จากพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่โครงการพระราชดำริด้านทันตกรรม

ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ เผย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องทันตกรรมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และพระราชดำรัสในวาระต่างๆ ได้รับการนำมาปฏิบัติต่อจนกลายเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์มากมายหลายโครงการ

ศาสตราจารย์พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดเผยว่า จากการที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทันตแพทย์ประจำพระองค์ เป็นเวลา 46 ปี ได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกร

ศาสตราจารย์พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช

ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรมกล่าวต่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับด้านทันตกรรมไว้หลายเรื่อง  ซึ่งภายหลังคณะทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้ร่วมกันนำมาหาแนวทางในการปฎิบัติจนกลายเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปหลายโครงการ อาทิ

“การที่จะให้ชาวไร่ชาวนา ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนาเข้ามาหาทันตแพทย์เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือสุขภาพในช่องปาก ย่อมเป็นไปได้ยาก น่าที่ทันตแพทย์จะต้องเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว”  ทำให้เกิดหน่วยทันตกรรมพระราชทานขึ้นเมื่อปี 2513 และยังดำเนินการต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 

“รากฟันเทียมนี้ดีจริงๆ ถ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังมีพระชนมชีพอยู่ อยากให้ทำถวายท่าน เพราะระยะหลังท่านเสวยอะไรไม่ค่อยจะได้ สิทธิ 30 บาทรักษาได้หรือไม่ ราษฎรจะได้มีโอกาสใส่รากเทียมบ้าง”  จากพระราชดำรัสในครั้งนั้น ทำให้เกิดการการวิจัยพัฒนาและผลิตรากฟันเทียมได้ภายในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสที่ว่า “คนเราเวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ทำให้เกิดโครงการฟันเทียมพระราชทานขึ้น ซึ่งนำไปสู่สิทธิประโยชน์การทำฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุภายในประเทศฟรี

และจากพระราชดำรัสที่ว่า “คนแก่อย่างเรามีเยอะ ทันตแพทย์ต้องช่วยดูแล” ก็นำไปสู่การจัดทำ แผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพช่องปาก

ประธานกรรมการมูลนิธิทันตวัตกรรมฯ กล่าวต่อว่า พระราชดำรัสสำคัญอีกครั้งที่ทำให้บทบาทและภารกิจของทันตแพทย์กว้างขวางยิ่งขึ้นคือ  “ทันตแพทย์ไม่ควรสนใจแต่การรักษาเพียงอย่างเดียว ควรสนใจเรื่องการศึกษาวิจัยและประดิษฐ์ของขึ้นใช้เองภายในประเทศ” และจากพระราชดำรัสในครั้งนั้น ทรงมีพระบรมราชานุญาตจัดตั้ง “มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2522 ขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปป้องกัน รักษา ฟื้นฟู รักษา โรคทางทันตกรรมแก่ประชาชน พร้อมสนับสนุนการบริการด้านทันตสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ

“จะเห็นได้ว่า จากพระราชดำรัสที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในด้านทันตสาธารสุข และเป็นแนวทางให้พวกเราได้ไปหาทางที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติได้จริง จนนำสู่โครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก “ ประธานกรรมการมูลนิธิทันตวัตกรรมฯ กล่าว

Website: www.dent-in-found.org

Facebook: https://www.facebook.com/dentalinnovation40

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCWWuHSnPKN6UmXHK7J6FDQw

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ นำ ครม. ทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล 'ในหลวงรัชกาลที่ 9'

เมื่อเวลา 07.30 น. ที่ท้องสนามหลวง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง และภริยา พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีสวดพระพุทธมนต์และพิธีทำบุญตักบาตร ถวายพระราชกุศล เนื่องในวันนวมินทรมหาราช

พิพิธภัณฑ์บัญชาจัดแสดงนิทรรศการรำลึก 'ในหลวงรัชกาลที่ 9'

พิพิธภัณฑ์บัญชา จัดแสดงนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ และ พระบรมสาทิสลักษณ์ ที่หาชมยากมา รวมถึงแสตมป์สะสมสมัยรัชกาลที่ 9 และภาพพระราชทาน

ย้อนรอยพระพุทธชินสีห์ ภ.ป.ร.50 ปี รำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ เล่าเรื่องราวความเป็นมาการจัดสร้างพระพุทธชินสีห์ ภ.ป.ร.50 ปี พระประจำวิชาชีพทันตแพทย์ สะท้อนให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อทันตแพทย์

มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ เผยผลงานวิจัยและพัฒนา พร้อมต่อยอดสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม

มูลนิธิทันตนวัตกรรม เดินหน้าสานต่อแผนงานด้านงานวิจัยและพัฒนา พร้อมต่อยอดสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม สร้างโอกาสให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนาที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศ

มูลนิธิทันตนวัตกรรม เปิดผลงานวิจัยและพัฒนา “โครงการน้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อจากหญ้าแฝก”

มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาและต่อยอดโครงการวิจัยหญ้าแฝกเป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผสมสารสกัดจากหญ้าแฝกในระดับอุตสาหกรรม