ย่างก้าว ‘คนจนนครสวรรค์’ ร่วมมือรัฐ-เทศบาลแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง 17 ปี...มีบ้านใหม่แล้ว 39 ชุมชน 3,600 ครัวเรือน-สร้างสวัสดิการ เสนอไอเดียขอใช้ที่ดินรัฐ-ท่าเรือร้างรองรับคนจนอีก 40 ชุมชน

สภาพที่อยู่อาศัยในชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองนครสวรรค์ก่อนการพัฒนา

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์และพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มตั้งแต่ปี 2549  จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 17 ปี  แก้ไขปัญหาไปแล้ว 39 ชุมชน  เกือบ 4,000 ครัวเรือน  แต่ยังมีชุมชนผู้มีรายได้น้อยอีกเกือบ 40 ชุมชน  ผู้เดือดร้อนกว่า 3,000 ครัวเรือนยังมีปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย  เพราะขาดที่ดินรองรับ  เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์เสนอแนวคิดขอใช้ที่ดินรัฐ  ท่าเรือร้างนครสวรรค์ 40 ไร่  สร้างอาคารสูง 5 ชั้น  และเตรียมที่ดิน 2 ไร่เศษของบ้านมั่นคงสวรรค์เมืองใหม่ขึ้นอาคารสูงรองรับ

 ใช้ที่ดินรัฐแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

 อร่ามศรี  จันทร์สุขศรี  ประธานเครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์  บอกว่า  17 ปีที่ผ่านมา  เครือข่ายฯ ร่วมกับ พอช. รัฐ-หน่วยงานเจ้าของที่ดิน   และเทศบาลนครนครสวรรค์  แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้พี่น้องคนจนในเขตเทศบาลและอำเภอใกล้เคียงไปแล้ว  รวม 39 ชุมชน  จำนวน  3,598 ครัวเรือน  แต่ปัจจุบันยังเหลือผู้ที่เดือดร้อน  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 40 ชุมชน รวม 3,063 ครัวเรือน  ประมาณ 15,000 คน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บ้านเช่า   1,832 ครัวเรือน  และครอบครัวขยายอีก 1,231 ครัวเรือน 

“แต่ปัญหาก็คือ  เรายังขาดที่ดินรองรับพี่น้องที่ยังมีความเดือดร้อน  เพราะที่ดินในเมืองนครสวรรค์มีราคาแพง  คนจนเข้าไม่ถึง   จึงต้องขอใช้ที่ดินรัฐ  เพื่อเช่าระยะยาวทำโครงการบ้านมั่นคง  แต่ยังติดปัญหาอีกว่า  ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินสีน้ำเงิน  ผังเมืองกำหนดให้เป็นที่ดินสงวนเพื่อใช้ประโยชน์ทางราชการ  จึงขอใช้เพื่อทำที่อยู่อาศัยไม่ได้”  อร่ามศรี  ประธานเครือข่ายฯ บอกถึงอุปสรรค

แผนที่ชุมชนบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์  (ภาพจากเครือข่ายชุมชนเมืองนครสวรรค์)

อย่างไรก็ดี   เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์ยังมีแผนงานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยคนจนอีก 2 แนวทาง  คือ 1.ขอใช้ที่ดินท่าเรือนครสวรรค์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี  กรมเจ้าท่า  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  (ตรงข้ามเกาะญวน / ดูแผนที่)  ซึ่งแต่เดิมมีเอกชนเช่าท่าเรือดำเนินการขนส่งสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยา  แต่กิจการไม่ดี  ปัจจุบันปล่อยท่าเรือทิ้งร้าง 

ทั้งนี้ที่ดินท่าเรือนครสวรรค์มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 440 ไร่   เป็นที่ดินที่กรมธนารักษ์ดูแล     แต่เครือข่ายจะขอใช้ที่ดินแปลงที่ไม่ติดกับท่าเรือ (พื้นที่แปลงนี้ประมาณ 100 ไร่) จำนวน 40 ไร่  เพื่อนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัย  ซึ่งตามแผน งานจะก่อสร้างเป็นอาคารสูงไม่เกิน 5 ชั้น  จำนวน 40 อาคารๆ ละ 56 หน่วย  รวมทั้งหมด  2,240 หน่วย/ห้อง  ราคาต่อห้องประมาณ  577,000 บาท   ส่วนงบประมาณมาจากสินเชื่อ พอช.  และผู้อยู่อาศัยสมทบ

2.จะใช้ที่ดินในโครงการ ‘บ้านมั่นคงสวรรค์เมืองใหม่’ (หลังสำนักงานอัยการ) เขตเทศบาลนครนครสวรรค์  ซึ่งทำโครงการบ้านมั่นคงเสร็จไปแล้วตั้งแต่ปี 2561  จำนวน 102 หลัง  มีเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่  เป็นที่ดินเช่าระยะยาว 30 ปีจากธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์  แต่ยังเหลือที่ดินว่างเปล่าอีกประมาณ 2 ไร่เศษ  เครือข่ายฯ จึงมีแผนนำที่ดินที่เหลือนี้มาสร้างที่พักอาศัยในรูปแบบอาคาร 2 ชั้น  เพื่อให้ผู้เดือดร้อนเช่าอาศัยในราคาถูก  ระยะยาว  โดยจะมีการจัดประชุมผู้ที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและสนใจจะเข้าร่วมโครงการในเร็วๆ นี้

“ค่าห้องเช่า  บ้านเช่าในเมืองนครสวรรค์  เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2-3 พันบาท  แต่เราจะทำให้มีราคาเช่าต่ำกว่า  เช่น  เดือนละ 1,500 บาท  คนมีรายได้น้อยจะได้มีเงินเหลือเก็บเอาไว้ใช้จ่าย  หรือสะสมเป็นทุนประกอบอาชีพ  เป็นสวัสดิการชีวิตต่อไป  ส่วนที่ดินท่าเรือนครสวรรค์นั้น  ที่ผ่านมาเราได้คุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้างแล้ว  แต่ยังไม่มีความคืบหน้า  เครือข่ายฯ ก็จะต้องเจรจาผลักดันต่อไป”  อร่ามศรีบอก

อร่ามศรีกับบ้านใหม่ที่ชุมชนสวรรค์เมืองใหม่  ที่ดินธนารักษ์ให้เช่า 30 ปี  และมีพื้นที่เหลืออีก 2 ไร่เศษจะทำที่อยู่อาศัยรองรับผู้เดือดร้อนในชุมชนต่างๆ  ได้อีกจำนวนหนึ่ง

17 ปี...ย่างก้าวนี้มีตำนาน

ในปี 2546  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  มีโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศที่เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  เรียกโครงการนี้ว่า “บ้านมั่นคง” มีชุมชนนำร่องทั่วประเทศจำนวน 10 แห่ง  เช่น  ชุมชนบ่อนไก่ในกรุงเทพฯ   แหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง  บุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์  เก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ 

มีหลักการที่สำคัญ  คือ  ชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมตัวและเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา    เช่น  ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน  ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนและฝึกการบริหารจัดการเงิน-บัญชี จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  เพื่อทำนิติกรรมและบริหารโครงการ-งานก่อสร้างที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

ส่วน พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย  จะมีบทบาทในการสนับสนุนชุมชน  เช่น  พอช. ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำปรึกษา  ส่งเสริมการรวมกลุ่ม  มีสถาปนิกชุมชนแนะนำการออกแบบผังชุมชน-แบบบ้าน  สนับสนุนสินเชื่อและงบประมาณ (บางส่วน) หน่วยงานเจ้าของที่ดิน  เช่น  กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินราชพัสดุระยะยาว (30 ปี)  ในอัตราผ่อนปรนฯลฯ

เครือข่ายชุมชนเมืองนครสวรรค์ร่วมเดินรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อหลายปีก่อน

ส่วนที่ จังหวัดนครสวรรค์  ในปี 2549  พอช. เริ่มเข้ามาสนับสนุนให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์  รวมตัวกันแก้ไขปัญหา  เช่น  ปรับปรุงสาธารณูปโภค  ทางเดิน  ทางระบายน้ำ ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรมหรือสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม  โดย พอช.ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้านและสนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง (บางส่วน)

อร่ามศรี  จันทร์สุขศรี  ประธานเครือข่ายพัฒนาชุมชนนครสวรรค์  เล่าถึงจุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยว่า  นครสวรรค์เป็นประตูไปสู่ภาคเหนือ  เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ  ทำให้ที่ดินมีราคาแพง  ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ แต่จำเป็นต้องอยู่อาศัยในเมืองเพราะเป็นแหล่งทำมาหากิน  เช่น  เป็นแม่ค้า  ขายผักขายปลาในตลาด  ทำงานรับจ้างทั่วไป  งานก่อสร้าง  ถีบสามล้อ  ฯลฯ

ส่วนใหญ่บุกรุกอยู่อาศัยในที่ดินราชพัสดุ  ที่ดินวัด เทศบาล  การรถไฟฯ   บ้างเช่าบ้าน  เช่าที่ดินเอกชน  ฯลฯ  มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  เสี่ยงต่อการโดนไล่ที่  รวมทั้งสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม   มีปัญหาขยะ  น้ำเน่าเสีย  บ้านเรือนทรุดโทรม  ต้องพ่วงน้ำประปา  ไฟฟ้าจากข้างนอกชุมชนเข้ามาใช้ในราคาแพง   ประชาชนมีรายได้น้อย  ฐานะยากจน  ฯลฯ

ขณะเดียวกัน  หน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  เทศบาลนครนครสวรรค์  ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ  เช่น  กลุ่มสตรี  กลุ่มผู้สูงอายุ  ฯลฯ  แต่ยังไม่มีโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

เมื่อ พอช. เข้ามาทำงาน ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ในชุมชนต่างๆ จึงส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา  ออมกันเดือนละสิบบาท-ร้อยบาท  เพื่อฝึกการบริหารจัดการการเงินชุมชน  ฝึกวินัยการออม  ใครมีมากก็ออมมาก  และเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่ทรุดโทรมและสภาพแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น  เช่น  ทางเดิน  ท่อระบายน้ำ  ฯลฯ

เริ่มที่ ‘ชุมชนเขาโรงครัว’ ในปี 2549  เป็นชุมชนบุกรุกที่ดินราชพัสดุ  ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์  มีบ้าน เรือนทั้งหมด  156  ครอบครัว   โดยชุมชนได้รับการสนับสนุนจากธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์  ให้เช่าที่ดินแปลงเดิมระยะยาว  เพื่อการอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  ไม่ต้องกลัวจะโดนไล่รื้อ  มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 64 ครอบครัว  โดย พอช. สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านในที่ดินเดิม  

หลังจากนั้นโครงการบ้านมั่นคงชุมชนเขาโรงครัวจึงเป็นต้นแบบของโครงการบ้านมั่นคง  และขยายไปยังชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์  เช่น  วัดเขาจอมคีรีนาคพรต  รณชัย  ฯลฯ  ซึ่งต่อมาตัวแทนชุมชนต่างๆ  ได้รวมกันเป็น ‘เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์’  เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นจริง   มีการสำรวจชุมชนที่เดือดร้อนเพื่อเป็นใช้ข้อมูลเป็นฐานในการแก้ไขปัญหา...

พัฒนาการความร่วมมือแก้ไขปัญหากับภาคี  หน่วยงานต่างๆ (ภาพจากเครือข่ายชุมชนเมืองนครสวรรค์)

ใช้ข้อมูลเป็นฐานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง

จากการรวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์’ จึงนำไปสู่แนวคิดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง  เพราะในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยและมีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  และต่างก็ไม่รู้ว่าชุมชนใดจะถูกขับไล่ในวันไหน

จากการสำรวจของคณะกรรมการเครือข่ายฯ ในปี  2550  พบว่า  มีชุมชนในเขตเทศบาลบุกรุกที่ดินราชพัสดุ 25  ชุมชน ที่ดินวัด/สำนักงานพระพุทธศาสนา  8  ชุมชน  ที่ดินตนเอง/เช่าเอกชน 18  ชุมชน และที่ดินอื่น ๆ 10  ชุมชน   จึงใช้เป็นฐานข้อมูลชุมชนที่มีความเดือดร้อนเพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ปัญหา

ขณะเดียวกัน  พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘คณะกรรมการเมือง’ ขึ้นมาในปี 2550  เพื่อการวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์    คณะกรรมการเมืองประกอบด้วย  ผู้แทนจากเทศบาลนครนครสวรรค์    สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์   พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด   สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัด   การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  การประปา  สำนักงานที่ดินจังหวัด  และ พอช.

โดยคณะกรรมการเมืองจะมีบทบาทหน้าที่ในการพิจารณาเห็นชอบ  ให้ความเห็นต่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในเมือง  ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ร่วมวางแผนพัฒนาเมือง และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองกับเครือข่ายชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง

อร่ามศรีเล่าต่อไปว่า  ในช่วงปลายปี 2550  ชุมชนจำลองวิทย์ซึ่งบุกรุกที่ดินราชพัสดุถูกไฟไหม้  ชาวบ้านมีความเดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัย  ประมาณ 80 ครอบครัว  เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์และคณะกรรมการเมืองจึงได้ใช้กรณีของชุมชนจำลองวิทย์เริ่มต้นแก้ไขปัญหา  โดยชาวบ้านเสนอขอเช่าที่ดินเดิมที่โดนไฟไหม้ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุที่ ธนารักษ์จังหวัดดูแล เพื่อจะสร้างบ้านใหม่  โดย พอช.จะสนับสนุนตามโครงการบ้านมั่นคง  เมื่อธนารักษ์ให้เช่าที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี  ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงจนแล้วเสร็จภายในเวลา 2 ปี

จากผลสำเร็จของชุมชนจำลองวิทย์ทำให้ชาวชุมชนเกิดความเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง  ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างให้การยอมรับและเชื่อว่าชาวบ้านสามารถที่จะบริหารจัดการโครงการที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าหลายล้านบาทได้....และที่สำคัญก็คือ  หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นต่างก็ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่  ทั้งเทศบาล  ประปา  การไฟฟ้าที่ขยายการบริการเข้าไปถึงชุมชน  ชาวบ้านไม่ต้องต่อพ่วงจากภายนอกมาใช้ในราคาแพง  และธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์สนับสนุนการให้เช่าที่ดิน

เบญจนาถ  ศรีเพชร  ผู้นำชุมชนบ้านมั่นคงหน้าวัดนครสวรรค์

พลังคนจนสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส

ชุมชนจำลองวิทย์ถือเป็นต้นแบบในการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเจ้าของที่ดิน  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินในเขตเทศบาลนครสวรรค์  เพราะพื้นที่ในเขตเทศบาลนครสวรรค์มีเนื้อที่ประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร  แต่ประมาณ 80 % เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐ  โดยเฉพาะที่ดินราชพัสดุที่ธนารักษ์ดูแลอยู่ 

จนถึงปัจจุบัน  ชุมชนที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์รวม 31 ชุมชน  ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำโครงการบ้านมั่นคงกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน  คือ  สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์ 20 ชุมชน  ที่ดินวัด 5 ชุมชน และอื่นๆ  6 ชุมชน (ที่ดินสาธารณะ  เอกชน)

ตัวอย่างชุมชนที่แก้ไขปัญหาและก่อสร้างบ้านเสร็จในปี 2565 เป็นชุมชนล่าสุด  คือ ชุมชนหน้าวัดนครสวรรค์  (ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนรณชัยที่สร้างบ้านมั่นคงเสร็จไปแล้วตั้งแต่ปี 2561) ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  ค้าขายเล็กๆ น้อย  เข็นรถขายไก่ปิ้ง  หมูปิ้ง  ลูกชิ้นปิ้ง  รับจ้างนวดแผนโบราณ  บางส่วนเป็นคณะเชิดสิงโต

เบญจนาถ  ศรีเพชร  ประธานสหกรณ์เคหสถานชุมชนบ้านมั่นคงหน้าวัดนครสวรรค์ จำกัด บอกว่า  เดิมชุมชนอยู่ในที่ดินบุกรุกของธนารักษ์ (อยู่ติดกับที่ดินแปลงปัจจุบัน)  มีสภาพทรุดโทรมเพราะอยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปี  บ้านเรือนผุพังทรุดโทรม  ไม่มีเงินซ่อม  และส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  หากินไปวันๆ

“ที่ดินธนารักษ์ที่เราเคยอยู่  มีเอกชนมาเช่าเพื่อจะทำธุรกิจ  ชาวบ้านจึงโดนขับไล่  แต่เราได้เห็นโครงการบ้านมั่นคงที่อยู่ใกล้ๆ กัน  คือชุมชนรณชัยที่ทำบ้านมั่นคงเสร็จไปแล้ว  พวกเราจึงเข้าร่วมบ้านมั่นคงกับเครือข่ายฯ  ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  ออมเงินกันเป็นรายเดือนเพื่อเป็นทุน  ใครมีมากก็ออมมาก  ออมเงินกันได้ประมาณ 2 ปี  จึงได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ฯ  และโชคดีที่มีที่ดินธนารักษ์อีกแปลงอยู่ติดที่ดินเดิม  เราจึงขอเช่าที่ดินและปลูกสร้างบ้านตั้งแต่ปี 2564  พอถึงปลายปี 2565 บ้านก็เสร็จทั้งหมด 41 หลัง”  ประธานสหกรณ์บอกฯ

สหกรณ์เคหสถานชุมชนบ้านมั่นคงหน้าวัดนครสวรรค์ฯ  เช่าที่ดินธนารักษ์  เนื้อที่ 1 ไร่ 170 ตารางวา  ระยะ เวลา 30 ปี (ช่วงแรก)  ค่าเช่าที่ดินทั้งแปลงประมาณ 28,000 บาท/ปี  มีสมาชิกทั้งหมด 41 ครอบครัว  สร้างบ้าน 2 ชั้น  เป็นบ้านแถว  ขนาด 4X7 ตารางเมตร  ราคาประมาณ 310,000 บาท  โดย พอช. สนับสนุนสินเชื่อทั้งหมดประมาณ 13 ล้านบาทเศษ  ชาวบ้านผ่อนชำระคืน พอช.เป็นรายเดือน  ประมาณเดือนละ 2,000 บาท  ระยะเวลา 15 ปี

นอกจากนี้ชาวชุมชนได้ร่วมกันลงเงินครอบครัวละ 1,000 บาท  เพื่อสมทบสร้างบ้านกลางให้แก่ป้าเต็ม  อินทร์ชา  ผู้ยากลำบากในชุมชน 1 หลัง  เป็นบ้านชั้นเดียว  ขนาด 4x7 ตารางเมตร

“พวกเราเห็นป้าเต็มอยู่ในชุมชนมานาน  แกไม่มีลูกหลาน  อาศัยทำงานรับจ้างไปวันๆ  ถ้าจะต้องผ่อนบ้าน  สร้างบ้านคงไม่มีกำลัง แล้วที่ผ่านมาเวลาชุมชนมีงานต่างๆ ป้าเต็มจะมาช่วยไม่ได้ขาด   พวกเราจึงปรึกษากันว่าจะช่วยให้ป้าได้อยู่ด้วยกัน  จึงใช้วิธีลงขัน  ได้เงินทั้งหมดประมาณ 47,000 บาท  แต่ราคาค่าก่อสร้าง  วัสดุทั้งหมด  รวมประมาณแสนกว่าบาท  ผู้รับเหมาสร้างบ้านก็ใจดีช่วยสร้างให้”  ประธานสหกรณ์บอก

ป้าเต็ม  วัย 76 ปี  บอกว่า  ไม่มีญาติพี่น้อง  เข้ามาทำงานในนครสวรรค์ได้ 30 ปีแล้ว  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  เช่น  เลี้ยงเด็ก  ทำความสะอาดบ้าน  ล้างจาน  และนวดแผนโบราณ มีรายได้วันละ 100-200 บาท แต่ตอนนี้อายุมากแล้ว  ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง  บีบนวดไม่ค่อยไหว  ยิ่งช่วงโควิดก็จะไม่มีคนมาจ้างนวด  ถ้าไม่มีงานรับจ้างก็จะช่วยงานเพื่อนบ้าน  เช่น  ร้านชำในชุมชน

“ป้าดีใจที่ได้มีบ้านอยู่เหมือนกับคนอื่น  ถ้าให้ผ่อนบ้านป้าคงไม่มีปัญญา  เพราะต้องหากินไปวันๆ ถ้าไม่มีรายได้  คนข้างบ้านก็จะเอาข้าวเอาแกงมาให้  ช่วยเหลือดูแลกันเหมือนญาติพี่น้อง” ป้าเต็มบอก

'ป้าเต็ม’  มีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตัวเองด้วยความช่วยเหลือจากคนในชุมชน 

“ทำทั้งเมือง  แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนให้มีความมั่นคงถ้วนหน้า”

นอกจากความช่วยเหลือเกื้อกูลของชาวชุมชนบ้านมั่นคงหน้าวัดนครสวรรค์ดังที่กล่าวไปแล้ว  ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์ยังร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น  เทศบาล  พมจ.นครสวรรค์  พอช.  ฯลฯ  จัดทำครัวกลางแจกจ่ายอาหารให้แก่ชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้  รวมทั้งแจกจ่ายสิ่งของจำเป็น  หน้ากากผ้าอนามัย  ยาฟ้าทะลายโจร  ฯลฯ  ให้แก่ชุมชนในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งที่กรุงเทพฯ ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558  ปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชนต่างๆ ประมาณ 1,300 คน  มีเงินกองทุนประมาณ 1 ล้านบาทเศษ  โดยสมาชิกต้องสมทบเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท      มีสวัสดิการ  เช่น  เกิด  ช่วยเหลือ  500 บาท  เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยคืนละ 200 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน  6 คืน  เสียชีวิตช่วยเหลือตามอายุการเป็นสมาชิก  ตั้งแต่ 3,000-10,000 บาท

กองทุนรักษาดินรักษาบ้าน  มีสมาชิกบ้านมั่นคงในชุมชนต่างๆ  ประมาณ 1,200 คน/ครอบครัว  มีเงิน กองทุนประมาณ 200,000 บาทเศษ  ช่วยเหลือสมาชิกในกรณีที่เสียชีวิตและยังผ่อนชำระบ้านไม่หมด  ช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติ  ฯลฯ

ปัจจุบัน เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์  ร่วมกันพัฒนาชุมชนในชื่อ ‘เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์’   เพราะทำทุกเรื่อง  ทุกด้าน  ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย  สวัสดิการชุมชน  พัฒนาอาชีพ  คุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  สุขภาพ  สุขภาวะที่ดี   ฯลฯ 

อร่ามศรี  จันทร์สุขศรี  ประธานเครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์   ย้ำว่า   17 ปีที่ผ่านมา  เครือข่ายได้ร่วมกับ พอช.  เทศบาล  ธนารักษ์  ฯลฯ  แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้พี่น้องคนจนในเขตเทศบาลและอำเภอใกล้เคียงไปแล้ว  รวม 39 ชุมชน  จำนวน  3,598 ครัวเรือน  แต่ปัจจุบันยังเหลือผู้ที่เดือดร้อน  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 40 ชุมชน  รวม 3,063 ครัวเรือน 

“ส่วนที่เหลือเครือข่ายก็จะต้องเดินหน้าต่อไป  ทั้งเรื่องการขอใช้ที่ดินรัฐ  เช่น ที่ดินท่าเรือนครสวรรค์  และที่ดินของชุมชนสวรรค์เมืองใหม่  เพื่อให้พี่น้องคนจนในเมืองนครสวรรค์ทั้งเมืองมีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยกันถ้วนหน้า”  ประธานเครือข่ายกล่าวย้ำความตั้งใจ !!

คณะกรรมการเครือข่ายฯ

******************

เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

พอช. ร่วม ศูนย์คุณธรรม และ สช. ขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม มุ่งสร้างคุณธรรมด้วยระบบเครดิตทางสังคม

กรุงเทพมหานคร / วันนี้ 29 เมษายน 2567 ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย รศ นพ.สุริยเดว ทรีปราตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ