เมื่อสิบปีก่อน ประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อเป็นกฎหมายกลางสำหรับกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต การจดทะเบียน ขึ้นทะเบียน และการรับแจ้งหรือจดแจ้ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการร่วมสำหรับรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต ณ จุดเดียว อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่เป็นผลจากกฎหมายดังกล่าว คือ การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำ “คู่มือสำหรับประชาชน” ตามมาตรา ๗ เพื่อสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ในระบบอนุญาต โดยคู่มือดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการยื่นคำขอ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต รวมทั้งรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ
ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับมาเป็นเวลา ๕ ปี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบการใช้บังคับกฎหมาย ได้ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งจากผลการประเมินนั้นสำนักงาน ก.พ.ร. พบว่า พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นกฎหมายที่ยังคงมีความจำเป็น และบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง รวมทั้งคุ้มค่าและได้สัดส่วนกับหน้าที่ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตามหลักการมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเสนอให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งฉบับ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคบางประการที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้บังคับกฎหมาย เช่น การขาดการทบทวนหรือยกเลิกระบบอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็น การกำหนดระยะเวลาในคู่มือสำหรับประชาชนที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป การแก้ปัญหาเรื่องอายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต การส่งเสริมให้มีการใช้ระบบเทคโนโลยีหรือ e-Service ในการให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการขาดสภาพบังคับของกฎหมายที่เป็นรูปธรรม
ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๗ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำร่างดังกล่าวเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตรวจพิจารณาโดยเร่งด่วน จนแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสำนักงาน ก.พ.ร. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งสภาพิจารณาต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว นั้น เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยกำหนดเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน ลดขั้นตอนการอนุญาตที่ไม่จำเป็น นำเทคโนโลยีมาใช้ในการอนุญาตและการให้บริการภาครัฐ และให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะมีผลเป็นการลดภาระและต้นทุนของประชาชน ลดการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม อันเป็นการสอดคล้องกับมาตรา ๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนั้น ร่างพระราชบัญญัตินี้ยังวางหลักการพื้นฐานให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณาอนุญาตและให้บริการประชาชนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) และพึงตระหนักว่าประชาชนเป็นประธานแห่งสิทธิ (Subject of Right) ที่จะได้รับบริการจากรัฐตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการในครั้งนี้ ก็คือการลดภาระต้นทุนให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Better Life) ตัวอย่างเช่น
(๑) หากหน่วยงานของรัฐแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบของตนให้สร้างภาระแก่ประชาชนน้อยที่สุด โดยไม่เรียกเอกสารที่ไม่จำเป็นจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่หน่วยงานนั้นเป็นผู้ออกเอง หรืออยู่ในความครอบครองของตนอยู่แล้ว รวมทั้งเรียกเอกสารหรือสำเนาจากประชาชนเพียง ๑ ชุด (ตามร่างมาตรา ๑๑) เช่นนี้ หากประชาชนชาวไทย (ประมาณ ๗๐ ล้านคน) ต้องติดต่อราชการเฉลี่ยคนละประมาณ ๑๐ ครั้งต่อปี และสามารถลดการใช้กระดาษได้เฉลี่ย ๑๐ แผ่นต่อหนึ่งธุรกรรม (โดยเจ้าหน้าที่ใช้วิธีตรวจสอบกับไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่เก็บอยู่ในระบบของหน่วยงานแทน) จะสามารถประหยัดกระดาษได้ถึง ประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านแผ่นต่อปี ซึ่งเทียบได้กับการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ประมาณ ๗๓,๖๔๐,๐๐๐ กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ต่อปี
(๒) กรณีการจัดให้มีศูนย์รับคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนยื่นคำขอได้ทุกเรื่อง ถ้าประชาชนชาวไทยซึ่งมีประมาณ ๗๐ ล้านคนเห็นว่าสะดวกขึ้นมาก และดำเนินการยื่นคำขอด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นปีละ ๒ ครั้งต่อคน (โดยส่งไปยังศูนย์รับคำขอกลางแทนการยื่นไปที่แต่ละหน่วยงานของรัฐ) หากค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการเดินทางไปติดต่อราชการคิดเป็น ๕๐๐ บาท ต่อครั้ง ถ้าประชาชนเปลี่ยนมายื่นคำขอด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด จะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนของประชาชนได้ถึง ๓๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังเป็นการประหยัดต้นทุนด้านเวลาซึ่งไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและไม่ต้องต่อคิวรอเจ้าหน้าที่ดำเนินการเนื่องจากจะยื่นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในเวลาใดก็ได้ รวมทั้งยังประหยัดงบประมาณแผ่นดินจากค่ากระดาษที่หน่วยงานของรัฐต้องใช้และค่าส่งเอกสารทางไปรษณีย์อีกจำนวนมากด้วย
ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาและมีผลใช้บังคับเมื่อใด สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะร่วมกันดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยเร็ว (เช่น ระบบใบอนุญาตหลักหรือ Super License) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน (Better Life)” อันเป็นเจตนารมณ์และความมุ่งหมายสูงสุด ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับบทจำกัดสิทธิการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล
ภารกิจสำคัญหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ การตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายนั้น ประเด็นสำคัญในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย คือ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงการตรากฎหมายที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเครือข่ายนโยบายด้านกฎระเบียบที่ดี ASEAN-OECD GRPN
ในปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา คณะมนตรีแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบต่อการเปิดเจรจาเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก
การศึกษานโยบายและธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ของญี่ปุ่นด้วย Agile Governance เพื่อการพัฒนาด้านกฎหมายของไทย
ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดย AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในหลายภาคส่วนของญี่ปุ่น มีการมุ่งเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ได้รับการเสริมประสิทธิภาพด้วย AI เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ในด้านการดูแลสุขภาพ
๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ