“พลเอก ประวิตร” นำทีมแถลงผลสำเร็จแก้แล้งปี 64 พร้อมสั่งเข้ม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้

พลเอก ประวิตร” นำทีมหน่วยงานด้านน้ำแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี64/65 พอใจผลงานไม่มีประกาศภัยแล้ง พร้อมสั่งเข้มทุกหน่วยปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 65 อย่างเคร่งครัด ให้พร้อมรับสถานการณ์และการเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) เวลา 10.15 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 และการเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2565 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนทุกหน่วยงานด้านน้ำเข้าร่วม อาทิ กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน เป็นต้น  ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสำเร็จในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูแล้งปี 64/65 ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีการประกาศภัยแล้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติการตามมาตรการและแผนเชิงรุกเพื่อรับมือภัยแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด สามารถลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับฤดูฝนปี 65 นี้ รัฐบาลได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยเพิ่มเติม 3 มาตการ คือ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมถึงการตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนนี้ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ในวันนี้จึงกำชับมอบหมายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย

“ส่วนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ได้กำชับให้คณะกรรมการลุ่มน้ำและอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เร่งบูรณาการข้อมูลและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในเชิงพื้นที่ด้วย สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทั้งงบปกติและงบกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในชุมชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวว่า ทุกหน่วยงานได้ร่วมบูรณาการตามกรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดู และสิ้นสุดฤดู โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย กำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 64/65 พร้อมรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการเป็นระยะ อีกทั้ง ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 65 รวม 2,525 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์ 67,616 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 33.88 ล้าน ลบ.ม. และประชาชนได้รับประโยชน์ 76,004 ครัวเรือน นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานยังได้ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการรับมือภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 65 ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งน้ำทั่วประเทศ (ณ 1พ.ค.65) รวม 46,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ซึ่งในภาพรวมมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 64 ดังนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ กอนช.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผลกระทบในช่วงฤดูฝน คือ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรายเดือนตั้งแต่เดือนพ.ค.–ธ.ค.65 ที่มีข้อมูลระบุรายพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้หน่วยงานได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติในเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด รวมถึงการใช้แผนที่ฝน one map ติดตามสภาพฝนรายภาคในระยะ 3 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด (มิ.ย. - ส.ค.) เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ นำไปวางแผนเก็บกักน้ำหรือระบายน้ำเกิดความสมดุลมากที่สุด

“เพื่อให้การรับมือวิกฤติน้ำได้อย่างทันท่วงที พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานปฏิบัติงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดย กอนช. ได้ Kick Off การฝึกซ้อมแผนไปแล้วที่ จ.สุราษฎร์ธานี และในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ กอนช. เตรียมลงพื้นที่ฝึกซ้อมแผนฯ ณ จ.อุบลราชธานี ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งครอบคลุมหลายจังหวัดของภาคอีสาน อาทิ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม เป็นต้น ซึ่งมักประสบปัญหาอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักและน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม โดยการซ้อมแผนฯ กอนช. จะนำผลการจัดทำร่างผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มาใช้ประกอบการฝึกซ้อมด้วย เนื่องจาก “ผังน้ำ” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวางแผนและบริหารจัดการน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงระบบทางน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงแหล่งน้ำ ทะเล หรือทางน้ำระหว่างประเทศด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พล.อ.ประวิตร”รับหนังสือเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรี เผย พปชร.พร้อม สนับสนุน และพัฒนากลุ่มสตรี เพื่อเป็นกำลังหลักของชาติ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รับหนังสือข้อเสนอประเด็นจริยธรรมทางเพศ จากมูลนิธิเพื่อนหญิงและภาคีเครือข่ายกลุ่มที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิสตรี เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

'สมศักดิ์' ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น อ้างต้องแก้ปัญหาน้ำให้ครบถ้วนตรงจุด

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่า การประชุมวันนี้ มีสาระสำคัญคือ การหารือเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ ที่จะใช้ตามแนวทางของกฎหมายทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ทั่วไทยมีฝน​ 60-80% ของพื้นที่​

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าประจำวันที่​ 7​ ต.ค.2566 ว่า​ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน

ผบ.ทอ.มั่นใจปีนี้ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แน่

ผบ.ทอ. สั่งบิน Diamond DA42 สำรวจน้ำท่วม ส่ง กอนช. ประเมินน้ำท่วม ลุยปฏิบัติการรบข้ามมิติ จัด ฮ.EC725 ลำเลียงผู้ป่วย พร้อมลอกคูคลองป้องกันพื้นที่รอบดอนเมือง