"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน  จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า ในปี 2626 จะมีผู้อยู่ในวัย 65 ปีขึ้นไปเพิ่มจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี คือจำนวนเพียง 485,085 คน คนที่อยู่ในวัยทำงานอายุ 15-64 ปี ลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ในขณะที่เด็กแรกเกิด-14 ปี ลดลงจาก 10 ล้านคนเหลือเพียง 1 ล้านคน

เมื่อเด็กเกิดใหม่ลดฮวบฮาบ คนหนุ่มสาวยุคใหม่แม้จะมีฐานะที่ดีก็ไม่ต้องการมีลูก คนจนแม้ไม่ต้องการมีลูกแต่ก็มีลูกเกินความต้องการ ด้วยเหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ จึงได้พัฒนานวัตกรรมหลักสูตร “ออมสุขภาพ รับวัยอิสระ” และจัดการอบรมให้ความรู้การออมสุขภาพ สะสมพฤติกรรมสุขภาพดี และการออมเพื่อมิติการเงิน เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการ สสส. และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ ว่าวัยเกษียณมีรายได้ลดลง ดังนั้นควรจะออมเงินตั้งแต่วัยทำงาน การสร้างเสริมสุขภาพให้มีสุขภาวะที่ดีนั้นต้องออมสุขภาพ ให้ความรู้ในการออมเพื่อมิติการเงิน มีเงินใช้ในวัยเกษียณอายุ มีการลงทุนที่มีความมั่นคง ด้วยการเข้าอบรมหลักสูตรนี้ที่ผู้เข้าร่วมอบรมมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะการสร้างเสริมสุขภาพต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เมื่อถึงวัยเกษียณแล้วจะได้มีสุขภาพดี ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ผลจากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 พบคนวัยทำงานมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพใน 4 เรื่อง 1.พฤติกรรมสูบบุหรี่ในกลุ่มนี้ 1 ใน 5 สูบบุหรี่ทุกวัน 2.พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ 1 ใน 4 ดื่มอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 3.กินอาหารนอกบ้าน จากร้านหรือตลาด หวาน มัน เค็มจัด 4.มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ  สอดคล้องกับข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ความรอบรู้ และปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพวัยทำงาน  โดยกระทรวงสาธารณสุขพบว่า กิจกรรมทางกายของวัยทำงานลดลงต่อเนื่องจาก 73.44% ในปี 2564  เป็น 63.31% ในปี 2566 สะท้อนการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต

“สสส.สานพลังเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยฯ พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรออมสุขภาพ รับวัยอิสระ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้นำสุขภาพ สู่การเป็นนักออมสุขภาพ ในองค์กร 200 แห่งทั่วประเทศ เป็นบุคคลต้นแบบในการดูแลสุขภาพในองค์กรและสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพพนักงานในองค์กร ที่ส่งผลถึงการมีสุขภาพดีในวัยเกษียณ รองรับสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” นางประภาศรีชี้แจง

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผว่า หลักสูตรต้นแบบ "ออมสุขภาพ รับวัยอิสระ"  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนวัยทำงานดูแลสุขภาพ และปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลไปถึงการมีสุขภาพดีในวัยเกษียณ รองรับสถานการณ์ที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย โดยมีเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมทั้งด้านการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ การเพิ่มกิจกรรมทางกาย การสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ การสร้างความมั่นคงทางการเงิน และการท่องเที่ยว/เดินทางอย่างสุขภาพดี

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ในฐานะประธานหลักสูตรออมสุขภาพ รับวัยอิสระ เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่วัยใกล้เกษียณเป็นโรค NCDs ถึง 70% เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เมื่อเกษียณแล้วเท่ากับเป็นการออมโรค เพราะไม่มีสวัสดิการดูแลสุขภาพเหมือนขณะทำงาน ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ก็ต้องมาลงทุนกับการดูแลสุขภาพ เมื่อเกษียณแล้วไม่สามารถกินอาหารอร่อยที่มีรสหวาน มัน เค็มได้อีก จะไปเที่ยวที่ไหนก็ไปไม่ไหวแล้ว จากข้อมูลทางการแพทย์ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพไปตามวัยในช่วง 30 ปี โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว ปัญหาโรคกระดูกพรุน ยิ่งมีการนั่งเนือยนิ่งโดยไม่ออกกำลังกาย จะส่งผลให้มวลกระดูกลดลง ดังนั้นต้องสร้างมวลกล้ามเนื้อตั้งแต่วันนี้

งานเสวนา “ออมสุขภาพ รับวัยอิสระ” “Save  your Health, Save Your Wealth" ต่อยอดโครงการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงาน จาก “ผู้นำสุขภาพ” สู่ ”นักออมสุขภาพ” ให้แข็งแรง ปลอดโรค สุขภาพจิตดีมีความสุข เสริมพลังบวก มีความมั่นคงทางการเงิน ท่องเที่ยว/เดินทางอย่างสุขภาพดี ชีวิตสมดุล Work-life balance

หากจะมีการแบ่งเวลาเกษียณอายุเป็น 4 ช่วงเวลา ส่วนใหญ่จะวางแผนเที่ยวรอบโลกเหมือนกับการพักร้อน Vacation แต่ถ้าสุขภาพไม่ดีไม่ต้องไปไหน ช่วงที่สอง ร่างกายเริ่มถดถอยมีอาการว้าเหว่ กลายเป็นคนธรรมดา จากเดิมที่เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เรียกใช้ใครได้ ใครๆก็เรียกว่าท่าน เกิดความสูญเสียที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน กลายเป็นความซึมเศร้า ช่วงที่สามมีการลองผิดลองถูก  ช่วงที่สี่ มีการวางแผนการเกษียณว่าตั้งใจจะทำอะไรบ้าง  เตรียมตัวออมสุขภาพกายใจ ออมความสุขเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณที่มีความพร้อม

หลักสูตรออมสุขภาพนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1.เปิดบัญชีสุขภาพ ผู้เข้าอบรมลงทะเบียนเป็นนักออมสุขภาพ รับการประเมินร่างกาย ความเครียด ความสุข  และแผนปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ 2.ช่วงออมสุขภาพ  อบรมสร้างความรู้ และฝึกปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ ทุกวันศุกร์-เสาร์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เช่น กิจกรรมออกกำลังกาย ปลูกผักสวนครัว ทำอาหาร เดินทางท่องเที่ยวอย่างสุขภาพดี โดยสะสมเหรียญสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน  Health Coin 3.รับผลตอบแทน นักออมสุขภาพรับการประเมินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมติดตามผลการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ในงาน Healthy Organization Award ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ในเดือนมกราคมของทุกปี ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายคนไทยไร้พุง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่อีเมล [email protected]

“การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปลอดโรค NCDs ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขถึงวันสุดท้ายของชีวิต จำเป็นต้องตั้งเป้าหมาย วางแผนปฏิบัติให้ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เปรียบเสมือนการเปิดบัญชีสุขภาพ ตั้งเป้าหมายสุขภาพ และเริ่มเก็บออมความรู้ ฝึกปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง สะสมให้เกิดผลตอบแทนการออมสุขภาพในระยะยาว เก็บออมสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เพื่อความมั่งมีทั้งสุขภาพกาย ใจ การเงินในวันหน้า หรือ Save  your health, Save your wealth” รศ.นพ.เพชรกล่าว

นางภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์  ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สสส. เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้จะลงนาม MOU กับรายการวิทยุ จส.100 ของ บ.แปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อจัดกิจกรรมในหัวข้อคนไทยไร้พุงเป็นครั้งแรกในเดือน มิ.ย. โดยจะคัดเลือกครอบครัวต้นแบบ 6 ครอบครัว จากแฟนคลับ จส.100 (กลุ่มครอบครัว, ผู้สูงอายุ) มาเป็นคู่กับลูกหลานหรือกับคู่ชีวิต       สนนราคา 3,490-5,990 เข้าร่วมกิจกรรม 2 วัน 1 คืนที่ Eco Eyes Village จ.นครนายก เป็นการออมสุขภาพผ่านการท่องเที่ยว

การสร้างความสุข 5 มิติ โดยเฉพาะการตั้ง Mindset ตั้งใจทำจริง การดูแลตัวเอง การนอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ สูดลมหายใจลึกๆ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี คิดในเชิงบวก มีความ Active ในตัวเอง  Work Balance พอใจในสิ่งที่มีอยู่ การพูดคุยกับคนข้ามรุ่นได้อย่างดี เรียนรู้และเข้าใจความสุขที่แท้จริงจากภายในของคนแต่ละวัย มีความสุขในการใช้ชีวิตด้วยการกลมกลืนกัน จากเดิมที่สมาชิกในครอบครัวห่างเหินกัน ต่างคนต่างมีกิจกรรมของตัวเอง เข้าร่วมกิจกรรม Hard&Soft skill ร่วมกัน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพ และนักจิตวิทยามาถ่ายทอดประสบการณ์ ทั้งนี้ผู้สูงวัยจะทำ Story Telling เล่าประสบการณ์ในยุค Analog ให้เด็กรุ่นใหม่ได้ซึมซับ ในช่วงเช้ามีการออกกำลังกายด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพ กิจกรรมบอร์ดเกมเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567

เครือข่าย “ชุมชนล้อมรักษ์” ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาองค์รวม การแก้ไขไม่ใช่แค่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วย เมื่อเป็นแล้วก็เป็นใหม่ได้อีก

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ