บอร์ด พอช.เดินหน้าพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่อง 60 ทั่วประเทศ เป้าหมายพัฒนาคนตั้งแต่เด็กสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ด้านที่อยู่อาศัยเสนอ ครม.พัฒนาชุมชนที่ดิน รฟท. 2.7 หมื่นครัว

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ตำบลบางคู้  อ.ท่าวุ้ง  จ.ลพบุรี  เป็นศูนย์ต้นแบบในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ภาพ facebook ดร.กอบศักดิ์)

พอช. / ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช. เดินหน้าพัฒนาศูนย์เด็กนำร่อง 60 แห่งทั่วประเทศ  โดยใช้แนวทางการจัดการเรียนแบบไฮสโคป  เพื่อให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างอิสระ  ส่งเสริมการพัฒนาสติปัญญา-สังคม  เพื่อพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก  โดยจะร่วมกับชุมชน  ท้องถิ่น  และภาคเอกชน  ส่วนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  พอช.เตรียมเสนอโครงการพัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.  รวม 27,084 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณ 7,718 ล้านบาท  และการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบ่อนไก่ที่โดนไฟไหม้ 80 ครัวเรือน

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ โดยมี ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานการประชุม  โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ  คณะกรรมการจากชุมชน     นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันฯ  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประมาณ 30 คนร่วมประชุม

การประชุมในวันนี้มีวาระที่สำคัญหลายเรื่อง  เช่น  การขับเคลื่อนการส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่อง 60 แห่งทั่วประเทศ  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากระบบรางรถไฟทั่วประเทศ  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบ่อนไก่  กรุงเทพฯ ที่โดนไฟไหม้  ฯลฯ

พอช. เดินหน้าพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่อง  60 แห่งทั่วประเทศ

การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กชุมชน  เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งด้านสมอง  สติปัญญา  อารมณ์  และสังคม  โดยการนำแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ ‘ไฮสโคป’ (High  Scope) มาใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ทั้งนี้ไฮสโคปจะเน้นให้เด็กเป็นผู้เล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ  อย่างอิสระด้วยตนเอง  โดยมีของเล่น  หนังสือ  สื่อ  อุปกรณ์การเรียน และกิจกรรมต่างๆ  ที่เหมาะสม 

โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ดร.กอบศักดิ์  ผู้บริหาร พอช.  ผู้นำชุมชน  และภาคเอกชน  เช่น  กลุ่มเซ็ลทรัล  ธนาคารกรุงเทพ  ได้เดินทางไปศึกษาดูงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบที่ตำบลบางคู้  อ.ท่าวุ้ง  จ.ลพบุรี  ซึ่งนายแพทย์สันติ  ลาภเบญจกุล  ผอ.รพ.ท่าวุ้ง  และนางอุไรลักษณ์  ลาภเบญจกุล  ผู้บริหารโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) ได้นำรูปแบบการเรียนแบบไฮสโคปมาใช้ที่นี่  เพื่อจะนำแนวทางมาใช้พัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่อง 60 แห่งทั่วประเทศต่อไป

ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช.

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  เรื่องการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก  มีหลายหน่วยงานและภาคเอกชนที่สนใจจะสนับสนุนการพัฒนาเด็ก  รวมทั้งกองทัพบกก็สนใจที่จะทำโครงการนี้ด้วย   โดยในวันนี้ทราบข่าวว่ามีบางพรรคการเมืองมีนโยบายที่จะให้เงินสนับสนุนเด็กเล็กคนละ 1,200 บาทต่อเดือน  ซึ่ง พอช.ก็จะต้องทำเรื่องนี้และคิดรูปแบบให้ดี  เพื่อให้เกิดนโยบายในการสนับสนุนและผลักดันต่อไป  

ขณะเดียวกัน  ปัญหาสำคัญก็คือ  ค่าใช้จ่ายเรื่องครู  ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับกองทุนโรงไฟฟ้าว่า  หากมีศูนย์พัฒนาเด็กอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันนั้น  กองทุนจะสามารถสนับสนุนชุมชนได้หรือไม่  นอกจากนี้จะต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อใช้พื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ในอนาคตอาจจะปิดตัว  เพื่ออาจจะขอใช้พื้นที่โรงเรียนนำมาเปิดเป็นศูนย์เด็กเล็ก  เพื่อให้เกิดโรงเรียนคุณภาพในพื้นที่

การเรียนแบบไฮสโคปจะส่งเสริมให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างอิสระ  ส่งเสริมจินตนาการ  สติปัญญา  ฯลฯ (ภาพ facebook ดร.กอบศักดิ์)

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวว่า  การใช้ 60 ศูนย์เด็กเล็กสร้างคน  สร้างความรู้  สร้างวิธีการ ต้องใช้การเริ่มต้นในการสร้างคน  พัฒนาคน (training) จากท้องถิ่นและท้องถิ่นอื่น   เพื่อทำเรื่องศูนย์เด็กเล็กดังให้มากขึ้น  ทำให้เกิดวิธีคิดในชุมชน เป็นการสร้างวิธีคิดของคนและสังคม ที่จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กเล็ก  เด็กปฐมวัย  ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาอนาคตของประเทศ  

“การ training จะทำให้เกิดคนขึ้นอีกมาก  การขยายในพื้นที่อื่นๆ จะเกิดได้อย่างอัตโนมัติ  ต้องชวนท้องถิ่น  ชวนหน่วยงาน  ชวนสถาบันที่สนใจมาร่วมกันทำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยการสนับสนุนงบประมาณและการขับเคลื่อนต่อเพื่อให้ชุมชนเป็นเจ้าของและทำต่อไปได้ในอนาคต  และหากทำให้เป็นวาระของภาคประชาชนในการดูแลพัฒนาการศึกษาของเด็ก  น่าจะทำให้เกิดความสนใจ  เป็นการเชื่อมโยงโดยสภาองค์กรชุมชนตำบล  ร่วมกับ สพฐ. เพื่อให้เกิดการออกแบบ  และสร้างความร่วมมือต่อไป” นางสาวสมสุขกล่าว

ข้อตกลงในการเล่น  สร้างกติกา  การอยู่ร่วมกันในสังคม

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า  พอช. จะเปิดเวทีทำความเข้าใจศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับชุมชนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้  เพื่อให้การพัฒนาเด็กเล็ก  พัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่ความยั่งยืน  โดยจะมีการระบุคุณสมบัติของชุมชนที่มีความสนใจและมีความพร้อมที่จะทำศูนย์เด็กเล็ก  โดยจะมี 2 รูปแบบ คือ 1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 60 ศูนย์  ดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น  2.พื้นที่กลางเป็นพื้นที่/ศูนย์กลางของชุมชน  โดยจะมีการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กมาทำกิจกรรมร่วมกัน

ทั้งนี้ตามแผนงานของ  พอช. และคณะทำงาน  หลังจากเปิดเวทีสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศูนย์เด็กในชุมชน/ตำบลแล้ว  ในเดือนมีนาคมจะจัดประชุมเพื่อประเมินชุมชนที่มีความสนใจ  เพื่อคัดเลือกชุมชนนำร่องที่มีความพร้อมจำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ 

หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม-เมษายนจะมีการปฐมนิเทศ  สร้างความเข้าใจกับบุคลากร  ครู  และฝึกปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางไฮสโคปเป็นเวลา 10 วันที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบางคู้   อ.ท่าวุ้ง  จ.ลพบุรี  เพื่อนำมาพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่องภายในปี 2566 จำนวน 10 แห่ง  และขยายเป็น 60 แห่งต่อไป

สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนั้น  1.เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชุมชนขยายผลการทำงาน  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดยเริ่มต้นตั้งแต่การพัฒนาเด็กปฐมวัย  2.สนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนในศูนย์เด็กเล็กร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เช่น  อบต.  เทศบาล  และภาคีเครือข่าย  ภาคเอกชน  3.พัฒนาความรู้การดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน  4.สร้างพัฒนาการและการเรียนร็ที่เหมะสมกับวัย

(ภาพ facebook ดร.กอบศักดิ์)

หนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท.-ชุมชนบ่อนไก่

นอกจากการขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กดังกล่าวแล้ว  ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ หรือบอร์ด พอช. ยังรับทราบความคืบหน้าการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยของ พอช.  โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ  เช่น  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รถไฟรางคู่สายอีสาน  สายใต้  รถไฟความเร็วสูง  ฯลฯ

ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากระบบรางรถไฟ  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565  ตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพี่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-Move  โดย ครม.มอบหมายให้ พอช.จัดทำแผนงานรองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย  หลังจากนั้น พอช.และภาคีเครือข่าย  เช่น  สลัม 4 ภาค  ได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ  พบว่ามีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 300 ชุมชน  ในพื้นที่ 35 จังหวัด  รวม 27,084 ครัวเรือน

โดย พอช.ได้จัดทำแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ  เช่น  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงบประมาณ  และเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลนโยบายด้านที่อยู่อาศัย (นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์)  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบ  คาดว่า ครม.จะพิจารณาได้ภายในเดือนมีนาคมนี้  เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วภายในปี 2566 นี้  จะสามารถดำเนินการได้ประมาณ 939 ครัวเรือน

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  รวม 27,084 ครัวเรือน  ตามแผนงานจะใช้งบประมาณทั้งหมดจำนวน 7,718  ล้านบาทเศษ  พอช.จะดำเนินการตามแนวทางบ้านมั่นคง  คือ  ให้ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน  เช่น  เงินอุดหนุน เพื่อสร้างสาธารณูปโภค สร้างบ้าน (เฉลี่ยครัวเรือนละ 160,000 บาท)  สินเชื่อระยะยาว  ดอกเบี้ยต่ำ  (ไม่เกินครัวเรือนละ 250,000 บาท  ระยะเวลา 20ปี)

รูปแบบการพัฒนา   เช่น  เช่าที่ดิน รฟท.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ระยะยาว  กรณีอยู่ในที่ดินเดิมไม่ได้  ต้องจัดหาที่ดินเพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่   หลังจากนั้น พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต  และส่งเสริมอาชีพชาวชุมชนต่อไป

การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบ่อนไก่  ชุมชนบ่อนไก่  เขตปทุมวัน  เป็นชุมชนแออัด  เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565  บ้านเรือนเสียหายประมาณ 30 หลัง  แต่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก  เพราะสภาพบ้านเรือนแออัด  หลังหนึ่งอาศัยอยู่หลายคน  หลายครอบครัว  ที่ผ่านมา  พอช. ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชาวชุมชน  รวม 84 ครอบครัว  จำนวน 1.5 ล้านบาท  และประสานงานสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อจัดหาที่ดินรองรับเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  โดยชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอมทรัพย์รายเดือนเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย

นางสาวสมสุข  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวว่า  ล่าสุด สนง.ทรัพยสินฯ ได้จัดหาที่ดินรองรับชาวบ้านบริเวณเลียบทางด่วนที่จะลงถนนพระราม 4 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่  ใกล้ชุมชนเดิม  และเป็นย่านเศรษฐกิจ  โดยมีบริษัทเอกชนมาช่วยออกแบบ  เบื้องต้นจะเป็นอาคารสูงประมาณ 4-5 ชั้น  ทุกชั้นจะสามารถเปิดเป็นร้านค้าหรือประกอบอาชีพได้  ห้องพักสามารถต่อเติมได้  เพื่อให้เหมาะกับการอยู่อาศัย  ส่วนชั้นล่าง  อาจเปิดให้เอกชนมาเช่าเพื่อทำธุรกิจการค้า  เพื่อนำรายได้มาอุดหนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยชาวชุมชน  และชาวชุมชนสามารถขายอาหารหรือสตรีทฟู๊ดได้  มีพื้นที่ปลูกผัก  พื้นที่สีเขียว  ด้านบนดาดฟ้าทำเป็นโซล่าฟาร์ม 

เราไม่อยากทำให้เป็นแบบแฟลต  อยู่แบบต่างคนต่างอยู่   การจัดการเป็นปัจเจก ซึ่งคนมีรายได้น้อย หรือคนจน  ต้องทำให้เกิดความเป็นชุมชน  หากทำทุกชั้นได้  จะทำให้เกิดที่อยู่อาศัยแนวใหม่   มีระบบค้าขาย  มีพื้นที่ปลูกผัก สร้างพื้นที่สีเขียว และมีการใช้พลังงานอย่างประหยัด”  ที่ปรึกษาบอร์ด พอช. กล่าวในตอนท้าย

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. มอบความช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ชาวชุมชนบ่อนไก่

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ