ปชป. มั่นใจ กม.ลูก 2 ฉบับผ่านฉลุย ลั่นดันเต็มที่เชื่อทุกพรรคเห็นพ้อง

‘ราเมศ’ ลั่น ปชป.พร้อมถกร่างกฎหมายเลือกตั้ง-พรรคการเมือง ผลักดันเต็มที่ เชื่อสภารับหลักการ ทุกพรรคเห็นพ้องเร่งพิจารณาทันกรอบ รธน.กำหนด

21 ก.พ. 2565 – นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ในส่วนของพรรคได้เตรียมความพร้อมในเรื่องข้อมูลการอภิปรายในวาระแรกอย่างเต็มที่ ในส่วนของร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้ง ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญในร่างทั้ง 4 ฉบับ ที่ยังคงมีความแตกต่างกันทั้งฉบับของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ฉบับของฝ่ายค้าน ฉบับของฝ่ายรัฐบาล รวมถึงฉบับของพรรคก้าวไกล

ซึ่งการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผลก็จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะส่งต่อไปยังวาระสอง ในชั้นคณะกรรมาธิการ ร่างที่ใช้เป็นร่างหลักก็เชื่อว่าจะมีการแปรญัตติหรือมีการแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการต่อไป ทั้งในเรื่องบัตรสองใบควรเป็นเบอร์เดียวกันหรือไม่ รวมถึงการคำนวณจำนวน ส.ส. ทั้งหมดก็ต้องว่ากันตามกระบวนการนิติบัญญัติ

นายราเมศ ยังกล่าวถึงร่างแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองว่า ในส่วนที่เป็นร่างของ กกต. มีการเสนอแก้มาน้อยมากแต่ในส่วนของร่างที่มาจากพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ซึ่งรวมทั้งหมด 6 ฉบับ ก็จะมีความแตกต่างกัน ในส่วนของพรรคซึ่งได้นำเสนอและได้ปรากฏอยู่ในร่างของพรรคร่วมรัฐบาล มีความชัดเจนในเรื่องของการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดประจำเขตเลือกตั้งหรือสาขากำหนดให้มีเพียงหนึ่งตัวแทนพรรคหรือหนึ่งสาขาแล้วแต่กรณี แต่หากมีพรรคการเมืองใดมีศักยภาพในการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดหรือสาขาครบทั้ง 400 เขตก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมีการแจ้งว่าจะใช้ตัวแทนพรรคหรือสาขาใดเป็นหลักเพียงหนึ่งเดียวในการรับฟังความเห็นจากสมาชิกเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

และในส่วนของการทำไพรมารีโหวต ยืนยันว่ายังคงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้มีการรับฟังเสียงจากสมาชิกพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้ง คือเมื่อคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกตัวผู้สมัครได้มีการส่งรายชื่อไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว ก็จะมีการเรียกสมาชิกมาประชุมเพื่อที่จะรับฟังความคิดความเห็นในเรื่องผู้สมัคร ส่วนเรื่องเงินบำรุงพรรคก็มีความแตกต่างอยู่พอสมควร ในส่วนของพรรคมีหลักชัดว่าต้องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง โดยไม่อยากให้มีเรื่องค่าใช้จ่ายมาเป็นอุปสรรคในการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง

ทั้งหมดนี้เชื่อว่าเมื่อผ่านการพิจารณาในวาระที่หนึ่งแล้ว ก็จะมีการนำเหตุและผลที่ได้จากวาระแรกไปถกเถียงกันในชั้นคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในชั้นคณะกรรมาธิการก็ได้ แต่จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ภายใต้หลักการและเหตุผลของร่างแต่ละฉบับ

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า พรรคจะร่วมในการผลักดันแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเตรียมพร้อมไว้ในการเลือกตั้งที่จะถึง ยังไม่อยากพูดถึงเรื่องการยุบสภาหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติหน้าที่หลักคือการเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายลูกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะเห็นพ้องต้องกันในการเร่งพิจารณาให้อยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พรรคร่วมรัฐบาลเคาะ 'ทำประชามติ' 3 รอบ เข้า ครม. อังคารนี้

'ภูมิธรรม' คอนเฟิร์มทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ชง ครม. อังคารนี้ คาดทำรอบแรกเดือน ส.ค. ซัดกลุ่มจ้องเคลื่อนไหวห้ามปชช.ใช้สิทธิ์ ปัดหารือหัวหน้าพรรคร่วมเรื่องนิรโทษกรรม

'โรม' เขย่ารัฐบาล ทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่เปลืองงบฯ ปชช.แบกรับความสูญเสีย

“รังสิมันต์’ มอง ทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว เหตุทำ 3 ครั้ง เปลืองงบ-เสียเวลา เตือน หากทุกฝ่ายกลัวการตีความกฎหมาย คนแบกรับความสูญเสียคือ ปชช.  เรียกร้อง ‘วันนอร์’ รีบบรรจุวาระแก้รธน. เข้าสภาฯ

ปชป. ขย่ม 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ ทำไทยไม่ติดอันดับประเทศน่าลงทุน

ปชป. จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข หลังผลจัดอันดับ EIU ไทยไม่ติดประเทศน่าลงทุน เหตุไร้เสถียรภาพการเมือง 'เศรษฐา' มีแค่อำนาจทิพย์ โดน 'อดีต-อนาคต' นายกฯ ประกบตลอด