รมว.พิมพ์ภัทรา ผลักดัน กระทรวงอุตฯ จับมือ ผู้ว่าฯ จ.มิเอะ ต่อยอดความร่วมมือ “ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย”

รมว.พิมพ์ภัทรา ผลักดัน กระทรวงอุตฯ จับมือ ผู้ว่าฯ จ.มิเอะ ต่อยอดความร่วมมือ “ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย” เดินหน้าชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป ฉลองครบรอบ 5 ปี

กรุงเทพฯ 11 มกราคม 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันต่อยอดความบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขยายกรอบ
การทำงาน (Framework Agreement) ชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมจัดงานใหญ่ “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต Mie – Thailand” ฉลองความสำเร็จครบรอบ 5 ปี พาเหรดผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมอาหารชื่อดังจากจังหวัดมิเอะ นำทัพสินค้าอาหารเกรดพรีเมี่ยมมาให้ชม ชิม และจับคู่ธุรกิจภายในงาน ตั้งเป้าต่อยอดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตร่วมกัน หวังเกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทย - ญี่ปุ่น และคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น
มีความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุก ๆ มิติมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เห็นได้จากการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่ากว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับเวทีโลกผ่านศูนย์นวัตกรรมมิเอะ - ประเทศไทย (Mie-Thailand Innovation Center) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม สถาบันอาหาร และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น และสามารถช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ต่อยอดความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะในการมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนวัตกรรมอาหาร เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย และเสริมสร้างความแน่นแฟ้นของการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ให้สามารถก้าวหน้าไปด้วยกันในลักษณะ win-win นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีความยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์นวัตกรรมมิเอะ – ประเทศไทย
จัดตั้งขึ้นในปี 2561 นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายสถาบันอาหารดำเนินการ โดยได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปอาหารที่ได้รับจาก บริษัท ซูเอฮิโระ อีพีเอ็ม (SUEHIRO EPM) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น ศูนย์นวัตกรรมฯ นี้ ถือเป็นกรณีความสำเร็จที่มีนัยสำคัญที่เป็นผลลัพธ์จากการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในปี 2558 ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม และจังหวัดมิเอะ

สำหรับการจัดงานในวันนี้เป็นการขยายความร่วมมือโดยการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Framework Exchange) ระหว่างดีพร้อมและจังหวัดมิเอะ เพื่อต่อยอดความร่วมมือจากใน MOU ที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสธุรกิจของเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศสู่ระดับสากล ด้วยการพัฒนาสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป ทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป ตลอดจนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับกระแสความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ และอยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคง
และยั่งยืน

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมมิเอะ – ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการใช้เครื่อง Twin Screw Extruder เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีจากเครื่อง Twin Screw Extruder ณ งาน THAIFEX 2019 การเข้าร่วมงานสัมมนาที่จังหวัดมิเอะ รวมทั้งนำผู้ประกอบการไทยร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อของประเทศญี่ปุ่น ณ จังหวัดมิเอะ โดยล่าสุดได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช จาก Isolate soy protein กับ Pea starch และนำมาทดลองปรุงอาหารเป็นเมนูกระเพาะปลาน้ำแดง เพื่อสอดรับแนวโน้มกระแสอาหาร Plant-based ที่กำลังมาแรง ซึ่งคาดว่าระหว่างปี 2566 - 2576 ตลาดโลกจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อย 12.2 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 11.3 พันล้านดอลลาร์

นอกจากวันนี้จะเป็นการฉลองความสำเร็จ 5 ปี ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ แล้ว จังหวัดมิเอะยังได้นำ
คณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จังหวัดมิเอะ และผู้ประกอบการ จำนวน 14 ราย เข้าร่วมกิจกรรมเจราจาธุรกิจ (Business Matching) พร้อมบรรยายความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเครื่องจักรแปรรูปอาหารและเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดมิเอะ - ไทย ตลอดจนการสาธิตการปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิเอะ อาทิ เนื้อวัว ปลาดิบ เบียร์ และขนม นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่น ๆ ของจังหวัดมิเอะอีกด้วย นางศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เด็กก้าวไกล' จี้รัฐบาลเร่งดันร่างกฏหมาย PRTR

'ชุติพงศ์' จี้รัฐบาล เร่งดันร่างกฏหมาย PRTR หลังเกิดเพลิงไหม้-สารรั่วไหลทั่วประเทศเกือบ 10 ครั้ง เผยโรงงานระยองไฟปะทุ ก่อควันพิษกระทบสุขภาพ ปชช.-โรงเรียนในพื้นที่เปิดไม่ได้

ช็อก! อธิบดีกรมโรงงาน ยื่นหนังสือลาออกฟ้าแลบ ก่อนเกษียณอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ที่มีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งมีระเบียบวาระพิจารณากรณีการขนกากแร่อุตสาหกรรม บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด(มหาชน)

กมธ.ที่ดิน บี้รัฐชี้แจงปมขนย้ายกากแคดเมียม ไฟไหม้โรงงานสารเคมีระยอง

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ. , นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล

สะสางปัญหา กากแคดเมียม เดิมพันการเมืองครั้งสำคัญ พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม

ปัญหาการพบกากแร่อันตรายแคดเมียม ที่มีการขนย้ายมาจากจังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันมีการยึดอายัดได้ประมาณ 12,500 ตัน หลังพบที่สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ