กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายวัฒนธรรม” ประจำปี พ.ศ. 2566 วันแรก มีสภาวัฒนธรรมและเจ้าหน้าที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด เลขานุการสภาวัฒนธรรมจังหวัด และเจ้าหน้าที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 56 คน เข้าร่วม เพื่อพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) ผ่านการบรรยายด้านวิชาการ และการเสวนาด้านวัฒนธรรมจากเหล่ากูรูด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งนายโกวิท ผกามาศ อธิบดี สวธ. เป็นประธานเปิดการประชุม
สำหรับประชุมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายวัฒนธรรม” ปีนี้ในพื้นที่ภาคใต้ กำหนดระหว่างวันที่ 25-28 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมมาร์ลิน โฮเทล จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากมุ่งเน้นพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับงานด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ยังถือโอกาสเปิดพื้นที่ให้เหล่า วธจ. ได้ส่งเสริม สนับสนุน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิด Soft Power อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ สอดคล้องกับบริบทหรือยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสืบสาน รักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น สร้างให้เกิดเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมจากทุกภาคส่วนแบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ เป็นเวทีที่ให้ทุกคน ซึ่งเป็นภาคประชาชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผนึกกำลัง เพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมงานวัฒนธรรมร่วมกัน อันเป็นไปตามปรัชญาที่ว่าวัฒนธรรมเป็นของประชาชน ดังนั้น การดำเนินงานวัฒนธรรมให้บรรลุผลต้องให้ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานวัฒนธรรมอย่างมีบทบาทสำคัญและขอชื่นชมประธานสภาวัฒนธรรม กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดภาคใต้ ที่ได้ดำเนินงานวัฒนธรรม ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้วยดีมาโดยตลอด
“ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเครือข่ายวัฒนธรรมทุกคนจะใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมทุกคนมีความพร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตนเพื่อภารกิจพัฒนางานวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง ผาสุก ของประชาชน ภายใต้หลักการเดียวกัน” อธิบดี สวธ. กล่าว
ด้าน นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดี สวธ. กล่าวถึงภาพรวมของกิจกรรมในการประชุมครั้งนี้ว่า กิจกรรมในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ แบ่งเป็น 2 กิจกรรม อาทิ การบรรยายด้านวิชาการ ได้แก่ การบริหารจัดการสภาวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มวยไชยา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากคุณค่าสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมาของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และการเสวนาการดำเนินงานวัฒนธรรม “การบูรณาการขับเคลื่อนงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม” เป็นต้น โดยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถร่วมถ่ายถอดประสบการณ์ ได้แก่ นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จ่าเอกพิรพร อุลิตผล วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ต.ท.ชวรวย ฉิมเรศ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี อ.สุรัติ เพชรพริ้ม เจ้าของค่ายมวยไชยา สุรัติ มวยไชยายิม และการศึกษาดูงานเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทุกกิจกรรมได้รับความสนใจจากผู้ร่วมประชุมเป็นอย่างดี