-พท.' จับมือกันแน่น กฎหมายผ่านวาระแรกได้ มอง หาก 'สว.' ตีตก ก็ไม่มีผล แค่ยืดเวลาออกไป
10 ธ.ค.2567 - ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กลาโหม โดยเฉพาะการสกัดการปฏิวัติ ว่า ในมุมมองของพรรคประชาชน หรืออดีตพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นกุญแจดอกสำคัญในการปฏิรูปกองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือน ตามหลักการประชาธิปไตย และมาตรฐานสากล
โดยใจความสำคัญที่พรรคได้เสนอไปคือ การพยายามปรับอำนาจที่มาของสภากลาโหม ซึ่งปัจจุบันมาตรา 43 เขียนไว้ว่า การดำเนินการบางเรื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นตัวแทนพลเรือน ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่ต้องทำตามมติสภากลาโหม ที่มีข้าราชการทหารเป็นหลัก ทั้งนโยบายการทหาร งบประมาณ และการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับทหาร ซึ่งครอบคลุมหลายภารกิจมาก
ดังนั้น ข้อเสนอของอดีตพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชนในปัจจุบัน จึงให้ความสำคัญในเรื่องของโครงสร้างสภากลาโหม โดยการปรับลดอำนาจสภากลาโหม จากที่สามารถมัดมือรัฐมนตรีกลาโหมได้ มาเป็นการให้คำปรึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจให้เกิดความสมดุลกันมากขึ้น ระหว่างทหารกับตัวแทนรัฐบาลพลเรือน
นายพริษฐ์ ยืนยันว่า การแก้กฎหมายฉบับนี้ มีความสำคัญต่อการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นกองทัพมืออาชีพ ไม่แทรกแซงการเมือง และเป็นไปตามหลักสากล วันนี้มีอย่างน้อย 2-3 ร่างที่จะเสนอเข้าสู่ โดยเฉพาะร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งใจความของตัวร่างสอดคล้องกับพรรคประชาชน อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่ในภาพรวม คือพยายามปรับให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนมากขึ้น ตนเข้าใจว่าอาจมีร่างของคณะรัฐมนตรี ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
แต่ถ้าดูตามคณิตศาสตร์ทางการเมือง ในสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคประชาชน กับพรรคเพื่อไทยจับมือกันแน่น รวมกันแล้วก็มี สส.ถึง 290 คน ก็สามารถผลักดันให้ทุกร่างผ่านความเห็นชอบของสภาได้ ในวาระที่ 1 คือชั้นรับหลักการ จากนั้นค่อยไปถกกันในชั้นกรรมาธิการ จึงเชื่อว่าการที่บางพรรคไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นอุปสรรค ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน จะโหวตเห็นชอบในร่างของตัวเอง เพื่อให้ผ่านวาระที่ 1 ไป จึงขอเชิญชวน สส. รัฐบาลร่วมกันโหวต
ส่วนหากร่างผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แต่อาจจะไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภานั้น นายพริษฐ์ มองว่า อำนาจของวุฒิสภา ณ ปัจจุบัน ถ้าเป็นการแก้ไขระดับ พ.ร.บ. ไม่สามารถขัดขวางกฎหมายได้ ทำได้มากที่สุดเพียงแค่ชะลอไป 180 วัน เหมือนกฎหมายประชามติ ซึ่งอาจทำให้กรอบระยะเวลาต้องเพิ่มออกไป แต่ถ้าเสียงของสภาเกินกึ่งหนึ่งยืนยันว่าจะแก้ไขร่าง ก็สามารถทำได้
ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ของพรรคก้าวไกลสุดโต่งเกินไปนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าหากมองว่าสุดโต่ง ต้องตั้งหลักว่าจะไปเปรียบเทียบกับอะไร เพราะสิ่งที่พรรคเสนอ คือปรับเปลี่ยนอำนาจของสภากลาโหมเป็นหลัก เพื่อโอนให้อำนาจมาที่รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน
หากเปรียบเทียบกับมาตรฐานของรัฐบาลสากล ก็ถือว่าเป็นปกติ สิ่งที่สุดโต่งมากกว่า ก็คือการที่บอกว่ารัฐมนตรีกลาโหมไม่สามารถตัดสินใจ หรือรับผิดชอบเกี่ยวกับการตัดสินใจได้ เพราะต้องฟังเสียงมติสภากลาโหม พร้อมย้ำว่า ถ้าเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล กฎหมายที่เรามีอยู่ ซึ่งเป็นมรดกจากคณะรัฐประหาร 2549 น่าจะเป็นสิ่งที่สุดโต่ง
ส่วนความเห็นของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ต่างระบุ แม้จะมีกฎหมายออกมา แต่ถึงเวลารัฐประหาร กฎหมายนั้น ก็ไม่สามารถควบคุมได้อยู่ดี นายพริษฐ์ มองว่า พรรคประชาชนพูดมาโดยตลอดว่า รัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่าย และการแก้ไขกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงเรื่องรัฐประหารถูกจำกัดลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่การแก้กฎหมายเป็นการเพิ่มอาวุธ และเครื่องมือ ที่จะทำให้ประชาชน และสถาบันทางการเมือง มีไว้ป้องกัน และต่อกรกับรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีมาตรการอื่นป้องกันรัฐประหาร นอกเหนือจากกฎหมายด้วย หรือ อย่างน้อย ก็ควรร่วมมือกันแก้ไขกฎหมาย ให้มีเครื่องมือ เพื่อป้องกันต่อต้านรัฐประหาร ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิธา' เหน็บเพื่อไทยไม่ตรงปก ฟอร์มดีตอนอภิปรายบิ๊กตู่ แต่พอมาทำเองกลับไม่ได้เรื่อง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ฝากไปถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า เท่าที่นายกฯ ระบุว่าจะให้เป็นวาระอาเซียนนั้น ต้องเรียนกับนายกรัฐมนตรี ว่า Asean Agreement
แค่เทคนิคหาเสียง! 'ทักษิณ' ปราศรัยศรีสะเกษ พล่ามอีกไล่หนูตีงูเห่า
นายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเวทีปราศรัยต่อที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย (ลานกีฬาผู้ใหญ่เฮง) อ.อุทุมพรพิสัย เพื่อช่วยนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยหาเสียงต่อ โดยยังคงมีประชาชนรอฟังการปราศรัยจำนวนมาก
'ทักษิณ' คุยซื้อแมนซิตี้แก้เหงา อยากอยู่เงียบๆ ไม่ยุ่งการเมือง หลังโดนปฏิวัติ
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบนักฟุตบอลสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ เล่าย้อนอดีตว่า ตนเองเคยเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เล่นกีฬาทุกอย่าง พอตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมาเราก็ส่งเสริมสปีตซ้อกเกอร์ แบบประเทศบราซิล
'ทักษิณ' มองสูสี 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' ชิงนายก อบจ.ศรีสะเกษ พรรคส้มแค่ไม้ประดับ
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นปราศรัยเวทีแรกที่อ.กันทรลักษ์ เพื่อช่วยนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ผู้สมัครนายกอบจ. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย(พท.)หาเสียง ว่า การลงพื้นที่วันนี้อาจจะแหบแห้งไปหน่อย
'แม้ว' เหน็บ 'เท้ง' มีหน้าที่เดียวค้านในสภา
ที่จ.ศรีสะเกษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่ วิกฤตหนักในช่วงนี้ ว่า เราต้องยอมรับว่าการเผาเพื่อเกษตรมีมาอย่างต่อเนื่องและไม่ยอมหยุดยั้ง ซึ่งมาตรา
'เพื่อไทย' นอนมา! คว้าชัยเลือกตั้ง 'นายก อบจ.' ค่ายน้ำเงินสูสีส้ม
ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13 - 19 ม.ค. 2568 ได้ทำการสำรวจประชาชนในหัวข้อ "เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2568"