พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม  2566 เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ดำเนินการในปี 2566-2570 เป้าหมาย 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 7,718.94 ล้านบาท พอช.เดินหน้านำร่อง  939 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับสัญญาเช่าที่ดินแล้ว จำนวน 5 ฉบับ 405 ครัวเรือน

ในปี 2541 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนโยบายนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ ให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมาชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท. เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน เพราะชุมชนส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้เช่าที่ดิน รฟท.

คณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543  เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  คือ  1. ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี 2. ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท. จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร  3. กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว  ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม ฯลฯ หลังจากมติบอร์ด รฟท.มีผล  ชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ  และพัฒนาที่อยู่อาศัย  (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี)  โดย พอช. สนับสนุนสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและงบประมาณบางส่วนตามโครงการบ้านมั่นคง

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  ขณะนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  ในกรุงเทพฯ กำลังจะเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  คือ  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

ส่วนพื้นที่ภาคใต้กำลังก่อสร้างรถไฟรางคู่จากนครปฐม-ชุมพร  ระยะทางทั้งหมด  421 กิโลเมตร  กำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566  หลังจากนั้นจะก่อสร้างต่อไปยังสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา  และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) ทั้งนี้การพัฒนาระบบรางของ รฟท. เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี  (พ.ศ.2561-2580) ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่ง รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 

นายธนพล  เมืองเฉลิม  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ระบุว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ได้อนุมัติโครงการและงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 14 โครงการ 912 ครัวเรือน งบประมาณรวม 123,909,780 บาท แต่ในปีงบประมาณ 2567 นี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 340 ครัวเรือน วงเงิน 96.9000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ จึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปพลางก่อน เพื่อดำเนินโครงการ ส่งผลกระทบให้การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางอาจจะดำเนินงานล่าช้าออกไป

“สำหรับแนวทางในการบริหารสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย พอช. และองค์กรชุมชนนั้น มีกระบวนการส่งเสริมให้องค์กรชุมชนเข้มแข็ง จัดตั้งเป็นนิติบุคคลที่เหมาะสม พร้อมทำความเข้าใจกับองค์กรชุมชนที่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีสัญญาเช่าเดิม และชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบราง ในการเตรียมความพร้อมให้เกิดการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อเช่าที่ดินโดยตรงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือเช่าช่วงที่ดินจาก พอช. ภายในระยะเวลา 2 ปีหลังจากที่ออกประกาศ  ตลอดจนให้ความรู้การบริหารสัญญาเช่าระหว่างองค์กรชุมชนกับสมาชิกไปพร้อมกัน และมีแนวทางให้องค์กรชุมชนที่เป็นนิติบุคคลสามารถขอเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรงในระยะต่อไป”

ขณะนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  (พทร.)  ได้ดำเนินการจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ โดยภาคใต้ มีการดำเนินงาน ใน 9 จังหวัด  ได้แก่ ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครราชศรีธรรมราช  ตรัง  พัทลุง  สงขลา  ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางภาค รวม 15,168 ครัวเรือน 172 ชุมชน

“ส่วนรูปแบบในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น จะมีทั้งการปรับปรุง  ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้ หากอยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่ได้ จะต้องขอเช่าที่ดินใหม่จาก รฟท. เพื่อก่อสร้างบ้าน หรือจัดหาที่ดินรัฐ เอกชน  หรือจัดซื้อ-เช่าโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ขณะที่ชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช.  จัดทำสัญญาซื้อหรือเช่าที่ดิน  ออกแบบวางผังบ้าน-ผังชุมชน  และบริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ”

นอกจากนี้แล้ว พอช. ยังสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท ส่งเสริมอาชีพ  การจัดสวัสดิการชุมชน  ดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  ยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม  โดยสมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  วิสัยทัศน์  ตามแผนยุทธศาสตร์ของของสถาบันคือ  “ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดินในปี 2579”  โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อน  คือ “ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนา”

จากการดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ จะเห็นได้ว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. เป็นองค์กรมุ่งสนับสนุนพัฒนาองค์กรในทุกระดับสังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็ง ความร่วมมือ ร่วมใจ แก้ไขปัญหาของตนเอง ให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้พี่น้องในชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถจัดการตนเองได้ที่ยั่งยืน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รักจังสตูล” รวมพลังคนสตูล บูรณาการความรู้ สร้างเครือข่ายหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมให้ยั่งยืน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีคืนข้อมูลโครงการวิจัยบูรณาการภาคีร่วมพัฒนาเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย

8กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ปี 2567 ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร’ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม (1)

‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เริ่มจัดตั้งทั่วประเทศในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน

รวมพลังชุมชน ขับเคลื่อนการจัดการป่า ลดฝุ่นควัน สร้างสุขภาวะที่ดี

กรุงเทพฯ/12 มีนาคม 68 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อลดฝุ่นตวันและสร้างสุข

สสส.-พอช. ผนึกกำลัง 16 จังหวัด เดินหน้าป่าชุมชน ลดเผา-แก้ PM2.5 อย่างยั่งยืน

สสส. จับมือ พอช. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าบริหารจัดการป่าชุมชน 60 แห่งใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เสริมศักยภาพชุมชนลดการเผา พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการป่าอย่างยั่งยืน มุ่งสู่สังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพประชาชน

"ชาวนาจิตอาสา” เราทำความดีด้วยหัวใจ เลิกเผาฟางข้าว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ ในหลวง ร.10

ชัยนาท/10 มีนาคม 2568 จังหวัดชัยนาทได้จัดพิธีเปิดโครงการต้นแบบ "ชาวนาจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เลิกเผาฟางข้าว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ตามแนวคิดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ในงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’

แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ปูชนียบุคคลของสังคมไทย