ปัญหาสังคมในสถานที่ทำงาน อย่างการคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการบูลลี่ด้วยสายตาและวาจา เป็นเรื่องจริงที่หลายคนเลือกที่จะนิ่งเฉย และมองข้าม ทั้งๆ ที่เป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีและเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าชื่นชม เมื่อ สสส.นำโดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สานพลังภาคีเครือข่ายเกือบ 100 องค์กร ในพิธีประกาศเจตนารมณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ด้วยการแสดงสัญลักษณ์ “หยุด”! คุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการแสดงออกและสะท้อนบอกสังคมให้ใส่ใจกับประเด็นนี้อย่างชัดเจน
ภายในงาน ผู้จัดการกองทุน สสส.เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า สสส.ร่วมกับนิด้าโพล สำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน วันที่ 9-16 พ.ค. 2567 กลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไป 2,000 คน ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน พบว่าเกือบ 1 ใน 4 หรือ 23.5% เคยเห็นการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ขณะที่ 6.3% หรือ 126 คนเคยถูกคุกคามทางเพศ สิ่งที่ถูกกระทำมากที่สุดคือด้วยวาจา 50% พูด-วิจารณ์สัดส่วนร่างกาย และถึงขั้นขอหรือชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ 2.88% ด้านกิริยา จ้องมองแทะโลมด้วยสายตามากที่สุด 86.21% การทำซ้ำๆ บ่อยครั้งส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจเป็นผู้บังคับบัญชาในที่ทำงาน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว มีการคุกคามบนโลกออนไลน์ถึง 88% เกิดความคับข้องใจ
นพ.พงศ์เทพให้ข้อมูลต่อว่า ด้านร่างกาย 70.83% ถูกจับมือ แตะไหล่ แขน หลัง 66.67% เข้ามาใกล้หรือเบียด 8.33% ลูบคลำต้นคอ บ่า หลัง 4.17% ถูกกอด จูบ และ 4.17% เคยถูกใช้กำลังบีบบังคับให้ทำกิจกรรมทางเพศ กลุ่มตัวอย่างที่ถูกคุกคามทางเพศ 62.5% ได้รับข้อความส่อไปทางเพศ 25% ได้รับภาพเคลื่อนไหวลามก 12.5% ได้รับภาพร่างกายหรืออวัยวะเพศ บุคคลที่เป็นผู้คุกคามทางเพศอันดับหนึ่ง คือ เพื่อนร่วมงาน 81.75% หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา 16.67% ลูกค้า/ผู้รับบริการ 8.73% ลูกน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชา 5.56% ผู้บริหาร/เจ้าของบริษัท 3.17% ส่วนมาตรการที่อยากให้หน่วยงานมี เพื่อจัดการกับการคุกคามทางเพศ กลุ่มตัวอย่างทั้งที่ถูกคุกคามและพบเห็นการคุกคาม 33.5% อยากให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้กระทำในลักษณะต่างๆ 30.4% มีนโยบายป้องกันที่ชัดเจน 25.8% มีช่องทางร้องเรียนสายตรงผู้บริหาร 25.25% มีการฝึกอบรมพนักงาน
เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างที่ถูกคุกคามทางเพศว่า ทำอย่างไรต่อจากนั้น 38.10% ไม่ทำอะไรเลย อีก 33.33% ใช้วิธีต่อว่า 3.17% ขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่อยู่ในบริเวณนั้น มีไม่ถึง 3% ที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกหรือแจ้งความ เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างที่เคยพบเห็นการคุมคามทางเพศ ส่วนใหญ่ 55.32% ไม่ทำอะไรเลย แต่น่ายินดีว่าอีก 29.57% เข้าไปต่อว่า 8.09% แจ้งหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา
"จากผลสำรวจรวมถึงความต้องการให้มีมาตรการจัดการป้องกันการคุกคามทางเพศที่ชัดเจน รวมไปถึงการที่ผู้ถูกคุกคามและผู้ที่พบเห็นการคุกคามทางเพศส่วนใหญ่ เลือกจะนิ่งเฉย อาจเกิดจากหลายเหตุผล ทั้งหวาดกลัว ทั้งไม่แน่ใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไม่มั่นใจว่าถ้าไปร้องเรียนหรือแจ้งความจะได้รับผลอย่างไร สะท้อนว่าการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เหยื่อยังรอความช่วยเหลือ ผู้ที่พบเห็นยังอยากให้มีการแก้ไข ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นเหยื่อยังต้องการความปลอดภัย หากทุกหน่วยงาน องค์กร รวมพลังกันป้องกัน แก้ไขการคุกคามทางเพศ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงพฤติกรรมทั้งการกระทำ วาจา สายตา ที่เป็นการคุกคามทางเพศ มีมาตรการจัดการผู้กระทำ และช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศในที่ทำงานได้" นพ.พงศ์เทพกล่าว
การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกสถานที่ สสส.ขอชวนทุกคน ทุกหน่วยงาน องค์กร ร่วมแสดงพลังป้องกัน ต่อต้านการคุกคามทางเพศ ทุกที่ ทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ สร้างบรรทัดฐานการไม่ยินยอม ร่วมส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล ปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันในระดับองค์กร
รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้แจงว่า ลักษณะการคุกคามทางเพศคือ การแสดงความคิดเห็น คำพูด การกระทำ หรือรวมทุกอย่างที่กล่าวมา มีลักษณะจงใจสื่อนัยไปในเรื่องทางเพศ โดยผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์ ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากเห็น ไม่ต้องการ การถูกร้องเรียนเรื่องการมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาผู้ถูกกระทำมักเลือกที่จะเงียบ วางเฉย จึงได้ร่วมกับ สสส.พัฒนาแผนดำเนินงาน ทั้งการเก็บข้อมูลวิชาการสถานการณ์การคุกคามทางเพศกับกลุ่มชาย-หญิง และ LGBTQIA+ นำไปพัฒนาระบบบริการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และเสริมศักยภาพพัฒนาหลักสูตรแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เพื่อผลักดันให้สถานประกอบการที่สนใจบรรจุเป็นระเบียบขององค์กร โดยจะนำเนื้อหาและกระบวนการเริ่มทดลองใช้กับเจ้าหน้าที่ และภาคี สสส. เป็นต้นแบบของหลักสูตร
นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ให้ข้อมูลว่า ช่องโหว่สำคัญของการคุกคามทางเพศคือ ผู้พบเห็นอาจมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นทัศนคติที่ทำให้ตัดสินใจนิ่งเฉย ปัจจุบันสังคมตื่นตัวมากขึ้น แต่คนจำนวนมากยังไม่รู้แนวทางจัดการหากถูกคุกคามหรือพบเห็นการคุกคาม ดังนั้นหน่วยงานในระดับองค์กรควรมีการดำเนินงาน คือ 1.มีกระบวนการเพิ่มทักษะความรู้ให้แก่พนักงาน 2.มีแนวทางการป้องกันและรับมือปัญหา รวมถึงมีช่องทางร้องเรียนขอความช่วยเหลือ 3.มีกลไกการตรวจสอบที่เชื่อมั่นได้ รักษาความลับ มีความเป็นธรรมให้ทั้งผู้ถูกกระทำ และผู้ถูกกล่าวหา ทั้งหมดนี้คือการรักษาสิทธิที่สร้างบรรยากาศการทำงานเป็นมิตร ปลอดภัย พลิกมุมมองวัฒนธรรมองค์กร ไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ สมาคมเพศวิถีศึกษาทำงานขับเคลื่อนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศกับ สสส.มาโดยตลอด จะร่วม ดำเนินการตามที่ สสส.ได้ประกาศเจตนารมณ์ หากสามารถเริ่มจากจุดเล็กๆ ในองค์กรได้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีร่วมกันสร้างสังคมที่มีความฉลาดรู้ในเรื่องการคุกคามทางเพศ และกล้าปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น
นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) เปิดเผยว่า UNFPA มีหลักการการป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ (Prevention of Sexual Exploitation and Abuse) เป็นข้อปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่ของ UNFPA และหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติทั่วโลก ต้องลงนามปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด UNFPA มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศเจตนารมณ์หยุดคุกคามทางเพศกับ สสส. นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันความก้าวหน้าในการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบ ทุกพื้นที่ในสังคม พร้อมร่วมมือกับ สสส.ส่งเสริมแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน ในบ้าน ในโรงเรียน และพื้นที่สาธารณะทุกแห่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนของการมีพื้นที่ปลอดภัยในทุกที่ของสังคม.
คำประกาศเจตนารมณ์ “หยุด”คุกคามทางเพศในการทำงาน
1.บริหารงาน และปฏิบัติงานบนความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2.สร้างวัฒนธรรมองค์กร ปลูกฝังค่าที่นิยมที่ดี
3.สร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมความปลอดภัยในองค์กร
4.มีกลไกและกระบวนการในการป้องกันการคุกคามทางเพศ
โดยยกระดับการป้องกันการคุกคามทางเพศที่เข้มข้นขึ้นด้วยมาตรฐานสากล
1.ตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภายนอกคุ้มครองเหยื่อ
2.มีแนวปฏิบัติการรักษาความลับ
3.จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของ สสส. เรื่องการปกป้อง คุ้มครองการคุกคามทางเพศ และจะขยายผลไปถึงภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 องค์กร ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบ โดยจะไม่สนับสนุนหรือร่วมดำเนินงาน
ทั้งนี้ สสส.มีภาคีเครือข่ายที่ทำงานป้องกันการคุกคามทางเพศ พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งองค์ความรู้ ชุดข้อมูลวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบ ติดต่อที่ 0-2343-1500 Facebook: สสส. หรือ Facebook นับเราด้วยคน เพื่อร่วมสานพลังสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ
จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง
รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น