ถกปมตัดชื่อคนนอกศึกอภิปรายอีกรอบช่วงบ่ายพิลึก! วิโรจน์ชงให้พา 'ทักษิณ' เข้าสภา

'ณัฐพงษ์' จี้ 'วันนอร์' ขอความชัดเจนหากตัดชื่อ'ทักษิณ'ออกจากญัตติ วันอภิปรายพาดพิงคนภายนอกได้ 'ประธานสภา'ลั่นไม่ได้ ขณะที่ 'วิโรจน์' แนะทำหนังสือถึง 'นายกอิ๊งค์' ให้พ่อเข้าชี้แจงด้วยได้

13 มี.ค.2567 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มาทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่เปิดให้สมาชิกหารือเสร็จสิ้นก่อนเข้าสู่วาระ นายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ลุกขึ้นหารือเรื่องการบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าตามหนังสือที่ประธานได้ตอบกลับมาถึงตนเองเมื่อวันที่ 12 มี.ค. เป็นหนังสือด่วนที่สุด เนื่องจากเป็นหนังสือที่โต้แย้งกลับมาในเรื่องของความเห็นที่เรามีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากหนังสือฉบับนี้ลงนามโดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากขอความชัดเจนอย่างแรกว่า หนังสือฉบับนี้ทุกถ้อยคำในหนังสือฉบับนี้เป็นการใช้อำนาจของประธานและประธานก็พร้อมที่จะรับผิดรับผิดชอบต่อทุกข้อสงสัยและทุกการตอบในหนังสือฉบับนี้ใช่หรือไม่

นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า มีหน้าที่และต้องรับผิดชอบ ยินดีรับผิดชอบทุกอย่าง ถ้าเป็นการถามที่เกิดขึ้นจากเลขาธิการฯ เพราะได้ดำเนินการตามหน้าที่และเลขาธิการฯ ก็ตอบตามที่หนังสือของนายณัฐพงษ์โต้แย้งมา

นายณัฐพงษ์ จึงกล่าวอีกว่า อยากได้ความชัดเจนในเรื่องที่หนังสือฉบับนี้ตอบมาว่า คำว่าข้อบกพร่อง ประธานได้วินิจฉัยแล้วว่า ท่านมีอำนาจในการที่จะชี้ข้อบกพร่องในเชิงเนื้อหา แต่ขณะเดียวกันคำตอบของท่านในหน้าถัดไป ท่านบอกว่าท่านยินดีจะให้แก้คำในญัตติเนื่องจากการแก้คำนั้นไม่ได้กระทบสาระสำคัญในญัตติ ซึ่งถ้าอยากจะเดินหน้าต่อสมมุติว่าพวกตนเองยอมปรับคำตามที่ประธานได้นำเสนอ เนื้อหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สมมุติถึงวันในการอภิปรายจริง มีสิทธิ์เต็มที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในการอภิปรายเนื้อหาตามกรอบในญัตติโดยที่จะไม่ถูกเบรกหรือระงับโดยประธานใช่หรือไม่

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยืนยันว่าถ้าท่านได้อภิปรายตามญัตติ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับท่านก็สามารถอภิปรายได้เต็มที่ไม่มีใครขัดขวางทานได้ ยกเว้นว่าท่านอภิปรายผิดข้อบังคับก็อาจจะมีผู้โต้แย้ง ผู้เป็นประธานในที่ประชุมก็ต้องพิจารณาและให้ความเป็นธรรมตรงไปตรงมาตามข้อบังคับ เราอยากจะให้การประชุมของสภาแห่งนี้ได้ดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะไม่ใช่แต่พวกเราเท่านั้น พี่น้องประชาชนทั่วประเทศเขาก็อยากฟัง แต่ไม่ใช่อยากฟังการประท้วงโต้ตอบไปมาจนกระทั่งสารัตถะของการประชุมที่ท่านต้องการ และประชาชนอยากฟังนั้นมันขลุกขลัก

“นี่คือสิ่งที่ผมปรารถนาสุดยอดคือการประชุมโดยที่มีเหตุมีผลตามที่ต้องการ และไม่มีผู้ใดที่จะคอยประท้วงทำให้การประชุมดำเนินไปไม่ได้ดี เพราะในที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในเรื่องสารัตถะ ในเรื่องการดำเนินการประชุมที่จะไปด้วยดี ผมเรียนด้วยความเคารพ”ประธานสภาฯ กล่าว

จากนั้นนายณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ประการหนึ่งที่อยากได้ความชัดเจนเช่นเดียวกัน ประธานยืนยันว่าถ้าตนเองไม่ทำผิดตามข้อบังคับก็ไม่น่ามีประเด็นอะไร ซึ่งตามข้อบังคับระบุไว้ชัดเจนว่าพวกเราสามารถอภิปรายกล่าวถึงชื่อบุคคลภายนอกได้หากไม่ได้ทางความเสียหาย หรือถ้าสร้างความเสียหายผู้อภิปรายเป็นผู้รับผิดชอบเอง ซึ่งจากการให้ข่าวที่ผ่านมาของประธานระบุไว้อย่างชัดเจนว่าที่ประธานไม่สามารถให้ระบุชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ลงไปในญัตติได้ เพราะท่านประธานเสี่ยงที่จะเป็นคนที่ถูกฟ้องร้องเอง ดังนั้น ถ้าวันนี้ปรับคำในญัตติหมายความว่าพวกตนเองยังสามารถเดินหน้าการอภิปรายต่อและพูดชื่อบุคคลใดๆ ก็ได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยที่พวกตนเป็นผู้รับผิดชอบเอง อย่างนี้ประธานยืนยันตามหลักฐานตามหลักการหรือไม่

ประธานสภาชี้แจงว่า ตามที่ผู้นำฝ่ายค้านบอกว่าจะเอ่ยชื่อบุคคลใดก็ได้ โดยที่ท่านจะรับผิดชอบเอง คิดว่าเป็นประเด็นของที่ประชุมนี้ไม่ได้ หมายความว่าผู้พูดจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียวเท่านั้น ถ้าไม่เป็นไปตามข้อบังคับประธานในที่ประชุมซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยก็จะถูกตำหนิและเดินหน้าต่อไปไม่ได้ แต่ตนเองก็ยินดีถ้าหากท่านไม่เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ซึ่งบุคคลภายนอก พูดตรงๆ ว่าไม่ได้หมายความถึงนายทักษิณ จะเป็นผู้อื่นหรือใครก็ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งไม่สามารถที่จะดำเนินการอภิปรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

“ไหนๆ ก็พูดมาแล้วว่าที่เราจะดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งระบุชัดเจนว่าการยื่นญัตติเป็นการอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือเป็นรายบุคคลท่านสามารถจะระบุรายชื่อรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคลได้ แต่ถ้าในญัตติใส่ชื่อบุคคลภายนอกเข้าไปด้วย ท่านคงทราบว่าจะดำเนินการประชุมได้หรือไม่ เพราะเมื่อช่วงท่านอภิปรายเกี่ยวโยงอย่างไรท่านก็สามารถจะพูดได้ บางครั้งการพูดอาจไม่ต้องใช้ชื่อ ท่านจะใช้อย่างอื่นคนก็รู้ได้ คนประท้วงก็ประท้วงไม่ได้ ไม่ได้เชิงแนะนำ แต่อยากให้ไปด้วยดี ไม่ได้บอกว่ามีชื่อนายทักษิณไม่ได้ แต่บุคคลภายนอกเป็นคนอื่นถ้าเอามาใส่ในญัตตินี้ก็คงจะกระทำไม่ได้เช่นเดียวกัน”นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พวกตนต้องการ สิทธิการประท้วง เป็นสิทธิอยู่แล้วถ้ามีการเอ่ยชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่สมาชิกอีกฝั่งหนึ่งไม่เห็นด้วยเขามีสิทธิ์ประท้วง แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือบรรยากาศในที่ประชุมที่ประธานอาจจะไม่ได้วางตัวเป็นกลาง หรือไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับ เพราะหนังสือที่ประธานตอบกลับมาหน้าที่ 3 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าการอภิปรายของสมาชิกผู้แทนราษฎรผู้ใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหายสมาชิกผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเอง ดังนั้นวันนี้อยากได้ความชัดเจนจากประธาน เพราะการบรรจุหรือไม่บรรจุญัตติอยู่ที่ถ้อยคำในญัตติ ซึ่งเป็นอำนาจของประธาน แต่เราตีความต่างกัน ยืนยันว่าพวกเราเห็นว่าประธานไม่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องของเนื้อหาสาระของญัตติ

“ถ้าวันนี้พวกผมจะยอมปรับถ้อยคำในญัตติ ผมอยากได้ความชัดเจนว่าถ้าในวันประชุมจริง ท่านประธานต้องยึดตามข้อบังคับว่า การอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลภายนอกกระทำได้ และพวกผมพร้อมที่จะเป็นผู้รับผิดรับชอบต่อการกระทำนั้นเองโดยที่ประธานจะไม่ใช้อำนาจของประธานในการขัดขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ ​ชี้แจงว่า ก็เคยใช้วาจาอย่างนี้ และเคยใช้ในสภานี้ อาจจะคราวที่แล้ว โดยบอกจะรับผิดชอบเอง หากเอ่ยชื่อบุคคลภายนอกถ้าเขาฟ้อง แต่ประธานก็บอกว่าไม่ได้ เพราะพูดในสภา ประธานที่ประชุมต้องรับผิดชอบในเรื่องกติกา และข้อบังคับ แต่ไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องที่เขาจะฟ้องใคร ถ้าประธานปล่อยให้มีการประท้วงโดยที่ผู้พูดและผู้ประท้วงบอกว่ารับผิดชอบแล้วประธานมาทำหน้าที่อะไร ทั้งที่มีหน้าที่ในการรักษาความเรียบร้อยในที่ประชุมซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ เพราะฉะนั้นขอความกรุณาแต่ถ้าท่านพูดไปแล้วไม่มีคนประท้วงประธานก็อาจจะปล่อยได้ แต่ถ้ามีผู้ประท้วงประธานต้องวินิจฉัยข้อบังคับจะมาบอกล่วงหน้าว่าประธานให้สัญญาได้หรือไม่ ว่าจะไม่ห้ามเมื่อพูดแล้วจะรับผิดชอบเองถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวนอกห้องประชุมก็พูดได้แต่ในห้องประชุมประธานต้องทำหน้าที่ดูแลควบคุมการประชุมให้เกิดความเรียบร้อย เพราะฉะนั้นประธานต้องทักทวงได้ จะไปบอกล่วงหน้าไม่ได้ เพราะไม่ใช่นายณัฐพงษ์คนเดียวที่พูด อาจจะมีสมาชิกคนอื่นหรือรัฐมนตรีทำผิดกติกาข้อบังคับก็ได้ นายกฯทำเองก็ต้องทักท้วง

“ผมขอเรียนด้วยความสุจริตใจว่าเราจะให้คนใดคนหนึ่งหรือพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะกติกาข้อบังคับมีหลายข้อ ขอความกรุณา เมื่อท่านบอกว่ายินดีจะแก้ญัตติก็ขอให้แก้อยู่ในกติกา และผมไม่ใช่คนแรกที่ให้มีการแก้ญัตติ ผมอยู่ในสภานี้มา 40 ปีสมัยที่ท่านชวน เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนั้นนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาท่านก็ขอ ให้ผู้ยื่นญัตติคือท่านชวนกับคณะไปแก้ไข ซึ่งท่านชวนก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าญัตติของท่านบกพร่อง แต่เพื่อให้ความร่วมมือการอภิปรายดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ท่านก็แก้ไขในบางส่วน สุดท้ายการประชุมก็ดำเนินไปด้วยดี ประชุมของสภาเราจะเอาความเห็นส่วนตัวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ในที่สุดต้องร่วมมือกันเพื่อให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยสุดท้ายเราก็มีการลงมติและประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยืนยันว่าผมไม่มีอคติ หากนายณัฐพงษ์จะแก้ญัตติก็ยินดีเพื่อให้ความร่วมมือ เป็นไปไม่ได้ถ้าเราจะดำเนินการอะไรโดยไม่มีความร่วมมือไม่ได้มีใครแพ้ใครชนะ ผู้ชนะคือประชาชน”ประธานสภากล่าว

ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นเสนอว่าให้ประธานใช้ข้อบังคับที่76 สามารถอนุญาตให้นายกฯ และรัฐมตรีเอาบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจงได้เพื่อความสบายใจและเพื่อความเป็นธรรมของนายทักษิณ ประธานก็แค่ทำหนังสือถึงนายกฯว่า อนุญาตให้นายกฯ พาบิดาเข้ามานั่งชี้แจงร่วมด้วยอันนี้ก็จะเป็นความเป็นธรรมของทั้งนายกฯและบิดาของนายกฯ ที่ชื่อทักษิณด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า ไม่ได้หมายความว่าระแวงหรือกลัว สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เคยระแวงและไม่ได้หวาดกลัวถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายและข้อบังคับ

ด้านนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงหลังถูกพาดพิง ว่าขออธิบายสิ่งที่นายวันมูหะมัดนอร์พาดพิงถึงในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยตอนที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในปีนั้นมีการขอให้แก้ไขถ้อยคำในญัตติไม่ได้เกี่ยวกับชื่อบุคคลใด โดยถ้อยคำที่มีการขอให้แก้ไขคือญัตติที่ระบุว่ารัฐบาลกดขี่ข่มเหงข้าราชการ ซึ่งความจริงแล้วถ้อยคำนี้ไม่ควรต้องแก้ไข แต่ขณะนั้นรัฐบาลกลัวฝ่ายค้านมาก ชนิดที่ว่าต้องเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรมาสู้กับตนเอง แต่เราก็ทำหน้าที่ของเราไปตามปกติ โดยเห็นว่าเมื่อประธานสภาได้ขอให้แก้ไขคำว่ากดขี่ข่มเหงราชการให้เป็นอย่างอื่น เราจึงแก้เป็นรัฐบาลชอบอำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงรังแกประชาชน แก้แล้วหนักกว่าเดิม แต่ประธานสภาไม่สามารถให้แก้เป็นครั้งที่ 2 ได้ ทำให้การอภิปรายในวันนั้นอภิปรายไปทั้งข้อความกดขี่ข่มเหงราชการและข้อความที่แก้ไขใหม่ ขอย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวกับชื่อบุคคล

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ต่อไปนี้ถ้าประธานมีการใช้ดุลพินิจว่าห้ามใส่ชื่อบุคคลภายนอกแบบนี้ ต่อไปเราก็จะได้ทราบว่าเป็นบรรทัดฐานของการใช้อำนาจของประธานแบบนี้ เพราะหลังจากที่เกิดเรื่องนี้ ได้ไปค้นคว้ากว่า 40 ปี ตั้งแต่มีสภามา พบว่ามีหลายครั้งที่มีการพาดพิงบุคคลภายนอก และต้องตั้งคำถามว่าหากต่อไปนี้ท่านประธานบอกว่าควรจะมีการถอดชื่อโดยอ้างอิงถึงความบกพร่อง ซึ่งในมุมของพวกเราความบกพร่องต้องเป็นความบกพร่องในรูปแบบ เช่น ลายเซ็นไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแบบนี้เราพร้อมน้อมรับ แต่เมื่อประธานบอกว่าความบกพร่องเป็นการใส่ชื่อบุคคลภายนอก เราคงต้องยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการใช้ดุลพินิจแบบนี้ และอยากให้เป็นมาตรฐานแบบนี้ต่อไปหรือไม่ ส่วนหนังสือที่ส่งมาที่ผู้นำฝ่ายค้าน แล้วปรากฏว่าเกิน 7 วัน นั่นคือวันที่ 8 มี.ค.ในแง่นี้มีการอ้างข้อบกพร่องตามข้อบังคับ ต้องภายใน 7 วันนั้นจะวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร

นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า เรื่องมาตรา 151 เป็นเรื่อง สส.กับรัฐบาล และครม. ก็ต้องดำเนินไปตามกติกาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนวันได้ถามหลายฝ่าย หลักคือไม่ต้องการให้สภายืดเยื้อซึ่งทางเจ้าหน้าที่กองการประชุม และฝ่ายกฎหมายก็ได้ชี้แจงแล้ว ยืนยันว่าในวันที่ 6 มี.ค.ได้เชิญผู้นำฝ่ายค้านฯ ไปคุยที่ห้องแล้วบอกว่ามีข้อบกพร่องขอให้รับไปแก้ไข ผู้นำฝ่ายค้านจึงบอกว่าขอไปหารือก่อน ทั้งนี้คิดว่าการแจ้งด้วยวาจาชัดเจนกว่าด้วยซ้ำ และเถียงกันถือว่าเล็กมากป ระเด็นใหญ่คือทำอย่างไรเราจะได้อภิปราย และถ้าทำผิดก็ยินดีให้ดำเนินการตามมาตรา 157 ได้ไม่มีปัญหา

ทั้งนี้จะมีการหารือกันอีกครั้งในช่วงบ่าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สู้กันมันส์หยด ลุ้นผลเลือกตั้งซ่อมเมืองคอน 4 พรรคบี้กันหนักถึงโค้งสุดท้าย

สู้กันมันส์หยด ลุ้นผลเลือกตั้งซ่อมเมืองคอน ไม่เกินสี่ทุ่มรู้กันใครชนะ หลังสี่พรรค “ภูมิใจไทย-กล้าธรรม-ประชาธิปัตย์-ประชาชน”บี้กันหนักถึงโค้งสุดท้าย  

พท.-ภท.ไปกันต่อ ปี70แดงจับมือส้ม?

กระแสข่าวปรับ ครม.เขี่ยพรรคภูมิใจไทยออกจากรัฐบาล และเตรียมดึงพรรคพลังประชารัฐมา เสียบแทน รวมถึงกระแสสั่งสอนโดยริบโควตากระทรวงมหาดไทย

ประธาน กมธ.ทหาร ฮึ่ม! ส่งเรื่อง ป.ป.ช. สอบ กอ.รมน. ใช้ ม.112 จับนักวิชาการสหรัฐ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เดินหน้าเอาผิดเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. แจ้ง ม.112 กับนายพอล แชมเบอร์ส ควรได้รับการตรวจสอบการใช้อำนาจ จาก ป.ป.ช. โดยยึดหลักความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อมเมืองคอนเดือด​! ​'ภท.-ปชน.-กธ.' ขนแกนนำปราศัยใหญ่ชนกัน

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งซ่อม​สส. เมืองคอนเดือด​ ​'ภูมิใจไทย -ประชาชน - กล้าธรรม' ขนแกนนำพรรค จัดเวทีปราศัยใหญ่ชนกัน หวังคว้า1ที่นั่ง

พปชร. เย้ยไม่บ้าลงเรือใกล้ล่ม รู้ทัน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ไม่กล้าทิ้ง ภท.

'ชัยวุฒิ' เปรียบรัฐบาลเหมือนเรือใกล้ล่ม ใครคิดจะไปลงก็บ้าแล้ว ย้ำ พปชร. ชัดเจนไม่เอากาสิโน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ยังไม่กล้าทิ้ง ภท. รอจับมือพรรคส้มเลือกตั้งครั้งหน้า

'กุนซือ รมว.ทส.' ซัด 2 สส. ปชน. จงใจด้อยค่า 'เฉลิมชัย' ตีปี๊บ 6 เดือน ผลงานเพียบ

'ที่ปรึกษา รมว.ทส.' โต้ 2 สส.พรรคประชาชน จงใจด้อยค่า “เฉลิมชัย” ปิดหูปิดตาจนไม่มองผลงาน แจงยิบ 6 เดือนขับเคลื่อนแก้ปัญหามากมาย ไล่ให้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้สมบูรณ์ก่อน