แกนนำบ้านมั่นคงเทศบาลตำบลเวียงสระ โครงการ 2 มีสมาชิก 86 ครอบครัว ประมาณ 300 คน
สมาชิกปลูกผักอินทรีย์มีรายได้เดือนหนึ่งกว่า 1 หมื่นบาท
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 15-16 ปีก่อน คนจน คนหาเช้ากินค่ำในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 100 ครอบครัว ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ส่วนใหญ่บุกรุกปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินของการรถไฟฯ และที่ดินสาธารณะ ไม่รู้ว่าจะถูกขับไล่ในวันใด บ้างเช่าบ้านอยู่อาศัยเดือนละ 2-3 พันบาทมานานหลายสิบปี ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก เพราะเงินที่หามาได้ต้องเจียดมาจ่ายค่าเช่าบ้านทุกเดือน
ส่วนความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองและครอบครัวนั้นก็แสนยาก...เพราะลำพังหากินไปวันๆ ก็ฝืดเคืองเต็มที ที่สำคัญก็คือ...คนจนๆ ธนาคารที่ไหนเขาจะมาเห็นหัว...ปล่อยเงินให้กู้ซื้อหรือสร้างบ้านเป็นแน่ !!
แต่วันนี้ความฝันของคนจนเมืองเวียงสระรวม 130 ครอบครัวเป็นจริงแล้ว เพราะพวกเขาร่วมกันจัดทำ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ขึ้นมา โดย 44 ครอบครัวแรกสร้างบ้านเสร็จและเข้าอยู่ตั้งแต่ปี 2553 ส่วนอีก 86 ครอบครัวเริ่มทะยอยสร้างบ้านตั้งแต่ปี 2555 และแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2560 และอีกเกือบ 200 ครอบครัวกำลังจะเริ่มต้น...
คนเวียงสระรวมพลังสร้าง ‘บ้านมั่นคง’
ในปี 2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช’ มีโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ โดย พอช.สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มคนในชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย เช่น อยู่อาศัยในที่ดินบุกรุก ที่ดินเช่า เช่าที่อยู่อาศัย ฯลฯ ให้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการ สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน ร่วมกันออมทรัพย์เป็นรายเดือนเพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน ซื้อที่ดิน ฯลฯ โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ มี 10 ชุมชนนำร่องทำโครงการบ้านมั่นคงในปีนั้น เช่น กรุงเทพฯ ระยอง อุตรดิถต์ สงขลา
เขตเทศบาลตำบลเวียงสระ เป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของธนาคาร ห้างร้าน ร้านทอง วัสดุก่อสร้าง ตลาดสด สถานีรถไฟ รถโดยสาร ฯลฯ จึงมีผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง ค้าขายรายย่อย ขายอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง บ้างบุกรุกที่ดินรัฐ ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย บ้างเช่าบ้านอยู่ มีผู้ที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยกว่า 300 ครอบครัว
ชาติชาย กิจธิคุณ อายุ 56 ปี กรรมการเครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองเวียงสระ บอกว่า ตนเป็นครอบครัวหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง เริ่มรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2549-2550 โดยมีเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาให้คำแนะนำ รวบรวมผู้ที่เดือดร้อน อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่อยู่ในที่ดิน รฟท. รวม 5 ชุมชน มาร่วมกันออมทรัพย์รายเดือนเพื่อเป็นทุน ครอบครัวหนึ่งอย่างต่ำเดือนละ 500-600 บาท ใครมีมากก็ออมมาก
ต่อมาได้ร่วมกันหาซื้อที่ดินเอกชนในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน รองรับผู้เดือดร้อนได้ 44 ครอบครัว จัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา ถือเป็นโครงการแรกในอำเภอเวียงสระ และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการโครงการ ใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเวียงสระ จำกัด’ โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้าน รวมประมาณ 10 ล้านบาท สนับสนุนระบบสาธารณูปโภค ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า ฯลฯ ประมาณ 1.5 ล้านบาทเศษ
สร้างบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 5X9 ตารางเมตร ราคาประมาณหลังละ 210,000 บาท ผ่อนประมาณเดือนละ 2,100 บาท สร้างเสร็จ 44 หลังในปี 2553 โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น เป็นประธานการมอบบ้านในเดือนมกราคม 2553
“ตอนนี้ผมผ่อนบ้านมาแล้ว 15 ปี เหลืออีกไม่กี่งวดก็จะหมดแล้ว เงินที่เคยผ่อนคืน พอช.เดือนละ 2,100 บาท ก็จะเหลือเป็นเงินเก็บให้ครอบครัวเอาไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ผมคิดว่า...ถ้าชาวบ้านไม่ร่วมกันทำโครงการบ้านมั่นคงในตอนนั้น ตอนนี้ผมและคนอื่นๆ ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน อย่างดีก็อาจจะเช่าบ้านคนอื่นอยู่ แต่ตอนนี้ผมมีบ้านเป็นของตัวเอง ให้ลูกและครอบครัวได้อยู่ ผมภูมิใจมากครับ” ชาติชายบอกความรู้สึก
บ้านมั่นคงเวียงสระ โครงการแรก 44 ครอบครัว
เสียงจากชุมชนบ้านมั่นคง ‘เปี่ยมสุขเวียงสระ’
นอกจากผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ จำนวน 44 ครอบครัวที่รวมตัวกันในนาม ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเวียงสระ จำกัด’ เป็นโครงการแรกแล้ว ยังมีผู้เดือดร้อนอีก 86 ครอบครัวที่รวมตัวกันสร้างบ้านมั่นคงในชื่อ ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเปี่ยมสุขเวียงสระ จำกัด’ เป็นโครงการที่ 2
อดุลย์ ทองด้วง อายุ 72 ปี อาชีพรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า อดีตประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเปี่ยมสุขฯ บอกว่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงสระโครงการแรกรองรับผู้เดือดร้อนได้เพียง 44 ครอบครัวเพราะพื้นที่มีน้อย แต่จำนวนผู้เดือดร้อนยังมีอีกหลายร้อยครอบครัว หลายชุมชน ตนและผู้เดือดร้อนคนอื่นๆ จึงรวมตัวกันเพื่อจะจัดทำโครงการบ้านมั่นคงโครงการ 2 ขึ้นมา
เริ่มรวมตัวกันออมเงินในปี 2551 เดือนละ 600 บาทต่อครอบครัว มีสมาชิกเริ่มแรกประมาณ 60 ราย สมาชิกต้องเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม ต้องประชุมกันทุกเดือน ต่อมาเมื่อบ้านมั่นคงโครงการแรก 44 ครอบครัวสร้างเสร็จในปี 2553 จึงทำให้คนอื่นๆ เกิดความเชื่อมั่นว่า “คนจนสามารถรวมตัวกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้จริง” โดยมีหน่วยงานรัฐหรือ พอช. รวมทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น เทศบาลร่วมสนับสนุน
อดุลย์ ทองด้วง อดีตประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงเปี่ยมสุขเวียงสระ
ในเวลาต่อมาสมาชิกได้เพิ่มขึ้นเป็น 86 รายหรือครอบครัว และจัดซื้อที่ดินในเขตเทศบาล เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ ราคาประมาณ 5.4 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างบ้านในปี 2555 ขนาดที่ดินครอบครัวละ 4.20 เมตร x 9 เมตร ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถวแบบทาวน์เฮ้าส์ ขนาด 2 ชั้น โดยเทศบาลตำบลเวียงสระและ พอช.สนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค และ พอช.ให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,200 บาท สร้างบ้านเสร็จทั้งหมดในปี 2560
“ชาวบ้านผ่อนชำระค่าที่ดินและสร้างบ้านกับ พอช. ระยะเวลา 15 ปี ตอนนี้ผ่อนไปแล้วประมาณ 10 ปี เหลืออีกไม่กี่ปีก็ผ่อนหมด ถ้าผ่อนหมดแล้ว ผมคิดว่าจะไม่แบ่งแยกโฉนดเป็นรายคน เพราะถ้าทำแบบนั้นบ้านและที่ดินอาจจะหลุดมือ คนที่มีเงินจากข้างนอกอาจจะเข้ามาซื้อ อยากให้พวกเรารวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือดูแลกันตลอดไป ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่เหมือนบ้านจัดสรร” อดีตประธานสหกรณ์บอก
ธงชัย อ่ำบำรุง อายุ 55 ปี อาชีพช่างเสริมสวย ประธานสหกรณ์ฯ คนปัจจุบัน บอกว่า เมื่อก่อนเช่าบ้านอยู่เดือนละ 3,000 บาท แต่ตอนนี้ผ่อนแค่เดือนละ 2,200 บาท ถ้าผ่อนหมดก็จะทำให้มีเงินเหลือเก็บ มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง ช่วงโควิดก็หากินลำบาก หลายคนไม่มีรายได้ ไม่มีเงินผ่อนบ้าน ตนในฐานะประธานฯ ก็จะคอยไปถามข่าว ไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านที่เดือดร้อน ไปให้กำลังใจ ส่วนครอบครัวที่ติดโควิด สหกรณ์ฯ ก็เอาข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารแห้งไปแจก
อ้อยใจ เพชรเชนทร์ อายุ 39 ปี อาชีพลูกจ้างขายข้าวแกง บอกว่า เมื่อก่อนอยู่กับครอบครัวตรงศาลแขวง เป็นที่ดินรัฐ ต่อมาถูกไลที่ เมื่อรู้ข่าวมีโครงการบ้านมั่นคงช่วยเหลือคนจนจึงมาเข้าร่วม พอสร้างบ้านเสร็จก็มาช่วยงานสหกรณ์ฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบ
“พวกเราอยู่ที่นี่เหมือนพี่กับน้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน สร้างบ้านแต่เราไม่สร้างรั้ว เพราะเรามีเพื่อนบ้านที่ดี ดีกว่ามีรั้ว” อ้อยใจบอก
บ้านมั่นคงเปี่ยมสุขดูสวยงามสะอาดตาไม่แพ้บ้านจัดสรร
พลิกที่ดินร้างสร้างสวนผักอินทรีย์สมาชิกมีรายได้
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 พอช.จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท’ เพื่อช่วยลดผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของชาวชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยสนับสนุนงบประมาณไปสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจัดทำโครงการลดผลกระทบขึ้นมา เช่น สร้างอาชีพ สร้างแหล่งอาหาร ฯลฯ
ที่เทศบาลตำบลเวียงสระ สภาองค์กรชุมชนตำบลเทศบาลเวียงสระเป็นแม่งานในการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อทำแปลงรวมเกษตรอินทรีย์ขึ้นมา ได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐีนีใจบุญ ‘แม่สุนันทา บัวลอย’ ให้ใช้ที่ดินกลางเมืองเวียงสระ เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ เพื่อปลูกผักอินทรีย์ โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณจำนวน 250,000 บาท เพื่อพลิกที่ดินรกร้างเป็นแปลงเกษตร เช่น ปรับหน้าดิน ขุดบ่อน้ำเพื่อรดแปลงผัก ต่อท่อน้ำเข้าแปลงผัก ฯลฯ
ชาติชาย กิจธิคุณ สมาชิกแปลงเกษตรอินทรีย์
ชาติชาย กิจธิคุณ สมาชิกแปลงเกษตรอินทรีย์ บอกว่า เริ่มทำแปลงผักอินทรีย์ในช่วงโควิดปี 2563 มีสมาชิกจากบ้านมั่นคงโครงการ 1 และ 2 มาปลูกผักเกือบ 20 ราย โดยแต่ละคนจะยกร่องทำแปลงปลูกผักของตนเอง ใครอยากปลูกอะไรก็ปลูกและดูแลเอง เช่น คะน้า ผักกาดหอม กวางตุ้ง ผักบุ้ง โหระพา ชะอม ฯลฯ เมื่อได้ผลผลิตบางคนก็จะนำมาขายที่แผงริมถนนหน้าแปลงผัก บางคนก็เอาไปส่งแม่ค้าในตลาด หรือเอาไปทำกับข้าวในครอบครัว ไม่ต้องเสียเงินซื้อ
“ตอนนี้มีสมาชิกบ้านมั่นคงมาปลูกผักประมาณ 20 คน ปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ใช้น้ำสมุนไพร ใช้สะเดา หรือยาฉุนฉีดไล่แมลง เก็บขายได้ทุกวัน อย่างต่ำคนนึงจะได้ประมาณวันละ 200 บาท ส่วนผมปลูกผักบุ้งจีน เพราะใช้เวลาปลูกแค่ 20 วันก็เก็บขายได้ แต่ถ้าเป็นผักอื่นต้องใช้เวลารอบนึง 45 วัน ผมขายกิโลฯ ละ 40 บาท ขายส่ง 30 บาท วันนึงจะขายได้ประมาณ 500 บาท เก็บขายได้ทั้งเดือน เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่น 5 พันบาท” ชาติชายบอก และว่า สมาชิกที่ขายผักจะนำเงินรายได้ 10 เปอร์เซ็นต์เข้ากองกลาง เพื่อช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ทำเกษตร ตอนนี้มีเงินกองกลางประมาณ 3,000 บาท
ผักอินทรีย์ต้นอวบงามไม่ต้องใช้สารเคมี ราคาขายกิโลกรัมละ 40 บาท
อดุลย์ ทองด้วง ในฐานะกรรมการเครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองเวียงสระบอกว่า ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระทำโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว 2 โครงการ รองรับผู้เดือดร้อนได้ทั้งหมด 130 ครอบครัว แต่ยังมีชุมชนที่มีรายได้น้อย มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยอีกหลายร้อยครอบครัว ดังนั้นชุมชนที่เดือดร้อนจึงเตรียมจัดทำโครงการบ้านมั่นคง โครงการ 3 ขึ้นมา รองรับผู้เดือดร้อนได้อีกประมาณ 182 ครอบครัว
“ผมอยู่ที่เวียงสระมานานหลายสิบปี กว่าจะมีบ้านมั่นคง มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองอย่างทุกวันนี้ ก็ต้องเช่าบ้านและย้ายบ้านมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง เมื่อยังมีพี่น้องที่ยังเดือดร้อน ยังไม่รู้ว่าจะถูกเจ้าของที่ดินไล่ที่ในวันไหน เราก็ต้องช่วยเหลือกัน เพราะเราเคยเดือดร้อน เคยลำบากมาก่อน และเมื่อเรามีบ้านแล้ว เราก็ยังช่วยกันส่งเสริมเรื่องอาชีพ เช่น ปลูกผัก ใครมีที่ว่างๆ เล็กๆ น้อยก็ปลูกผักได้ ไม่ขายก็ได้กิน อย่างผมมีที่ข้างบ้านนิดเดียวเดือนนึงยังเก็บผักขายได้ประมาณ 3 พันบาท” กรรมการเครือข่ายบอกทิ้งท้าย
นี่คือตัวอย่างของคนจนเมืองเวียงสระ..นอกจากจะร่วมกันสร้างบ้านมั่นคง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยแล้ว พวกเขายังร่วมกันสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ช่วยเหลือจุนเจือกัน...เป็นการ ‘สร้างบ้าน’ ที่ได้มากกว่า ‘บ้าน’ !!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พล.อ.เกรียงไกร' ร่วมรำลึก 83 ปีสงครามมหาเอเชียบูรพา
“พล.อ.เกรียงไกร” รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 นำประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี รำลึก 83 ปีสงครามมหาเอเชียบูรพา นำสักการะอนุสาวรีย์ครูลำยอง วิศุภกาญจน์ เนื่องในวันวิญญาณ ประจำปี 2567 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย