กสทช. เตรียมถอดกฎ "มัสต์แฮฟ" เจ้าปัญหา หลังจบบอลโลก 2022

ความเคลื่อนไหวการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ที่จะฟาดแข้งกันระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 18 ธันวาคม 2565 ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยเป็นชาติเดียวในย่านอาเซียนที่ยังไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์จากการสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า แม้ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกกท. เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องหาเพิ่มจากเอกชนอีก 1,000 ล้านบาทเพื่อทำการซื้อลิขสิทธิ์เวิลด์ คัพ ในครั้งนี้

ปัญหาในครั้งนี้เกิดจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. มีการตั้งกฎมัสต์แฮฟ ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นกฎที่ทำให้มหกรรมกีฬา 7 รายการ ต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูกันแบบฟรีๆ ได้แก่ ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก ทำให้ช่วงหลังมีปัญหาจากภาคเอกชนที่ไม่ยอมลงทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างๆ มาถ่ายทอดสด เพราะสุดท้ายก็ต้องปล่อยสัญญาณให้ประชาชนได้ดูกันฟรีๆ อยู่ดี ถือเป็นการลงทุนที่แทบจะไร้ค่า

ล่าสุด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เผยว่า “กสทช. จะมีการปรับปรุงกฎดังกล่าวแน่นอน (กฎมัสต์แฮฟ) ตอนที่คณะกรรมการชุดเก่าออกกฎนี้มา รูปแบบ แพลตฟอร์ม ยังไม่เยอะเท่าปัจจุบัน ตอนนั้นแค่ต้องการให้คนไทยได้รับชมกีฬาดีๆ จึงตั้งเป็น Must Have และอยากให้เข้าถึงทุกคนดูได้ทุกแพลตฟอร์ม จึงเป็น Must Carry แต่ตอนนี้มันทำให้ลำบากต่อการทำธุรกิจ ทางบอร์ด กสทช. ก็ตั้งใจจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ กสทช. ที่ต้องมาออกเงินทุกๆ 4 ปีแบบนี้ แต่เมื่อกฎที่สร้างไว้เป็นปัญหา ก็ปรับแก้ไข”

“ปกติ กสทช. กำกับดูแลผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และตลาด ซึ่งกีฬา 6 ชนิดเป็นสินค้าทั่วไป แต่ฟุตบอลโลกเป็นสินค้าเฉพาะ การมีภาครัฐเข้าไปแบบนี้มันทำให้ราคาตลาดปั่นป่วน เอกชนเองติดข้อกฎหมายก็ไม่สามารถลงทุนได้ ทำให้ไม่มีคนซื้อลิขสิทธิ์”

“เท่าที่คุยมาคือ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถใช้เงินได้ต่อเมื่อมีนักกีฬาไทยไปแข่งขัน ดังนั้น 6 ประเภทหลัก (ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์) มีนักกีฬาไทยไปแข่งแน่นอน”

“ส่วนฟุตบอลโลกตอนนี้ ยังไม่มีทีมชาติไทยไปแข่งขันก็ยกเลิกไปก่อน ในอนาคตถ้ามีก็ค่อยนำกลับเข้ามาได้ หรือจะออกเป็นข้อยกเว้นต่างๆ หรือยกเลิก Must Carry ไม่ต้องถ่ายทุกแพลตฟอร์มก็ได้ อยู่ที่การคุยกันตอนจะออกกฎใหม่ อย่างไรก็ตามต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อน ดังนั้นสามารถรับฟังข้อเสนอจากประชาชนได้ ค่อยนำมาปรับแก้ไขกันต่อไป” นายไตรรัตน์ กล่าวทิ้่งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วุฒิสภา' ชงสอบแต่งตั้ง 'เลขาฯ กสทช.' ล่าช้าเกือบ 4 ปี ชี้ผลประโยชน์ชาติเสียหาย

“กมธ. ไอซีที วุฒิสภา” ชงสำนักนายกฯ -ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการ หลังพบความผิดปกติ กระบวนการตั้งเลขา กสทช. เกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว จนรักษาการจะครบวาระ ยันไม่ได้ก้าวก่าย แต่ส่งกระทบผลประโยชน์ชาติเสียหาย

ศาลอาญาฯ ประทับฟ้อง 'พิรงรอง รามสูต' กสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดยื่นฟ้อง ศาสตร