รวมพลังเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชน “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” หนุนสวัสดิการแนวใหม่ชุมชนผสานพลังภาคี

รวมพลังเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ

เชียงราย/เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ ร่วม กระทรวง พม.  พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค   “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” ที่จังหวัดเชียงราย ชูประเด็นรูปธรรมการจัดสวัสดิการชุมชนดูแลคนในชุมชนและสังคม และประกาศเจตนารมณ์อาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด

วันนี้ 16สิงหาคม2567 เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ จัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย โดยมีผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ผู้แทนกองทุนที่ได้รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนหน่วยงานภาคี ผู้แทนภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมงานสมัชชาฯ กว่า  500 คน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย  ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ที่ปรึกษา รมว.พม. กล่าวว่า การดำเนินงานสวัสดิการชุมชนของผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้ามาโดยตลอดและเป็นขบวนองค์กรชุมชนที่ร่วมสร้างพลังทางสังคม ในการสร้างให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำนโยบายการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทยสู่การปฏิบัติ

รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย และการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการพัฒนา สร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ซึ่งจากการระดมความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทย พบว่า 1 ใน 5 ประเด็นสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือการสร้างระบบนิเวศ (Eco system) ที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัวคือการสร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกช่วงวัย (Community For All) ทั้งความปลอดภัย ความเป็นมิตร และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งเครือข่ายสวัสดิการชุมชนถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศ ในครั้งนี้

ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย  ในฐานะเป็นหนึ่งในจังหวัดเมืองต้นแบบการจัดสวัสดิการทุกช่วงวัยของประเทศ ตามนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์เมืองแห่งศิลปิน ดินแดนแห่งศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีล้านนาที่งดงาม และสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์กว่า ๓๐ ชาติพันธุ์ ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ อำเภอ มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด และอีก ๑๔๓ ท้องถิ่น และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาจังหวัด “เชียงรายเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ วิถีถิ่นร่วมสมัย เกษตรกรรมมูลค่าสูง สิ่งแวดล้อมสมดุล มุ่งสู่ความยั่งยืน”    ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมมีสุข คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้น สวัสดิการชุมชน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่จังหวัดให้ความสำคัญ ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับพี่น้องประชาชน   สำหรับการจัดงานสมัชชาฯ ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เครือข่ายการจัดสวัสดิการชุมชนทุกจังหวัดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เพื่อนำมาปรับและยกยกระดับการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

นางมุกดา อินต๊ะสาร ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดสมัชชาครั้งนี้ เป็นการสร้างความรับรู้งานสวัสดิการชุมชนสู่การประสานงานในระดับนโยบาย  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับภาคี  พร้อมทั้งสร้างพลังและความมุ่งมั่นของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนสู่การยกระดับเป็นองค์กรทางสังคม สุดท้ายสื่อสารงานสวัสดิการชุมชนต่อสาธารณะ พร้อมกันนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นองค์กรทางสังคมที่มีความกว้างขวางและหลากหลายทั้งด้านการเข้าเป็นสมาชิก การมีสวัสดิการที่หลากหลายมิติ ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต มีระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชนภาคเหนือมี จำนวน 1,213  กองทุน มีสมาชิกประมาณ 1,518,921 คน ช่วยเหลือสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคมได้มากกว่า 55,025 คน โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนมีบทบาทในการเป็น “ผู้ช่วยเหลือในเบื้องต้น” เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชน จึงสามารถปรับแผนงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid –19 หรือกรณีภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น มีการระดมทุนจากกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ  รวมทั้งการเป็นผู้ประสานและส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานราชการเพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้รับการดูแลช่วยเหลือกันในเบื้องต้น

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มีภารกิจสําคัญคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและชุมชน ในการที่จะพัฒนาบนฐานของการพึ่งตนเอง สวัสดิการชุมชน เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เกิดจากการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชน ในการที่อยากจะมีระบบสวัสดิการของตัวเองที่จะดูแลตัวเอง เติมเต็มกับสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เพราะฉะนั้นชุมชนก็ลุกขึ้นมาเอาเงินมาสมทบร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ใช้เงินเป็นเครื่องมือ ในการรวมคนเข้าหากัน รวมถึงการคิดออกแบบการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางในการดําเนินงานตามบทบาทภารกิจของ พอช. ที่จะต้องไปสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เพราะฉะนั้น การหนุนเสริมการดําเนินงานสวัสดิการชุมชน นอกจากจะสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรสวัสดิการชุมชนในระดับตําบลแล้วนั้น จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล และระดับเขตของกรุงเทพมหานครให้เต็มพื้นที่

      พอช. มีแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ในการพัฒนาสนับสนุนกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ ให้สามารถขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่กำหนด การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มีความสามารถในการจัดการทุนของตนเอง และเชื่อมโยงหน่วยงานในระดับพื้นที่ได้ การพัฒนาฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลไกสวัสดิการชุมชนด้านระบบการบริหารจัดการที่ และการขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามและผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน การเสนอปรับรูปแบบการสมทบงบประมาณของกองทุนสวัสดิการชุมชน “สมทบถ้วนหน้า” การลดหย่อนภาษีให้กับผู้สมทบงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน ผอ.พอช. กล่าวในตอนท้าย

เวทีเสวนาหัวข้อ “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

เสวนาหัวข้อ “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

นางสาวสุชาดา มั่นชูขวัญศิริ  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน : ตำบลแม่ฮี้ ตั้งปี 2555 มีการพัฒนาทีมงาน สร้างความเข้าใจร่วมกัน ในการจัดสรรสวัสดิการให้กับสมาชิกในระดับตำบล มีพี่น้องไทยใหญ่ พี่น้องพื้นเมือง กระเหรี่ยง ลีซู ลาหู่ รูปธรรมที่ดำเนินการคือลดความเหลื่อมล้ำ มีการจัดสวัสดิการเท่าเทียมให้กับคนในพื้นที่ ใช้ระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน เช่น สวัสดิการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สมาชิกทุกคนได้รับเท่ากันทั้งหมด สิ่งที่ภูมิใจคือสามารถชักจูงเครือข่ายจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน ที่แม่ฮี้มีการดูแลเรื่องสังคมสูงวัย ที่ไม่ได้ดูแลแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น มีเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน มีนักเรียนมาเรียน และให้ผู้สูงอายุมาร่วมสอนดนตรี เป็นการสานความสัมพันธ์ของคนหลายช่วงวัยให้เข้ามามีกิจกรรมร่วมกัน มีความผูกพันกันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนระหว่างวัย ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เช่น รพสต. ทหาร ตำรวจ มาให้ความรู้กับสมาชิกในตำบล เป็นต้น มีการชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย

ดร.มณเฑียร สอดเนื่อง  ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค : สวัสดิการชุมชนเป็นงานที่ไม่เหมือนกับงานอื่นๆ ที่ทำมา มีความเป็นพิเศษ คือ 1) เป็นการกระจายอำนาจให้สังคมไทย โดยไม่ต้องออก กม. เกิดการกระจายความรับผิดชอบลงไปสู่สังคม 2) การสร้างความสัมพันธ์ชุมชน ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะด้าน ทำหลายเรื่อง หลายมิติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ที่ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งคุณภาพชีวิตไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว เราอยู่ในชุมชนที่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดสังคมแห่งความสุข ที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนทำให้คนในชุมชนและสังคมมีความสุข ซึ่งมองว่าสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก เพราะเป็นเรื่องที่ชุมชนอยากทำ มีตัว หัวใจ และความมุ่งมั่นที่จะทำ มีการทำพัฒนาต่อยอดไป ไม่ได้แค่การมีกองทุนขึ้นมาแล้วจัดสวัสดิการ โจทย์สำคัญคือการที่จะให้สวัสดิการชุมชนสามารถดูแลคนในพื้นที่ทั้งหมด เป็นการพัฒนาศักยภาพของกองทุนให้สามารถเป็นที่พึ่ง การเพิ่มความสามารถในระดับถัดไปคือการทำความร่วมมือกับหน่วยงาน ภาคีในระดับต่างในพื้นที่ รวมถึงการทำให้เกิดสวัสดิการที่เป็นกองทุนแนวใหม่ พัฒนายกระดับเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็น Center “สวัสดิการชุมชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่”

นายสิน  สื่อสวน  ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) :  ปีนี้ครบรอบ 20 ปีที่ขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน มีการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนให้ยั่งยืนได้เป็นเพราะพี่น้องประชาชน และ 20 ปีมองถึงโอกาสที่เราจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่อยากทำเรื่องสวัสดิการชุมชน เป็นระบบการฟื้นฟูในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพี่น้องในชุมชนในสังคมไทยกลับมาให้ได้ คิดถึงเรื่องการช่วยกันเอง ช่วยตนเอง โจทย์สำคัญคือการพัฒนาและสร้างชุมชนเข้มแข็งไปด้วยกัน จึงมองถึงการสร้างสวัสดิการ เป็นเงินกองบุญ เมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว หัวใจสำคัญคือการที่จะทำให้องค์กรชุมชนมีระบบการดูแลกันทั้งตำบล สวัสดิการชุมชนมีการให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี การสร้างกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นสิ่งที่คนในตำบลดูแลกัน เป็นกองทุนของคนในชุมชน บริหารโดยชุมชน เพื่อชุมชน จากจุดเริ่มต้น เป็นการขยายความคิดให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “สิ่งที่คิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอช. ไม่ใช่องค์กรที่คิด แต่เป็นองค์กรที่สนับสนุน” วันนี้ครบ 20 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1) สวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่ดี สอดคล้องกับวิถีความต้องการของพี่น้องประชาชน เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพที่ดี ชุมชนเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม 2) พี่น้องประชาชนได้พิสูจน์ความตั้งใจ ความสามารถ ความรับผิดชอบ ปัจจุบัน มี 6,000 กว่าแห่ง สมาชิก 7 ล้านกว่าคน มีเงินกองทุน 2 หมื่นกว่าล้าน ท่ามกลางความสำเร็จหากเราจะมองไปในทิศทางข้างหน้าในการสร้างความเปลี่ยนแปลง คือ 1) การมองถึงอุดมการณ์ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” เป็นกองทุนที่ประชาชนเป็นเจ้าของ คิดถึงการพึ่งพางบสมทบจากรัฐบาล มากกว่ามองถึงการให้คนแบ่งปันกัน 2) การที่จะทำให้เป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาให้น้ำหนักกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากไปหน่อย 3) การจัดสวัสดิการชุมชน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตอนนี้ปัญหาสังคมเปลี่ยน ปัญหาต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยภาพรวม การคิดว่าการจัดสวัสดิการชุมชนยังขยับจากจุดเดิมไม่มากนัก ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาสังคม และปัญหาในปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก โจทย์ที่ท้าทายคือ การทำให้เกิดความเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรบ้าง 4) การเพิ่มจำนวนสมาชิกที่กว้างขวาง

          ฉะนั้นสิ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าคือ ประการแรก ทำอย่างไรให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการจัดสวัสดิการให้กับคนในพื้นที่ ประการที่สอง การขยายสมาชิกให้ครอบคลุมคนทั้งตำบล ประการที่สาม เจตนารมณ์และอุดมการณ์ จะมีกระบวนการฟื้นฟูเจตนารมณ์ที่ปลูกฝังไปพร้อมกัน ประการที่สี่ ในปัจจุบันแต่ละกองทุนมีเครือข่ายระดับจังหวัด ระดับภาค และมีโซนด้วย จะทำอย่างไรให้เครือข่ายระดับโซนและระดับจังหวัดมีการเชื่อมโยงกันให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ประการที่ห้า มีประชาชนคิดเรื่องสวัสดิการสังคม การคิดถึงสวัสดิการถ้วนหน้า จะทำอย่างไรให้สวัสดิการชุมชนมีมิติเหล่านี้มากขึ้น ประการสุดท้าย การผลักดันนโยบายระดับประเทศ เช่น กม.ให้สวัสดิการชุมชนได้รับการรับรอง การเชื่อมโยงสวัสดิการสังคมอื่นๆ

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน :  ปี 2519 อ.ป๋วย มองว่าการจัดสวัสดิการที่ดีตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน มีการจัดสวัสดิการให้เท่าเทียมกันในพื้นที่ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ต้องยอมรับว่าคนเปราะบางด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่รูปแบบและวิธีการจัดกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ชาวบ้านดำเนินการและบริหารจัดการเอง เช่น การจัดสวัสดิการควายออกลูก มีการต่อยอดนอกจากจะจัดสวัสดิการให้กับคนที่เลี้ยงควาย การเลี้ยงควายนั้นก็สามารถต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์ควายควายออกลูกก็ได้สวัสดิการ ขี้ควายที่ได้ก็นำไปสู่การทำปุ๋ยการปลูกผักอินทรีย์ รวมถึงการอนุรักษ์ป่าชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกบูรณาการเกื้อหนุนช่วยเหลือกันตั้งแต่ครอบครัว และชุมชน รัฐต้องมองถึงมิติการสนับสนุนงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชน  จาการสมทบของชุมชนคิดเป็นร้อยละ65  ซึ่งรัฐต้องมองถึงการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาให้มากขึ้น

เครือข่ายสวัสดิการจะต้องคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการจัดสวัสดิการ มองถึงปัญหาตัวเองให้ออกแล้วนำมาสู่การจัดสวัสดิการของคนในชุมชน เกิดแก่เจ็บตายนั้นอาจจะต้องมองถึงมิติอื่นให้มากขึ้น เพราะรัฐบาลก็มีระบบดูแลขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว และมองถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานหรือกองทุนอื่นๆ เปลี่ยนจากสวัสดิการเชิงรับเป็นสวัสดการเชิงรุกมากขึ้น ประการแรก คิดกิจกรรมหรือแผนการพัฒนาเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหา การเปิดพื้นที่ในการสร้างภาคีให้มากขึ้น จะทำให้เกิดการขยายงานกันได้เยอะขึ้น ประการสุดท้าย การหนุนเสริมของภาควิชาการในพื้นที่ อาจจะมีการสำรวจและใช้ข้อมูลเพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด  การจัดสวัดิการช่วยเหลือเกือกูลคนในครอบครัว  บูรณการความร่วมมือหน่วยงาน พัฒนาคุณาภาพชีวิตของประชาชน การประชาสัมพันธ์ ACSR การบูรณการความร่วมมือจากภาคเอกชน  ตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมภาคประชาชน จัดตั้งกลไกร่วมบูรณาการระบบพื้นที่ สร้างระบบในการดูแล การจัดสวัดิการ กลไกการทำงาน อาสาสมัครจิตอาสา มีคุณค่าการจัดการความรู้ สร้างความรู้การบริหารจัดการที่เหมาะสมเกิดขึ้นเจตจำนงค์ เป็ที่ตั้ง การออมบุญเพื่อสะสมพลังกองทุน บูรณการกองทุน กอช. /อพม. ฯลฯ

นายอนันต์ ดนตรี  รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ : ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน เชื่อมโยงกลไกร่วม เปิดตา เปิดใจ เข้าหากัน กองทุนสวัดิการชุมชน ที่เอื้อประโยชน์ในสังคม ต้องเชื่อมโยงเชิงระบบ  วัฒนธรรม  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วน การช่วยเหลือจัดตั้งศูนย์กลางช่วยเหลือภาคประชาชน ให้เท่าเทียมกัน ข้อจำกัด นโยบายของรัฐ  ในการบูรณาการ การเข้าถึงความเข้าใจเชื่อมโยงกันหลากหลายหน่วยงาน ความร่วมมือการใช้ประโยชน์กองทุน การเสริมพลังขบวนองค์กรชุมชน กระตุ้นให้เกิดกำลังใจ ขับเคลื่อนบนฐานรูปธรรมสังคม ภาครัฐ ภาคประชาชน เช่น เชื่อมโยงต้นทุนที่มีอยู่ใมนตำบลเช่น กองทุนหมู่บ้าน ทำงานร่วมกัน   

8 ข้อเสนอทิศทางการขับเคลื่อนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค

8  ทิศทางการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนภาคเหนือปี 2568

1.การพัฒนาคุณภาพของกองทุน (1) พัฒนาคน กลไก ให้เข้าถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของสวัสดิการชุมชน ภายใต้หลักสูตรการพัฒนากองทุนที่มีการใช้เทคโนโลยี สมัยใหม่(โปรแกรม)ให้เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่และสามารถส่งต่อการพัฒนาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ (2) ทำสวัสดิการเชิงรุกที่เข้าถึงระบบทุนของตำบลภายใต้รูปแบบการพัฒนาสถาบัน/ธนาคารสวัสดิการและทุนชุมชนเพื่อให้มีการจัดระบบสวัสดิการที่หลากหลาย/ครอบคลุม/ทั่วถึง และสามารถบูรณาการ “คน งาน เงิน” ให้เป็นไปตามหลักบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งทำให้กองทุนสวัสดิการเป็นกลไกหลัก ในการจัดสวัสดิการสังคมในระดับพื้นที่

2.พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่าย (1) หาผู้ก่อการดีระดับโซน/อำเภอ/จังหวัด ภายใต้การพัฒนา ”5นัก” ในการขับเคลื่อนสวัสดิการให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จและให้มีการพัฒนาพื้นที่ใหม่(กองทุนใหม่) ที่สามารถเข้าถึงระบบการสนับสนุนจากภาครัฐ (2) ทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการยกระดับ บทเรียนการพัฒนากองทุนและโยงเป็นชุดประสบการณ์ทำงานที่สามารถเชื่อมโยง เป็นเครือข่ายในระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด/ภาค รวมทั้งสามารถพัฒนาความร่วมมือกับภาคีทุกระดับ (3) ให้โซนมีบทบาทในการหนุนเสริม/เรียนรู้เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะ แนวทาง การทำงานรูปแบบใหม่ ภายใต้การหนุนเสริมของเครือข่ายจังหวัด/กลุ่มจังหวัด

3.ยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายสู่สาธารณะ (1) ผลักดันให้มี พรบ.สวัสดิการชุมชน ที่รองรับการทำงานของสวัสดิการชุมชนที่มีภาคประชาชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน (2) จัดสมัชชาวาระประชาชน ที่ใช้ข้อมูลในการโยงระบบการสื่อสาร รับรู้ในทุกช่องทาง (3) ทำ แบรนด์สวัสดิการชุมชน ที่สร้างการเข้าถึง/ส่วนร่วม จากทุกภาคส่วน และเป็นพลัง(ทุน) ในการขับเคลื่อนสู่การจัดการตนเองในทุกมิติ

การประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ

ประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค

ขออาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยจะร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการ (1) ฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพและยกระดับ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ที่มีอยู่ และจะจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นกลไกกลางที่ทำงานเชิงรุกในการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองและสร้างความมั่นคงในชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ยากลำบากหรือขาดโอกาสในชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในการดำรงชีวิตปกติและสถานการณ์วิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจและภัยพิบัติ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้หลักคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” และ “การพึ่งตนเองและช่วยเหลือกัน” ของชุมชน (2) พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ให้มีบทบาทและความสามารถในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ความร่วมมือกับองค์กรภาคีแบบหุ้นส่วนการพัฒนา และการพัฒนานโยบาย (3) ผลักดันทางนโบายให้เกิดการพัฒนา “ระบบสวัสดิการของชุมชน” ซึ่งเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และระบบสวัสดิการถ้วนหน้า รวมถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. …. ที่ภาคประชาชน  โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจะประสานพลังความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชน  องค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ