" ปักธงพัฒนานครสวรรค์ 'สวรรค์ของคนทุกคน ด้วยพลังภาคีอาสา'"

หน่วยงานภาคีรัฐ-ท้องถิ่น-ภาคประชาชน จัดเวที Kick off “สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง” ผนึกกำลังพัฒนา “นครสวรรค์” สู่จังหวัดเข้มแข็งต้นแบบภายใต้แนวคิด “สวรรค์ของคนทุกคน” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ใช้พื้นที่เป็นฐานสร้างอนาคตนครสวรรค์ ดึง 9 องค์กรหลักร่วมขับเคลื่อน ชูเป้าหมาย “จังหวัดจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน”

Kick off “สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง”

นครสวรรค์-19 พฤษภาคม 2568 สถาบันพัฒฯองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ 8 หน่วยงานภาคี จัดเวที Kick off “สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง” ภายใต้แนวคิด “นครสวรรค์: สวรรค์ของคนทุกคน (Heaven for All, All for Heaven)” เพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันวางรากฐานพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมแสดงพลังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนจังหวัดให้เข้มแข็งและยั่งยืน กว่า 250 คน ณ ห้องประชุมโรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

“นครสวรรค์: สวรรค์ของคนทุกคน (Heaven for All, All for Heaven)”

รองผู้ว่าฯ นครสวรรค์เปิดเวที ‘สานพลังภาคีอาสา’ ขับเคลื่อนจังหวัดเข้มแข็งบนฐานการพัฒนาร่วม

นายบดินทร์ เกษมศานติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์  กล่าวว่า  จังหวัดนครสวรรค์มีทุนทางสังคมเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนา นครสวรรค์เมืองอัจฉริยะ ฐานการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ศูนย์กลางการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ และบริการทางสุขภาพ บนฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน การดำเนินงานครอบคลุม 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เกษตรและเศรษฐกิจฐานราก การท่องเที่ยวเพื่อสร้างเศรษฐกิจ พลังงานทดแทนและโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ การยกระดับระบบการแพทย์และสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์และสังคมพอเพียง

นายบดินทร์เน้นว่า ความร่วมมือในวันนี้จะเป็น เครื่องมือ และ วิธีการ ที่สำคัญในการบูรณาการความร่วมมือ สร้างพื้นที่เรียนรู้ และขยายโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การดำเนินงานที่ผ่านมาช่วยให้เราเห็นทิศทางของนโยบายในอนาคต ขอให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับข้อมูล ความรู้ และบทเรียนที่หลากหลาย เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่กลางนครสวรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ  จังหวัดนครสวรรค์ตั้งเป้าให้ “พื้นที่กลางนครสวรรค์” เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของภาคีอาสา สู่เป้าหมาย “สร้างสวรรค์ของทุกคน” ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง

“จังหวัดเข้มแข็ง” สานพลังพัฒนานครสวรรค์บนฐานสุขภาวะ

นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เขต 3  และผู้แทนเครือข่ายจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงเปิดการจัดเวที Kick off “สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง” ว่า โครงการสร้างจังหวัดเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นฐานและการบูรณาการทุกภาคส่วน เป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และการจัดการปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาวะของประชาชน โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 9 หน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา “จังหวัดนครสวรรค์ต้นแบบ” ภายใต้แนวคิด “จังหวัดบูรณาการ”

นายวิสุทธิกล่าวต่อไปอีกว่า วัตถุประสงค์คือ การสร้างความเข้มแข็งของกลไกบูรณาการในระดับจังหวัด ผลักดันนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญ ด้วยกระบวนการเรียนรู้และความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในลักษณะเครือข่าย ถือเป็นก้าวสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ที่จะรวมพลังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ธุรกิจ วิชาการ หรือภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาจังหวัดให้เข้มแข็ง

สช. ย้ำบทบาทขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะโดยประชาชนต้องมาจากฐานชุมชน-พื้นที่

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เน้นย้ำว่า สช. ต้องเป็นกลไกกลางในการสร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ” ที่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ทิศทางการขับเคลื่อนงานของ สช. จะต้องเน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสร้าง “ความรู้สึกร่วมและเป้าหมายร่วม (collective impact)” ผ่านการประสานภาคีเครือข่ายในระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด และพื้นที่ท้องถิ่น พร้อมชูบทบาทของ “สภานโยบายสาธารณะระดับพื้นที่” ให้เป็นเครื่องมือหลักในการจัดทำนโยบายที่ตอบโจทย์ชุมชน ต้องทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้และการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในระดับจังหวัดและพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถลุกขึ้นมาจัดการตนเองบนฐานข้อมูลและองค์ความรู้

นายสุทธิพงษ์ ยังระบุถึงพันธกิจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศใหม่ของการจัดทำนโยบายสาธารณะ โดย สช. จะทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม สังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบาย และผลักดันสู่การตัดสินใจของรัฐและองค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้ สช. จะเน้นบทบาทเชิงรุกมากขึ้น โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้หลัก 3P ได้แก่ People: เสริมพลังพลเมืองให้สามารถมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย Process: ออกแบบกระบวนการที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นPartnership: สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ

ความสำเร็จของ สช. จะวัดได้จาก “การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ” เช่น การมีนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบอย่างแท้จริง และการที่ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้บนหลักการประชาธิปไตยทางสุขภาพ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนจากการทำงานแบบส่วนกลางเป็นการเสริมพลังให้พื้นที่ และให้คนในชุมชนได้เป็นเจ้าของนโยบายของตัวเองอย่างแท้จริง” นายสุทธิพงษ์  กล่าวทิ้งท้าย

นครสวรรค์เดินหน้าสู่จังหวัดจัดการตนเอง หวังสร้างผู้นำจากฐานราก เชื่อมพลังภาคีทุกภาคส่วน

นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า  การผนึกพลังภาคประชาชน ข้าราชการ ท้องถิ่น และเครือข่ายอาสา “สานพลังภาคีอาสา” เป้นการขับเคลื่อนนครสวรรค์เป็นต้นแบบจังหวัดเข้มแข็ง พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้นำ สร้างกลไกกองทุนกลาง เตรียมต่อยอดสู่ระบบสนับสนุนที่ยั่งยืน  เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดนครสวรรค์สู่การเป็น “จังหวัดจัดการตนเอง”  ซึ่งมีผู้แทนภาคีภาคประชาชนและองค์กรสนับสนุนร่วมกัน ยืนยันถึงความพร้อมและศักยภาพของจังหวัดในการก้าวเป็นพื้นที่นำร่อง ทั้งด้านความเข้มแข็งของเครือข่าย การสนับสนุนจากหน่วยราชการ และศักยภาพด้านการศึกษาในพื้นที่

นายวิชัย ระบุว่า แนวทางการจัดตั้ง “กองทุนกลาง” ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของภาคีในจังหวัด หากสามารถจัดตั้งได้สำเร็จ จะถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้ จะเป็นพลังที่สำคัญอย่างมาก และเป็นเส้นทางสนับสนุนพี่น้องได้อย่างยั่งยืน นอกจากการจัดตั้งกลไกทางการเงินแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้นำชุมชนและเครือข่ายแกนนำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานในระยะยาว โดยภาคีหลายฝ่ายเตรียมเปิดหลักสูตรอบรม เช่น หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อสร้างบุคลิกภาพและภาวะผู้นำ เพื่อรองรับการขยายเครือข่ายในอนาคต  หัวใจสำคัญคือคน ผู้นำ และการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ภาคีจากส่วนกลางยังเตรียมหารือแนวทางการเชื่อมโยงกับหน่วยงานวิชาการ เพื่อพัฒนา ระบบผลิตผู้นำท้องถิ่น โดยเริ่มจากการปักฐานที่จังหวัดและขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

เวทีเสียงสะท้อนจากคนนครสวรรค์

นายวิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า จังหวัดนครสวรรค์มีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งเครือข่ายประชาสังคมที่เข้มแข็ง ความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ และการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะบทบาทของภาคีสตรีในพื้นที่ที่ทำงานเชิงรุกและประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นครสวรรค์มีทุกอย่างครบ เป็นโอกาสสำคัญในการก้าวสู่จังหวัดที่เข้มแข็งและยั่งยืน

การเสวนา ในหัวข้อ “ฐานทุน จังหวะ และโอกาสในการพัฒนานครสวรรค์”

เวทีนี้มีเป้าหมายสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ สร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิด “ภาคีอาสา” แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ ความต้องการ และทุนทางสังคม กำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงานหลักกับภาคีในพื้นที่ เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาที่สามารถขยายผลได้ สร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นให้กับเครือข่ายในพื้นที่

เวทีถักทอพลังสร้างสรรค์จังหวัดเข้มแข็ง

ร่าง “ธรรมนูญพัฒนาจังหวัดที่ยั่งยืน” จุดประกายพลังพลเมือง

          ร่าง “ธรรมนูญพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ที่ยั่งยืน” ฉบับแรกของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาจังหวัดที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนโดยใช้พื้นที่เป็นฐานตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

ธรรมนูญฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนา เสริมสร้างกลไกสภาพลเมืองให้เข้มแข็ง และเปิดพื้นที่กลางสำหรับการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และตัดสินใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในจังหวัด อันได้แก่ หน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และเครือข่ายประชาชน ขับเคลื่อนนครสวรรค์ในรูปแบบ “จังหวัดบูรณาการ” มุ่งสร้างกลไกนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมและการจัดการปัจจัยสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น

“ธรรมนูญนี้จะเป็นข้อตกลงร่วมที่มีชีวิต (Living Document) ซึ่งเปิดให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมและบริบทของจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ‘นครสวรรค์ : สวรรค์ของคนทุกคน’ หรือ ‘Heaven For All, All For Heaven’ อย่างแท้จริง”

เนื้อหาธรรมนูญกำหนดหลักการสำคัญในการทำงานร่วมกัน 5 ประการ ได้แก่ หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักการอภิบาลแบบเครือข่าย หลักประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ หลักความเป็นธรรม หลักการกระจายอำนาจ ทั้งนี้ยังมีการจัดตั้ง “กลไกสภาพลเมืองคนนครสวรรค์” เพื่อเป็นศูนย์กลางการมีส่วนร่วมของประชาชน มีบทบาทในการเสนอนโยบาย ตรวจสอบอำนาจรัฐ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัดจนถึงตำบล

เป้าหมายของธรรมนูญฯ คือ การลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการรัฐอย่างเท่าเทียมเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเป็นเจ้าของร่วมในการพัฒนา สร้างบรรยากาศเมืองที่ต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นและปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดเวที “สมัชชาจังหวัดนครสวรรค์” อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทบทวน ทิศทาง และผลการดำเนินงาน โดยเน้นการพัฒนาแบบบูรณาการที่ตั้งอยู่บนข้อมูล องค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง

พี่น้องชาวนครสวรรค์แลกเปลี่ยนเพื่อ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ‘นครสวรรค์ : สวรรค์ของคนทุกคน’

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. แจงข้อเท็จจริง “บ้านมั่นคงเพชรธนา” อุดรธานี – เดินหน้าแก้ปัญหาสหกรณ์ ฟื้นฟูความเชื่อมั่น

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ชี้แจงกรณีร้องเรียนโครงการบ้านมั่นคงเพชรธนา จังหวัดอุดรธานี ย้ำให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของกระบวนการ

กาญนะจ๊ะ เดินหน้าระบบจัดการ-ตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจฐานราก

พอช. จับมือขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ระดมความคิดวางแนวทางจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชนต้นแบบ พัฒนาเครือข่ายการตลาด สร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมหารือโมเดลบริหารจัดการข้อมูลและทุนในพื้นที่

พม. จับมือเครือข่าย จัดกิจกรรม หนุนพลังครอบครัว-ชุมชน ริมคลองเปรมประชากร พัฒนาเด็ก เยาวชนยั่งยืน พร้อมแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off โครงการ “Prem’s Plearn” จุดพลังครอบครัว ชุมชน ร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ และการส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ

‘เชียงรายล้านนาแห่งความสุข’ รวมพลังทุกภาคส่วนพัฒนาจังหวัดเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”

เปิดตัว “ภาคีอาสา” จุดประกายการพัฒนาจังหวัดเชียงรายสู่เมืองสุขภาวะ ด้วยการบูรณาการ 9 หน่วยงานหลักร่วมกับภาคประชาชน หนุนสร้างพื้นที่กลาง

“น้ำท่วมแม่สายหนัก! พอช. ลงลุยพื้นที่ เยี่ยมให้กำลังใจ ทุ่มงบเร่งฟื้นฟูชุมชน”

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เร่งเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยแม่สาย อนุมัติงบกว่า 4.9 ล้านบาทช่วยซ่อมบ้าน 318 ครัวเรือน พร้อมเดินหน้า “บ้านมั่นคงภัยพิบัติ”

เชียงรายเดินหน้า “จังหวัดจัดการตนเอง” ผนึกพลังทุกภาคส่วน เปิดศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชน เดินหน้าสู่ “ล้านนาแห่งความสุข”

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผนึกกำลัง ม.ราชภัฏเชียงราย พร้อมภาคประชาชน เปิดศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนฯ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์