เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค-พอช. จัดงาน ‘บ้านมั่นคง’ ครบ 20 ปี “รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่”

การจัดงานบ้านมั่นคงครบ 20 ปีที่ พอช.  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ ผู้ร่วมงานแสดงสัญลักษณ์ ‘บ้าน’

พอช. / เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค-พอช. จัดงาน บ้านมั่นคง ครบ 20 ปี รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ เพื่อนำเสนอผลงาน  สรุปบทเรียนการทำงานตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา  ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน ระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  เสนอทิศทางการทำงานแนวใหม่  ฯลฯ  จนถึงปัจจุบัน พอช.  ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว  รวมกว่า 3,000 โครงการ  จำนวน  269,524 ครัวเรือน  

ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคมนี้   เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกันจัดงาน ‘รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค  เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.  เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน 

ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ   การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา  ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน   การสรุปบทเรียนการทำงาน  การระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  ทิศทางการทำงานแนวใหม่ การแสดงวัฒนธรรมของเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค  ฯลฯ

บ้านมั่นคง “สายสัมพันธ์กว้างไกล”  เชื่อมทั้งภาครัฐ-อปท.-ภาคธุรกิจ

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวเปิดงาน  มีใจความสำคัญว่า  พอช.มีวิสัยทัศน์ในระยะ 20 ปีว่าภายในปี 2579   พอช. จะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเต็มทั้งแผ่นดิน  เพราะฉะนั้นเรื่องบ้านจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะหล่อหลอมคนเข้าหากัน  มาทำงานร่วมกัน  มาคิด มาออกแบบในการสร้างสังคมที่มีความสุขในการอยู่ร่วมกัน

“หากจะสร้างเอาบ้าน  แค่ได้บ้านไม่ต้องมาให้ พอช.ทำ ไปจ้างผู้รับเหมาทำก็ได้  แต่กระบวนการของพวกเราเริ่มตั้งแต่การสร้างการรวมกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การสร้างการออมทรัพย์ ไปหาที่ดินร่วมกัน  ไปหาที่ที่เหมาะสมร่วมกัน ไปออกแบบการใช้แปลงประโยชน์ที่ดินร่วมกัน   ออกแบบบ้านร่วมกัน  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการพูดคุยกัน  ปรึกษาหารือกัน  การรวมกลุ่มกัน  นำไปสู่ความเข้มแข็งในการจัดการตนเอง”  ผอ.พอช. กล่าวถึงกระบวนการบ้านมั่นคง

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.

นอกจากนี้กระบวนการบ้านมั่นคง  พอช.ไม่ได้ทำคนเดียว  พอช.ใช้บ้านเป็นเครื่องมือ  ทำงานร่วมกับพี่น้องภาคีเครือข่าย  ไม่ว่าจะเป็นบ้านมั่นคงเมือง  บ้านมั่นคงชนบท  บ้านมั่นคงริมคลอง   บ้านพอเพียง  รวมทั้งบ้านคนไร้บ้าน  พอช.ทำงานร่วมกับภาคีพัฒนาอื่นๆ  จึงเป็นที่มาของคำว่า “สานสัมพันธ์กว้างไกล”  และวันนี้เราจะขยายขอบเขตของความสัมพันธ์เหล่านี้ต่อไป  ไปเชื่อมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เชื่อมกับเทศบาล  เชื่อมมือกับองค์กรบริหารส่วนตำบล เชื่อมกับผู้ว่าราชการจังหวัด  ฯลฯ

“ทิศทางต่อไปภายหน้า  เราจะต้องขยายความร่วมมือกับภาคธุรกิจ  เพื่อดึงภาคธุรกิจมาสนับสนุนชุมชน  ล่าสุด พอช.ได้ไปคุยกับ BOI. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ซึ่ง BOI. มีข้อกำหนดข้อหนึ่งว่า  ถ้าหากบริษัทธุรกิจเอกชนมีการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนจะสามารถลดภาษีได้ 200 เปอร์เซ็นต์  นี่คือก้อนเงินมหาศาลที่จะมาสนับสนุนชุมชนได้”  ผอ.พอช.ยกตัวอย่างความร่วมมือกับภาคธุรกิจที่ พอช.กำลังดำเนินการ

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า  นอกจาก พอช.จะส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชนบ้านมั่นคงแล้ว  จากการพูดคุยกับภาคธุรกิจ  มีข้อแนะนำว่า  โครงการบ้านมั่นคงของ พอช.กระจายอยู่ทั่วประเทศ บางแห่งใกล้แหล่งท่องเที่ยว  บางแห่งใกล้จุดคมนาคม  หากชุมชนใดมีที่ว่าง  มีห้องว่าง  หากนำมาปรับปรุงเป็นที่พักรองรับนักท่องเที่ยวหรือเซลล์แมน  ทำให้สะอาด  มาตรฐาน  ราคาไม่แพงก็จะเป็นทางเลือกสำหรับคนเหล่านี้  ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้  และภาคเอกชนก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

บ้านมั่นคง “ทุกคนร่วมสร้าง”

การจัดงาน ‘รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ วันแรก (24 ตุลาคม) มีการนำเสนอผลการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทในช่วง 20ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2546-2566) โดยนางสาวจิราภรณ์ เขียวพิมพา ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง  และนายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง  ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงชนบท  นำเสนอมีเนื้อหาสำคัญว่า

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช. เริ่มต้นในปี 2546  โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 146 ล้านบาทเศษ  เพื่อให้ พอช.จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนที่มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน-ที่อยู่อาศัย นำร่องจำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนบ่อนไก่  ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  กรุงเทพฯ  ชุมชนแหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง  ชุมชนบุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์  ชุมชนเก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ

ลำดับช่วงเวลาการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546-2566

หลักคิดสำคัญของโครงการบ้านมั่นคง  คือ  1.องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักดำเนินการโดยองค์กรชุมชนและท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินการในทุกขั้นตอน  2.สร้างสังคมมั่นคงในเรื่องที่ดินอยู่อาศัย  เน้นการใช้ที่ดินของรัฐ ที่ดินของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  รวมทั้งการหาที่ดินใหม่ในกรณีที่ต้องมีการรื้อย้าย

3.สร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของชีวิตด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นสังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกันและมีการจัดการร่วมกัน   4.วางแผนการแก้ไขปัญหาทั้งเมืองโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งให้เกิดแนวทางและแผนการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทุกชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งเมือง  5.ความหลากหลายของรูปแบบและแนวทางการปรับปรุงที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความต้องการ ความสามารถในการจ่ายของชุมชนผู้เดือดร้อน เงื่อนไขที่ดินและความเห็นร่วมของคณะกรรมการการเมือง ฯลฯ

โดย พอช. จะสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย  เช่น  อยู่ในที่ดินบุกรุกทั้งของรัฐและเอกชน  ที่ดินเช่า  บ้านเช่า  เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ฯลฯ  รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  จัดหาที่ดินใหม่  โดยเช่าหรือซื้อที่ดิน  เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ หรือซ่อม  สร้าง  ปรับปรุงบ้านใหม่ในที่ดินเดิม ฯลฯ

ขณะที่ชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกัน  หรือลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นแกนหลัก  เช่น  จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  เริ่มตั้งแต่สำรวจข้อมูลความเดือดร้อน  ข้อมูลครัวเรือน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  รวมทั้งยังเป็นฝึกการบริหารเงิน-บริหารคน  ฯลฯ

ทั้งนี้ พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่  สถาปนิกชุมชน  เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน  เช่น  สนับสนุนการรวมกลุ่ม  จัดตั้งคณะทำงานจากชุมชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการ  ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ออกแบบผังชุมชน ในลักษณะ “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่”  ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  และจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สำหรับทำนิติกรรมสัญญา  ซื้อ-เช่าที่ดิน  ขอใช้สินเชื่อจาก พอช. และบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน

นอกจากนี้ พอช.ยังมีหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินแก่ชุมชน  เช่น  ให้สินเชื่อซื้อที่ดิน-ก่อสร้างบ้าน  (ดอกเบี้ยต่ำ  ผ่อนระยะยาว)  อุดหนุนงบประมาณการสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  ฯลฯ  โดย พอช.จะอนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา  (ไม่ได้อนุมัติเป็นรายบุคคล) และคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จะร่วมกันบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน

บ้านมั่นคงทุกคนร่วมสร้าง

20 ปีบ้านมั่นคงแก้ปัญหาแล้ว 269,524 ครัวเรือน

นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  พอช. ได้สนับสนุนให้เครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศ  จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19’  เช่น  ในปี 2563  ดำเนินการใน 228 เครือข่าย/เมือง  2,846 ชุมชน  1,546 ตำบล  รวม 529,502 ครัวเรือน

โดยชุมชนต่างๆ ร่วมกันผลิตหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายชาวชุมชนและประชาชนทั่วประเทศ  รวม 1.1 ล้านชิ้น  แจกถุงยังชีพ  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  ฯลฯ มูลค่ารวม 2.25 ล้านบาท  ทำครัวกลางแจกจ่ายอาหาร 49 ครัวหลัก  ใน 540 ชุมชน  รวม  336,930 กล่อง   เกิดอาสาสมัครทำงาน 2,638 คน

บ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร  ทำให้ชุมชนเดิมที่เคยบุกรุกที่ดินราชพัสดุริมคลองได้เช่าที่ดินและปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยถูกกฎหมาย  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม  สภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม (ผ่อนชำระเงินกู้สร้างบ้านจาก พอช.ประมาณเดือนละ 3 พันบาทเศษ  ระยะเวลา 15 ปี)  ขณะนี้ก่อสร้างแล้วใน 17 ชุมชน  จำนวน 1,500 ครัวเรือน  จากเป้าหมายทั้งหมด 38 ชุมชน  รวม 6,386 หลัง  ส่วนคลองลาดพร้าว  สร้างบ้านเสร็จแล้วประมาณ 3,500 ครัวเรือนใน 35 ชุมชน

โครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน  เช่น  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566  เพื่อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  โดยการรื้อย้ายออกจากแนวพัฒนาระบบราง  แล้วหาที่ดินแปลงใหม่รองรับ  เช่น  เช่าที่ดิน รฟท.  เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ 

โดย พอช.รับผิดชอบดำเนินการ  ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2560-2570) ใน 300 ชุมชน  35 จังหวัดทั่วประเทศ  รวม 27,084 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณทั้งหมด 7,718 ล้านบาทเศษ  โดยในปี 2566 นี้จะเริ่มดำเนินการใน 14 ชุมชน  รวม  912 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณ 123 ล้านบาทเศษ

โครงการนำร่องสวัสดิการที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก  มีรูปแบบการทำงาน  คือ  1.ปรับปรุงสร้างใหม่โดยชุมชนบ้านมั่นคง  นำพื้นที่ว่าง  ห้องว่าง  ปรับปรุงเป็นห้องเช่าราคาถูก  2.พัฒนาปรับปรุงตึกร้าง  อาคารร้างเป็นห้องเช่าราคาถูกโดยพัฒนาอาคารร่วมกับภาคประชาสังคม  หน่วยงานท้องถิ่น  กทม.  และ 3.สร้างใหม่โดยใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐ  เช่น  ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

ขณะนี้มีชุมชนนำร่องแล้ว  เช่น  ศูนย์พักคนไร้บ้าน  บ้านพูนสุข  อ.รังสิต จ.ปทุมธานี   ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน  ซอยเลียบวารี 79 เขตหนองจอก  กรุงเทพฯ  และอาคารย่านแยกแม้นศรี  กรุงเทพฯ  ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร  ฯลฯ

จนถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2566) เป็นเวลา 20 ปี   พอช. ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว  รวมกว่า 3,000 โครงการ  จำนวน  269,524 ครัวเรือน

*****************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

พอช. ร่วม ศูนย์คุณธรรม และ สช. ขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม มุ่งสร้างคุณธรรมด้วยระบบเครดิตทางสังคม

กรุงเทพมหานคร / วันนี้ 29 เมษายน 2567 ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย รศ นพ.สุริยเดว ทรีปราตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ