จากวิถีชีวิตคนอีสานสู่งานสร้างอาชีพ...สร้างรายได้

“ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนเพ  กะพออยู่  ทุกข์บ่มีข้าวใส่ท้อง  นอนลี้อยู่บ่เป็น” 

นี่คือคำผญาหรือสุภาษิตของชาวอีสานที่มีความหมายว่า  “แม้จะยากจน  ไม่มีเสื้อผ้าจะสวมใส่  ฝาบ้านจะผุพัง  ลมหนาวจะกรูกันเข้ามา  แต่ก็ยังพอหลบอาศัยอยู่ในบ้านได้  แต่หากทุกข์ยาก  จนไม่มีข้าวจะกิน  จะไปนอนหลบก็ไม่ได้  เพราะฝาบ้านไม่สามารถขวางกั้นความหิวโหยได้”

เช่นเดียวกับชาวบ้านแมดที่ไม่ยอมปล่อยให้ความหิวเล็ดลอดฝาเรือนเข้ามา  เพราะไม่ว่าใครจะรบกับใคร  น้ำมันจะแพงแค่ไหน  คนบ้านแมด  อ.บุณฑริก  จ.อุบลราชธานี  ขอให้มีข้าวเต็มนา  มีปลาร้าเต็มไหเอาไว้ก่อน  เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกคนจะได้กินอิ่มนอนอุ่น  สอดคล้องกับคำขวัญประจำตำบลที่ว่า “ตำบลบ้านแมดถิ่นอีสาน  อาหารอุดม  ปลาร้าปลาส้มขึ้นชื่อ  เลื่องลือน้ำใจ...”

ถิ่นอีสาน  อาหารอุดม  ปลาร้าปลาส้มขึ้นชื่อ’

ตำบลบ้านแมด  มี 12 หมู่บ้าน   ในจำนวนนี้มี 7 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร  ชาวบ้านจึงได้ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ  เช่น  จับปลา  นำปลามาแปรรูป  เช่น  เอาปลาตะเพียน  ปลาจีน  ปลานิล  ปลาสะกาง  มาทำปลาส้ม  ปลาร้า  ปลาตัวเล็กเอามาตากแห้งทำปลาแผ่นหรือปลาวง  มีทั้งทำขายเป็นอาชีพและทำกินในครอบครัว  เป็นวิธีการถนอมอาหาร  เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอีสานที่สืบทอดต่อกันมา

ปลาชนิดต่างๆ ที่จับได้มีขนาดเล็ก

บุญฮู้  ดาราช  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแมด  บอกว่า  ปัจจุบันปลาในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรลดน้อยลงกว่าเดิม  แต่ก็ยังมีชาวบ้านที่หาปลาเป็นอาชีพประมาณ 30-40 ราย  ส่วนใหญ่จะเอาเรือเล็กออกไปวางข่ายดักปลาในตอนเย็น  พอประมาณ 6-7 โมงเช้าก็จะไปกู้ข่าย  เมื่อได้ปลาก็จะเอาไปขายให้คนทำปลาที่มีอยู่ประมาณ 20 ราย

เรณู  จันทะเกษ  ประธานกลุ่มปลาร้าปลาส้มบ้านดอนโจด  บอกว่า  กลุ่มเพิ่งตั้งในปี 2563  มีสมาชิก 25 คน  แต่เดิมชาวบ้านจะทำปลาส้มปลาร้าเก็บไว้กินในครอบครัวอยู่แล้ว  ต่อมาจึงทำเป็นอาชีพ  เพราะอยู่ใกล้แหล่งปลา 

“ปลาที่ทำส่วนใหญ่เป็นปลาตะเพียน  เอามาทำปลาส้ม  วันละประมาณ  25 กิโลฯ  ขายในตำบล  ขายทางเฟสบุ๊ค  กิโลฯ ละ 100 บาท  และมีพ่อค้ามารับซื้อเอาไปขายต่างจังหวัด  ปลาร้า  ปลาแห้งก็มี  ทำกินทำขายได้ทั้งปี”  เรณูบอก 

ส่วนวิธีทำปลาส้มก็ไม่ยาก  เอาปลาตะเพียนมาขูดเกล็ดออก  ควักไส้  ควักเหงือกออก  บั้งปลาให้เป็นริ้ว  ล้างน้ำให้สะอาด  เอาเกลือ  กระเทียมตำหยาบ  และข้าวเหนียวนึ่ง  คลุกเคล้าให้เข้ากับปลา  แล้วเอาไปหมัก  ประมาณ 3 วันปลาจะเริ่มเปรี้ยว  เอามากินหรือขายได้  หรือแช่ตู้เย็นเก็บเอาไว้ได้นาน  

เวลาจะกินก็เอามาห่อใบตองปิ้ง  หรือเอามาทอด  กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ  มีพริกขี้หนู  มีกระเทียม  และผักต่างๆ แกล้ม  เป็นอาหารที่อิ่มอร่อยแบบง่ายๆ ของคนบ้านแมด

บุญฮู้  เสริมว่า  ปลาทุกวันนี้ลดน้อยลง  และโตไม่ทันคนกิน  เช่น  เมื่อก่อนบางครอบครัวจะทำปลาขายประมาณวันละ 100 กิโลกรัม  แต่ทุกวันนี้จะมีคนหาปลาเอามาขายให้เพียงวันละ 50-60 กิโลกรัมเท่านั้น

“ส่วนการฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์ปลาในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรนั้น  สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแมดจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวในท้องถิ่น  เช่น  อบต.  และชาวบ้าน  สร้างกฎ  กติกาขึ้นมา  เพื่อช่วยกันดูแล  ไม่ให้จับปลาแบบทำลายล้าง  งดจับปลาในช่วงฤดูวางไข่  และจะมีการสร้างบ้านปลา  หรือ ‘เยาะปลา’ ขึ้นมา  โดยใช้กิ่งไม้สดหรือแห้ง  เอามามัดรวมกัน  แล้วเอาไปใส่ลงในอ่างเก็บน้ำ  เพื่อให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัย  และห้ามจับปลาบริเวณนี้   เพื่อให้ปลาขยายพันธุ์ต่อไป” 

ปลาเล็ก  เช่น ปลาหางแดงจะเอามาทำปลาแผ่น

ผลพลอยได้จากกลุ่มเลี้ยงควาย

คนบ้านแมดส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  ปลูกข้าวเอาไว้ขายและกิน  ในอดีตจะเลี้ยงควายเพื่อใช้ไถนา  แต่การใช้ควายเพิ่งจะหมดไปเมื่อประมาณ 20-30 ปีมานี้  ส่วนใหญ่จะจ้างรถไถนา  หรือใช้รถไถแบบเดินตามเพราะเร็วกว่าควาย  ทุกวันนี้คนบ้านแมดเลี้ยงวัวควายเอาไว้ขายพ่อค้า  ใช้พื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร  เนื้อที่หลายร้อยไร่  ให้วัวควายและเล็มหญ้าหากินตั้งแต่เช้าตรู่  พอตอนเย็นก็จะต้อนกลับคอก

‘พ่อลม  อัครบุตร’ วัย 72 ปี  ประธานกลุ่มเลี้ยงสัตว์บ้านแมด  เล่าว่า  กลุ่มตั้งขึ้นในปี 2554 โดยกรมปศุสัตว์มาส่งเสริม  ตอนนี้มีสมาชิก 30 ราย  มีวัวควายรวมกันจำนวน 185 ตัว  ส่วนใหญ่จะนิยมเลี้ยงควาย  เพราะควายเลี้ยงง่าย  ทนแดด  ทนฝน  สมาชิกจะเลี้ยงควายอย่างน้อยครอบครัวละ 2  ตัว  คนที่เลี้ยงเยอะมีควายเกือบ 20 ตัว

เลี้ยงควายริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร

“เมื่อก่อนต่างคนต่างเลี้ยง  พอมีกลุ่มก็ได้ช่วยเหลือกัน  ต้อนควายมาเลี้ยงรวมกัน  ช่วยกันดูแล  ต้องฉีดยาป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย  โรคพยาธิ  คนที่เป็นสมาชิกต้องถือหุ้นๆ ละ 10 บาท  ใครเดือดร้อนก็มายืมเงินจากกลุ่ม  สูงสุดไม่เกิน 3 หมื่นบาท  คิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาทต่อปี  ยืมแล้วต้องคืนเงินให้หมดภายใน 1 ปี  ดอกเบี้ยก็จะเอามาปันผลให้สมาชิกตอนปลายปี  ตอนนี้มีเงินกองทุนประมาณ 3 แสนบาท”  พ่อลมบอกถึงประโยชน์จากการรวมกลุ่ม

               พ่อลมบอกด้วยว่า  ควายที่เลี้ยงจะมีพ่อค้ามารับซื้อส่งไปขายโรงงาน  ถ้าเป็นตัวเมียจะมีคนซื้อเอาไปเป็นแม่พันธุ์หรือเอาไปเลี้ยงต่อ  ราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท  ควายจะตกลูกครั้งละ 1 ตัว  มีอายุเฉลี่ย 20-25 ปี   ถ้าเลี้ยงแม่ควาย 1 ตัวจะให้ลูกตลอดชีวิตประมาณ 8 ตัว  พออายุประมาณ 3-4 ปีก็ขายได้  ราคาตัวละประมาณ  30,000-40,000 บาท 

บุญฮู้  ดาราช  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแมด  บอกว่า  กลุ่มเลี้ยงสัตว์บ้านแมดเป็นสมาชิกของสภาองค์กรชุมชนฯ  จึงมีแนวทางที่จะส่งเสริม  โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการเลี้ยงควายให้มีคุณภาพ  พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์  เพื่อให้ได้พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่มีลักษณะดี  ขายได้ราคา  คนเลี้ยงก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น  และยังเป็นการอนุรักษ์ควายไทยไม่ให้สูญพันธุ์  ขี้ควายก็เอามาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำปุ๋ย  ทำเกษตรอินทรีย์  ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่มีราคาแพงขึ้นทุกวัน

จากวิถี...สู่อาชีพ

ชาวอีสานในยุคที่ยังไม่มีถังโลหะหรือถังพลาสติกจะสาน ‘คุ’ จากไม้ไผ่  โดยเอาชันและน้ำมันยางทาภายนอก  เมื่อคุแห้งดีก็เอามาใช้ตักหรือหาบน้ำจากบ่อ  ปัจจุบันมีถังพลาสติกเข้ามาแทน  แต่ชาวอีสานก็ยังเอาไม้ไผ่มาสานข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ  เป็นวิถีที่สืบทอดต่อกันมา

เช่นเดียวกับคนบ้านแมด  ที่นี่ยังคงสืบสานวิถีงานจักสานจากไม้ไผ่  แต่ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย  และสามารถสร้างเป็นอาชีพได้   โดยมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพหลายกลุ่มในตำบลบ้านแมด  เช่น  ‘กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานงานฝีมือบ้านนาแคน’  หมู่ที่  3  ตำบลบ้านแมด  มีสมาชิก 20 คน  แต่ละคนจะสานข้าวของเครื่องใช้ตามที่ตนถนัด  เช่น  กระติบใส่ข้าว  กระด้ง  หวด  กล่องใส่กระดาษทิชชู่  กล่องใส่เครื่องประดับ  กระเป๋าถือ  โคมไฟ  ฯลฯ  ใช้ไม้ไผ่และต้นคล้ามาจักสาน

ราคาขายมีตั้งแต่ 150-1,000 บาท  หากเป็นเครื่องจักสานที่ทำจาก ‘ต้นคล้า’ จะมีราคาสูงกว่าไม้ไผ่  เพราะคล้าปลูกยากกว่าไผ่  เมื่อทำเสร็จแล้วสมาชิกจะนำมาฝากกลุ่มขาย  มีทั้งขายทางออนไลน์  ตามงานออกร้านต่างๆ  รวมทั้งมีพ่อค้ามารับซื้อไปขายต่อ  กลุ่มจะหักรายได้จากการขาย  5 %  เพื่อเป็นค่าจัดการ  สมาชิกแต่ละคนจะมีรายได้ตั้งแต่ 2,000-5,000 บาทต่อเดือน  ตามจำนวนและผลิตภัณฑ์ที่ตนทำ

ป้านงลักษณ์  สีคราม  สมาชิกกลุ่มจักสานบ้านหาดทรายคูณ  หมู่ที่ 1  บอกว่า  เดิมในครอบครัวจะสานหวดนึ่งข้าวเหนียวเอาไว้ใช้เองอยู่แล้ว  พ่อแม่จะเอาไม้ไผ่มาสาน  ทำข้าวของต่างๆ ใช้ตั้งแต่ป้ายังเด็ก  พอโตป้าก็ทำใช้เอง ดูแล้วก็ทำตามได้  แต่เพิ่งทำเป็นอาชีพได้ประมาณ 4 ปี  จะสานหวดเป็นหลัก  เพราะทำไม่ยาก  ขายง่าย  แม้ว่าตอนนี้จะมีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่นึ่งข้าวเหนียวได้  แต่คนอีสานก็ยังนิยมนึ่งข้าวแบบเดิมโดยใช้หวด

ป้านงลักษณ์  นักสานหวดแห่งบ้านแมด

ป้าจะซื้อไม้ไผ่จากคนที่ตัดมาขาย  1 หาบ  ราคาหาบละ 500 บาท  เอามาสานหวดได้ประมาณ 200 ใบ  วันหนึ่งจะสานหวดได้ 10 ใบ  เดือนหนึ่งประมาณ 300 ใบ  ขายส่งให้พ่อค้าใบละ 15 บาท  มีรายได้ประมาณเดือนละ 4,000-5,000 บาท  พ่อค้าจะมารับซื้อเดือนละครั้ง  แล้วส่งไปขายทั่วประเทศ  (ราคาขายที่กรุงเทพฯ ใบละ 25-30 บาท)

“หวดใบหนึ่งจะใช้นึ่งข้าวได้นานหลายเดือน  คนอีสานมีอยู่ทั่วประเทศ  ร้านอาหารอีสานก็มีอยู่ทั่วไป พอหวดขาดก็ซื้อมาใช้ใหม่เพราะราคาไม่แพง  ป้าก็ทำหวดขายได้ทุกวัน”      

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

'พิพัฒน์' ลุย เชียงราย สั่งขยายผล! ล้างรถด่วน ร่วมกับปั๊มจ้างงานเพิ่มทั่วประเทศ ห่วงใยแรงงานเอาท์ดอร์ กำชับเครือข่ายแรงงานพบชาวบ้าน รณรงค์หยุดเผาป่าป้องกันมลพิษฝุ่นควัน จ.เชียงราย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เยี่ยมพบปะให้กำลังใจแรงงานที่ได้รับการฝึกอาชีพตามโครงการคืนคนดีสู่สังคม ศูนย์ฝึกอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล