บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ (ซ้าย) อยู่ใกล้กับบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ (บน)
หากใครเคยไปเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวบ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ หมู่ 14 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะเห็นว่านับจากปากทางเข้าหมู่บ้าน (แยกจากทางหลวงหมายเลข 3218 ห่างจากทะเลหัวหินราว 10 กิโลเมตร) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รายล้อมไปด้วยรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ร่มรื่นด้วยแมกไม้ สระว่ายน้ำ และหมู่บ้านใหญ่ เป็นบ้านเดี่ยวขนาด 100 ตารางวา ราคาไม่ต่ำกว่าหลังละ 4-5 ล้านบาท ซึ่งมีแต่คนมีฐานะและชาวต่างชาติเข้าอยู่อาศัย
ใครจะไปคิดว่า...ที่นี่ก็มี ‘บ้านของคนจน’ บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ ตั้งอยู่อย่างสง่าผ่าเผย แม้หลังไม่ใหญ่โต แต่ก็ดูสวยงาม น่าอยู่อาศัย
“ถ้าไม่มีสหกรณ์ พวกเราก็ไม่มีบ้าน”
‘พี่แพรว’ สุรภา นิลเพ็ชร ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ จำกัด เอ่ยประโยคข้างต้นขึ้นมา...จริงดั่งเธอว่า เพราะนอกจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของตัวเองแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีบทบาทที่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะสหกรณ์จังหวัด เพราะเป็นหน่วยงานในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน
เพราะเมื่อชาวบ้าน คนธรรมดาๆ อยากจะมีบ้านสักหลัง หากไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไปขอกู้เงินจากธนาคารที่ไหนเพื่อซื้อหรือสร้างบ้าน
พี่แพรว ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ ฯ
ดังนั้นเมื่อชาวบ้านมีปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยจึงรวมกลุ่มกันจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช.สนับสนุน นับตั้งแต่กระบวนการรวมกลุ่มแก้ไขปัญหา การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินหรือสร้างบ้าน การบริหารจัดการโครงการ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านจะต้องร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมคน ระดมทุน และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำนิติกรรมต่างๆ และบริหารโครงการ เช่น การเสนอแผนงานและงบประมาณ เพื่อขอใช้สินเชื่อจาก พอช. การซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน ฯลฯ
กรณีชาวบ้านริมทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองหัวหินที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย พวกเขาได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อออมเงินอย่างน้อยครอบครัวละ 300 บาท และเตรียมพร้อมที่จะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถาน
โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ให้การสนับสนุน ส่งเสริม ให้ความรู้ตั้งแต่ความเข้าใจเรื่องสหกรณ์ อุดมการณ์ วิธีการ ระเบียบ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก การจัดทำบัญชี การจัดประชุม ฯลฯ ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จนชาวบ้านสามารถจัดตั้ง ‘สหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ จำกัด’ ได้ในเดือนธันวาคม 2562 และใช้สหกรณ์นี้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโครงการ จนสามารถก่อสร้างบ้านมั่นคงได้แล้วเสร็จทั้ง 70 หลัง
บ้านมั่นคงราคาประมาณ 240,000-300,000 บาท ผ่อนเดือนละ 2,600-3,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 15 ปี
อย่างไรก็ตาม นอกจากสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะมีบทบาทดังกล่าวแล้ว ยังมีหน่วยงานในท้องถิ่นที่ร่วมสนับสนุนชาวบ้าน โดยมีกลไกที่สำคัญ คือ ‘คณะกรรมการเมือง’ ซึ่งประกอบด้วย อบต.หินเหล็กไฟ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) การประปา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานที่ดินจังหวัด กำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบล สหกรณ์บ้านมั่นคงหินเหล็กไฟฯ พอช. และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ที่ช่วยขับเคลื่อน สนับสนุนให้คนจนเมืองหัวหินได้มีบ้านเป็นของตัวเอง
พลังของคนจน
ในช่วงต้นปี 2563 โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หัวหินกลายเป็นเมืองปิด ชายหาดเงียบสนิท ส่งผลกระทบกับชาวหินเหล็กไฟที่เตรียมจะขึ้นโครงการบ้านมั่นคงเช่นกัน เพราะหลายครอบครัวต่างตกงาน โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพนวดแผนโบราณ
บาหยัน บุญมา รองประธานสหกรณ์ฯ บอกว่า ช่วงโควิดลำบากกันมาก จึงคิดหาอาชีพเสริมมาทำ พอดีมีคนรู้จักอยู่ที่ประจวบฯ เลี้ยงปลานิลในบ่อ จึงลงหุ้นกัน ไปซื้อปลามาขาย เอามาทำปลานิลแดดเดียว และขายเป็นปลาสด ขนาด 3 ตัวโลฯ ราคาโลฯ ละ 30 บาท ได้ปลาแล้วก็เอามาช่วยกันทำ ครั้งหนึ่งประมาณ 10 คน ขายทางออนไลน์และขายให้ชาวบ้านกันเอง ได้กำไรครั้งละ 2,000 บาทก็เอามาแบ่งกันเป็นค่าแรง เหลือก็เอามาทำกับข้าวกิน ช่วยประหยัดเงินได้เยอะ
ซื้อปลามาขายช่วงโควิด
“ทำได้ประมาณ 2 เดือน ปลาเริ่มเหลือน้อย อีกทั้งเจ้าของจะขายแบบเหมายกบ่อ ต้องใช้เงินเยอะ พวกเราไม่มีทุน จึงเลิกทำ ตอนนี้บ้านเสร็จแล้ว จึงมีแผนจะทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง มีรายได้ โดยจะทำตู้น้ำดื่ม เพราะชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินทุกวัน และจะทำร้านค้าสหกรณ์ คือมีข้าวของจำเป็นต่างๆ ขาย เช่น ข้าวสาร น้ำมัน น้ำปลา นม ไข่ แต่เราจะไม่ซื้อของมาสต็อก ใครอยากจะได้อะไรก็ให้มาลงชื่อ สหกรณ์จะสั่งซื้อมาขาย จะได้ไม่ต้องลงทุนสต็อกของ กำไรก็จะเข้าสหกรณ์ สิ้นปีมีกำไรก็จะนำมาปันผลให้สมาชิก” บาหยันบอกถึงแผนงานต่อไป
นอกจากนี้ชาวชุมชนหินเหล็กไฟยังเตรียมความพร้อมในการอยู่อาศัยร่วมกันทั้ง 70 ครอบครัว ผู้อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 300 คน เช่น มีกฎกติกาของชุมชน ช่วยกันดูแลความสะอาด ความปลอดภัย ฯลฯ มีระบบกลุ่มย่อยเพื่อบริหารจัดการชุมชน โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มย่อย เพื่อจะได้ช่วยเหลือดูแลกันได้ทั่วถึง และมีตัวแทนแต่ละกลุ่มเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อบริหารสหกรณ์
นี่คือตัวอย่างพลังของคนจน จากชาวชุมชนริมทางรถไฟที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นผู้บุกรุก ทำให้เมืองเกิดชุมชนแออัด เกิดแหล่งเสื่อมโทรม...วันนี้พวกเขาช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง โดยมีหน่วยงานภาคีช่วยหนุนเสริม ทำให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง แม้จะไม่ใหญ่โต่โอ่อ่า แต่พวกเขาก็ภาคภูมิใจ !!
เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พอช.’ ชี้แจง ชาวบ้าน 41 ราย โดนฉ้อโกง ‘อ้างบ้านมั่นคง’ ออกใบเสร็จปลอมเชิดเงิน 8 ล้าน เตรียมแจ้งความดำเนินคดี
พอช. / กรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า มีกลุ่มชาวบ้านย่านดอนเมือง-หลักสี่ กรุงเทพฯ ประมาณ 41 ราย
อดีตอาจารย์ มธ.เล็กเชอร์หลักเศรษฐศาสตร์ให้ว่าที่ขุนคลังหญิงคนแรกอย่าพายเรือให้โจรนั่ง!
'สุวินัย' พร้อม 'ศ.ดร.ชวินทร์' สอนเศรษฐศาสตร์แบบติดดินเบื้องต้นให้ว่าที่ขุนคลังหญิงก้าวไกล พร้อมเตือนอย่าพายเรือให้โจรเด็กนั่ง เพราะนโยบายที่ออกมานั้นชัดเจนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำสร้างหายนะการคลัง
'พิธา' ฟังทางนี้! ยกบทเรียนมะกัน 'เลิกเกณฑ์ทหาร' ยิ่งเหลื่อมล้ำชัดขึ้น
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร?
"ดงขี้เหล็กโมเดล" ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเอง
วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 บันทึกเทปรายการ Suthichai Live 8t ว่าด้วย "ชุมชนเข้มแข็ง ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี” ณ สถาบันการเงินชุมชนบ้านขอนขว้าง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โดย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. พร้อมคณะ และ ทีมจากธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมศึกษาพื้นที่ตำบลเข้มแข็งในครั้งนี้ด้วย
‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม. เปิดงาน ‘ร้อย รักษ์ โลก’ ที่คลองเปรมประชากร’ ด้าน พอช. พัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว 10 ชุมชนกว่า 1 พันครอบครัว
จัดงาน ‘ร้อย รักษ์ โลก เปรมสุข ณ คลองเปรมประชากร’ ที่ชุมชนประชาร่วมใจ 1 ริมคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน
ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.เดินหน้า ใช้โซเชียลมีเดียหนุนการพัฒนาชุมชน-เศรษฐกิจฐานราก
พอช. / ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช. เดินหน้าใช้โซเชียลมีเดียหนุนการพัฒนาชุมชน-สร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยการสร้างแนวร่วม ดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วมสร้างพลังแห่งการสื่อสาร