ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน ฟันธงคดีมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงอดีต 44 สส.ก้าวไกล รอดยาก เหตุคำวินิจฉัย ศาลรธน.ในคดีล้มล้างฯ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร
17 ก.พ. 2568 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณี คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ปปช. ส่งเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาผิดจริยธรรมร้ายแรง ต่ออดีต 44 สส. พรรคก้าวไกล ฝ่ายฝืนจริยธรรมร้ายแรง กรณีร่วมกันลงชื่อแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ร้ายแรง ได้บัญญัติข้อห้ามในคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี มาตรา 160(5) รวมถึงห้ามฝ่าฝืนด้วย ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง หากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเห็นว่ามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ไต่สวน ให้ส่งศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1)
ดร.ณัฐวุฒิ อธิบายว่า มาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ถือว่าเป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ทำให้นักการเมืองเกิดความเกรงกลัว ที่ผ่านมานักการเมืองระดับชาติ ถูกเชือดมาหลายราย รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีพ แต่อำนาจเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง กรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่ได้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยผลที่ตามมา กรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นักการเมืองรายนั้น ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่ากรณีใดๆ ด้วย ส่งผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่
นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่าประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภา แยกอำนาจอิสระและถ่วงดุลตรวจสอบกับฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติเป็นใหญ่กว่าฝ่ายบริหาร ให้สังเกตจากประธานรัฐสภามาจาก สส. ส่วน สว.เป็นเพียงรองประธานรัฐสภา อำนาจและหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการตรากฎหมาย รวมถึงปรับปรุง ยกเลิก กฎหมายที่ล้าสมัยด้วย ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร แต่การตรากฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีสถานะไม่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติเท่านั้น
"การร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติก็ดี แก้ไขประมวลกฎหมายก็ดี ล้วนเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือหน้าที่ สส. จะมีความผิดหรือไม่ ที่ทุกคนสงสัยกัน ว่า สส.มีหน้าที่แก้ไขกฎหมาย จะมีความผิดได้อย่างไร ต้องดูการทำหน้าที่ว่า ทำหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่ หากกระทำโดยสุจริต มีเจตนาเพื่อแก้ไขกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ของตน ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่หากมีเจตนาส่อไม่สุจริต ตรงนี้ละ จะเกิดปัญหา เพราะ สส.ท่านนั้น ต้องทราบเป็นอย่างดีว่า เจตนากระทำไปเพื่ออะไร
การที่ 44 สส.พรรคก้าวไกล ในขณะนั้น มีเจตนาร่วมกันลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีเจตนาลดทอนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ แก้บท แก้โทษ โดยเจตนาเล็งเห็นผล เซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตรงนี้เรียกว่า เจตนาไม่สุจริต เลยถูกเชือด นำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา อันนั้นดอกแรก ส่วนดอกนี้ เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ดอกที่สองตรงนี้เรียกว่า ทำเกินอำนาจหน้าที่ หรือ ล้ำเส้น จึงเป็นที่มาของคณะกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.แจ้งข้อหา 44 สส.ในความผิดเกี่ยวกับฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง"
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าหลักฟังความสองฝ่าย ในชั้นการแจ้งข้อกล่าวหา จะให้การด้วยวาจาหรือหนังสือก็ได้ หากดูกรอบระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน กว่าที่คณะกรรมการไต่สวนฯจะสรุปสำนวนเสนอต่อ ปปช.ชุดใหญ่ แม้คณะกรรมการไต่สวนฯแจ้งข้อกล่าวหา แต่ต้องรับฟังพยานหลักฐานรอบด้าน ก่อนจะสรุปว่า คดีมีมูลหรือไม่
ฝ่ายผู้ร้อง ได้นำพยานหลักฐานในสำนวนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล้มล้างการปกครองพรรคก้าวไกล ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กร ฟันธงเลยว่า โอกาสถูก ป.ป.ช.ชี้มูล 44 สส.ค่อนข้างสูงเพราะ ป.ป.ช.จะบิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้
การรับฟังพยานหลักฐานในศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้ระบบไต่สวน จะถือสำนวนและข้อเท็จจริงในสำนวน ปปช.เป็นหลัก แต่ให้โอกาสฝ่ายจำเลยนำสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้เพื่อพิสูจน์ความจริง ซึ่งข้อกล่าวหามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง แตกต่างจากความรับผิดทางอาญา แต่ความจริยธรรมค่อนข้างกว้างกว่าความรับผิดทางอาญา การนำสืบหักล้างค่อนข้างยาก
"ถามว่า 44 สส.จะพิสูจน์แต่เพียงว่า อำนาจหน้าที่ในการแก้ไข ปอ.มาตรา 112 เป็นหน้าที่ของ สส.ฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้นไม่เพียงพอ จะต้องพิสูจน์เจตนาหักล้างให้ได้ว่า มีเจตนาสุจริตในการแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้ทำเกินอำนาจหน้าที่ของ สส. ที่สำคัญจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง ถามว่าจะพิสูจน์หักล้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างฯการปกครองผูกพันศาลฎีกาด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่" ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวถึงผลกระทบทางการเมืองว่า เมื่อ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเองหรือส่งให้อัยการสูงสุด ฟ้องคดี เมื่อศาลฎีกาประทับฟ้อง สส.พรรคประชาชน จำนวน 25 คนจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที สมการการเมืองฝ่ายค้าน ตัวเลขลดลงทันที ระยะเวลาที่เหลือในอายุรัฐบาลนี้ ทำให้การตรวจสอบลดลง เพราะเสียงไม่เพียงพอที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติ ทำให้เกิดกระท่อนกระแท่น ไร้เสถียรภาพ หากศาลฎีกาตัดสิทธิทางการเมือง จะทำให้พรรคส้มต้องไปสร้างทายาททางการเมืองขั้นมาทดแทนใหม่ในการเลือกตั้งปี 2570 เทียบเคียงไม่แตกต่างจาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ผ่านมา เพราะคาบเกี่ยวกับการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สส.หรือ สว.เสี่ยงถูกดำเนินการถอดถอนเรื่องจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมา อันเป็นผลจากการแผลงฤทธิ์ในเรื่องจริยธรรมอย่างร้ายแรงของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง